เม็ดเงินสื่อโฆษณาในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังเรียกว่ามีทิศทางการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งที่ตลอดทั้งเดือนมีวันหยุดยาวหลายเทศกาล เห็นได้ชัดจากการใช้งบเพิ่มของ กลุ่มธนาคาร น้ำอัดลมและมือถือ ส่วนช่องทางที่ใช้ในการโฆษณานั้น ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ภาพรวมการใช้งบของแบรนด์
สำหรับเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางนีลเส็น ยังคงสรุปข้อมูลสื่อโฆษณาอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมของ 10 แบรนด์ที่ใช้งบสื่อโฆษณาของปี 2019 เทียบกับ 2018 ในช่วงเดียวกัน พบว่า Sanook Shopping ยังคงมาแรง ใช้งบกว่า 140,961,000 บาท ในขณะที่ TV Direct ใช้ลดลงจาก 191,368,000 เมื่อปี 2018 เหลือเพียง 139,604,000 บาทในปี 2019 ส่วนทาง O Shopping ก็ยังคงไต่มาเรื่อยๆ จาก 3,457,000 บาท เมื่อปี 2018 เพิ่มมาเป็น 89,945,000 บาทในปี 2019
ทางด้านของสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค น้ำอัดลมชื่อดังอย่าง Coke และ Pepsi ตีคู่กันมา โดยเมื่อปี 2018 โค้กใช้งบไป 75,601,000 บาท มาปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 100,340,000 บาท ในขณะที่ Pepsi ปีที่แล้วใช้ไป 42,144,000 บาท ส่วนปีนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 99,053,000 บาท
และที่โดดเด่นขึ้นมาอย่างน่าสนใจคือ ธนาคารออมสิน ที่ใช้งบโฆษณาในปีที่แล้ว 94,556,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 104,669,000 บาท คาดว่าจะมาจากการทำสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์หลายช่องทาง
ภาพรวมการใช้สื่อ
แม้ว่าจะเพิ่งผ่านพ้นข้อสรุปการคืนช่องของทีวีดิจิทัลไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ภาพรวมการใช้สื่อโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆ กลับมีทิศทางที่ดีขึ้น เชื่อว่าพ้นจุดอิ่มตัวไปแล้ว โดยช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีการใช้งบบนสื่อโฆษณาทางทีวีอยู่ที่ 5,550 ล้านบาท แต่ปี 2019 นี้ เพิ่มขึ้นมาเป็น 5,726 ล้านบาท
เช่นเดียวกับสื่อกลางแจ้งและสื่อเคลื่อนที่ ที่มีการลงโฆษณาเพิ่มขึ้น โดยสื่อกลางแจ้งมีการลงโฆษณาเพิ่มขึ้นจาก 561 ล้านบาทในปี 2018 มาเป็น 573 ล้านบาทในปี 2019 ส่วนสื่อเคลื่อนที่ จากปี 2018 มีเม็ดเงินอยู่ที่ 488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 501 ล้านบาทในปี 2019
ในขณะที่ช่องทางอื่นๆ การใช้งบต่างก็ลดลงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์หรืออินเทอร์เน็ต สิ่งที่น่าสนใจคืองบการกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ ลดลงไปจาก 449 ล้านบาทในปี 2018 เหลือเพียง 348 ล้านบาทในปี 2019 และแมกกาซีนจาก 113 ล้านบาทในปี 2018 เหลือเพียง 82 ล้านบาทในปี 2019 แน่นอนว่าปัจจัยที่ลดเป็นเพราะจำนวนสื่อสิ่งพิมพ์ในท้องตลาดลดจำนวนลงไปอย่างต่อเนื่อง
ทิ้งท้ายด้วยสื่อออนไลน์ที่มีการใช้จ่ายลดลง จาก 126 ล้านบาท เหลือเพียง 99 ล้านบาท อาจะเป็นเพราะการปรับปรุงระบบและอัลกอริธึ่มของแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้แบรนด์ต่างก็ชะลอตัวที่จะลงโฆษณา เพื่อลดปัญหาในการเช็ค Reach ที่กระทบกับการทำตลาดออนไลน์ก็เป็นได้
หมายเหตุสำคัญ
สื่อกลางแจ้ง (outdoor) และสื่อเคลื่อนที่(transit):มีการรวมข้อมูลจาก JCDecaux สำหรับข้อมูลจากสื่อในสนามบินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 และข้อมูลของสื่อ outdorr และ transit จาก JCDecaux ได้ถูกรวมเข้าไว้ในรายงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560
นีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่นสื่อเคลื่อนที่(transit),ป้ายบิลบอร์ด, ป้ายโฆษณาบนทางเท้า, สื่อในสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมปี2559 เป็นต้นมา
อินเตอร์เน็ท – ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2559 นีลเส็นได้มีการขยายการเก็บข้อมูลโมษณาผ่านสื่อ อินเตอร์เน็ทโดยครอบคลุม 50 เว็บไซต์ยอดนิยม และ 10 เว็บไซต์ยอดนิยมบนมือถือ
สำหรับภาพรวมการใช้งบโฆษณาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ททั้งหมดกรุณาอ้างอิงข้อมูลจากDAAT
สื่อในห้าง – นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูล สื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559
ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ข้อมูลของสื่อในห้างTesco Lotus และ Big C ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น
ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง, สื่อเคลื่อนที่, และสื่อในห้าง