นีลเส็น ประเทศไทย เปิดข้อมูลเกี่ยวกับยุคของความต้องการผู้บริโภค และ 4 แนวโน้มหลักที่สามารถขับเคลื่อนอนาคตสื่อในประเทศไทย โดยพบว่า เรื่องของเวลา เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเป็นอันดับแรก ดังนั้น แพลตฟอร์มความบันเทิงจึงจำเป็นต้องวางแผนเนื้อหาให้โดนใจผู้ชมมากกว่าเดิม
เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคอย่างมากตลอดช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ด้วยความต้องการของผู้บริโภค และไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของเวลามากขึ้นในแง่ของการใช้และจัดการ
จากการสำรวจของ Nielsen CMV พบว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการที่จะจัดการเวลาในการรับชมให้ดีขึ้น โดยการรับชมช่องรายการย้อนหลัง (Time-shift TV) มีการเพิ่มขึ้นถึง 69% และการรับชมแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สื่อ OTT ในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า ด้วยบริบทที่ผู้บริโภคคือหัวใจหลัก ผู้ให้บริการสื่อได้เพิ่มตัวเลือกและรายการที่หลากหลายมากขึ้นให้แก่ผู้ชม จากทีวีแบบดั้งเดิมพัฒนาสู่ OTT ที่มีรับชมผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือจากเดิมที่เนื้อหาต่างๆมาจากสื่อหลัก สู่ยุคที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อและสร้างคอนเท้นต์ด้วยตัวเองได้
เมื่อช่องทาง แพลตฟอร์ม และตัวเลือกเนื้อหาเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะเลือกสิ่งที่สนใจและสะดวกสำหรับตัวเอง ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการรับชมทีวีแบบดั้งเดิม ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนไทยต้องการเสพสื่อมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่สื่อเองจะปรับตัว เพิ่มความหลากหลายและทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มได้นานขึ้น
การปรับตัวของแพลตฟอร์ม
ด้วยทางเลือกที่มากขึ้นและพฤติกรรมการบริโภคที่ยังไม่หยุดนิ่ง ทีวีและอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นสื่อหลักที่ผู้บริโภคใช้มากที่สุดมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังที่ใหญ่ขึ้นและเพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของผู้บริโภค
โดยเฉพาะทีวีถึงแม้จะมีจำนวนการเข้าชมรายวัน (Reach) น้อยลงจากปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเข้าถึงทีวีในประเทศไทยยังมีถึง 99% ของจำนวนครัวเรือนในไทย และจำนวนชั่วโมงที่คนส่วนใหญ่ใช้ไปกับทีวียังอยู่ในค่าเฉลี่ยเทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา (คนไทยใช้เวลากับทีวี 4 ชั่วโมงต่อวัน)
สื่อและแพลตฟอร์มกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงในยุคที่ผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้น และเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ต่างๆ จากทีวีแบบดั้งเดิมพัฒนาสู่สมาร์ททีวี ที่สามารถทำทุกอย่างได้ในเครื่องเดียว หรือจากแอพพลิเคชั่นธรรมดาพัฒนาเป็นซุปเปอร์แอพพลิเคชั่น (Super Apps) ที่ครอบคลุมบริการมากขึ้น และจากสื่อปรับตัวไปเป็นแพลตฟอร์มทางการค้า เพิ่มช่องทางการขายให้กับสินค้าและแบรนด์ต่างๆ
ความเชื่อมั่นในการใช้สื่อโฆษณากลับมาดีขึ้น โดยในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 มีการใช้เงินในโฆษณาดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 12% และจากทีวีเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ภาคส่วนต่างๆ มีการใช้งบประมาณกับสื่อโฆษณามากขึ้น โดยกลุ่มที่มีการใช้งบประมาณกับสื่อมากที่สุดคือกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า มีการใช้เพิ่มมากขึ้นถึง 33% และกลุ่มร้านค้าปลีก/ร้านอาหาร เพิ่มขึ้น 25%
คุณรัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย กล่าว “เราเชื่อว่าไม่เคยมีช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นในอุตสาหกรรมสื่อมากเท่านี้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย โดยรวมแล้ววงการสื่อไทยมีระบบที่แข็งแรงและมีความหลากหลาย ซึ่งดีต่อนักการตลาดในอนาคตที่สามารถสร้างแผนการโฆษณาที่หลากมิติเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ”