Site icon Thumbsup

นีลเส็น เผยข้อมูล Digital Consumer: เข้าใจผู้บริโภคยุคดิจิทัล

นีลเส็น ประเทศไทย เผยข้อมูล 3 เทรนด์หลักของผู้บริโภคยุคดิจิทัลในประเทศไทย พบว่าการช้อปปิ้งเปลี่ยนไปที่ออนไลน์เป็นหลัก หากมีส่วนลดโดนใจทั้งบนแพลตฟอร์มหรือแบรนด์ การที่แบรนด์และนักการตลาด จุดกระแสโฆษณาให้ตรงจุดย่อมส่งผลลัพธ์ที่ดีแน่นอน รวมทั้งต้องเร่งเพิ่มความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ลูกค้าออนไลน์รู้สึกวางใจ

ช้อปปิ้งออนไลน์โตอย่างก้าวกระโดด

เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคอย่างมากตลอดช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคหันไปใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากการสำรวจของ Nielsen CMV พบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยปัจจุบันช้อปออนไลน์ และมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 190%

โปรโมชั่นที่ถูกใจขาช้อปออนไลน์มากที่สุด คือคูปองส่วนลด ตามมาด้วยส่วนลดค่าจัดส่ง และโปรโมชั่นประจำเดือน อย่าง 7.7, 8.8 โดยเมื่อถามถึงช่องทางที่เลือกช้อปออนไลน์ คนไทยกว่า 60% เลือกช้อปผ่าน E-marketplace รองลงมาคือ Social media และแอพของห้างและร้านค้า

โฆษณาถูกจุด ผลลัพธ์เกินคาด

โฆษณาผ่านดิจิทัลสามารถทำให้ชาวเน็ตซื้อของได้จริงหรือ? โดย 38% ของคนไทยซื้อสินค้าทันทีหลังจากเห็นโฆษณาในอินเทอร์เน็ต ในขณะเดียวกันการโฆษณาผ่าน Influencer หรือเน็ตไอดอลก็มีการเติบโตขึ้น โดยคนไทย 14% จะซื้อสินค้าตามที่เน็ตไอดอลแนะนำหรือโฆษณา

เมื่อถามถึงช่องทางโฆษณาที่ไว้วางใจมากที่สุด พบว่า เว็บไซต์ของแบรนด์เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นมากที่สุด (33%) รองลงมาคือสื่อทีวี และการเป็นสปอนเซอร์ ในขณะที่ SMS หรือการโฆษณาผ่านข้อความมือถือ มีผู้บริโภคถึง 44% ที่ไม่เชื่อถือการโฆษณาจากช่องทางนี้ เนื่องจากผู้บริโภคกลัวข้อความสแปม หรือข้อความหลอกลวง จากรายงานของ Trust in Advertising พบข้อมูลเพิ่มเติมว่าธีมของการโฆษณามีผลต่อผู้บริโภค โดยธีมที่ถูกใจคนไทยมากที่สุดคือ อิงชีวิตจริง (Real-life situations) โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลที่ถูกใจโฆษณาประเภทนี้เป็นพิเศษ ในขณะที่ธีมที่ขายความเซ็กซี่หรือล่อแหลมจะได้รับความนิยมน้อยในทุกกลุ่มวัย

ความเป็นส่วนตัวมาเป็นอันดับแรก

คนไทยให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ โดยนีลเส็นพบว่ามีเพียง 19% ที่เต็มใจให้ทุกแอพ/เว็บไซต์ติดตามพฤติกรรมของตนเอง 57% อนุญาตให้บางแอพติดตามได้บ้าง และ 20% ที่ไม่อนุญาตให้แอพหรือเว็บไซต์ติดตามหรือแทร็กพฤติกรรมเลย

จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งยินดีที่จะให้ข้อมูลแก่แบรนด์ ซึ่งหมายถึง Personalized Marketing ยังเป็นสิ่งที่สำคัญในปัจจุบัน ผู้บริโภคยังต้องการความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ อยากให้แบรนด์เอาใจ นักการตลาดต้องสามารถตอบสนองต่อข้อเสนอใหม่ๆ ได้ ซึ่งความท้าทายของนักการตลาดในปัจจุบันคือการทำอย่างไรที่จะเข้าใจและรู้ใจผู้บริโภค ภายใต้เงื่อนไขที่ความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคต้องมาอันดับแรก