ช่วงปลายปี เป็นธรรมเนียมของเว็บต่างๆ ที่จะนำเสนอแนวความคิดประเภท Digital Marketing Trends 2019 ออกมามากมาย ผมเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าพออ่านบทความประเภท Digital Marketing Trends จากเว็บต่างๆ ตอนนี้แล้วเริ่มรู้สึกว่า “เออ เจ๋งดี เห็นด้วย!” กับ “อ่า… มันอาจจะใช่อย่างนั้นก็ได้ครับ” แปลง่ายๆ ว่าเชื่อบ้างหรือยังไม่เชื่อบ้างนั่นเอง เป็นเพราะว่า
คำว่า “เทรนด์” มันก็คือ “แนวโน้ม” หรือ “สมัยนิยม”
–>
“แนวโน้ม” หรือ “สมัยนิยม” มักจะเป็น “ความคิดเห็นจาก คน / สำนักความคิด ที่เชื่อว่าสิ่งนั้นๆ เป็นสิ่งใหม่ หรือกำลังเป็นที่พูดถึง และอาจจะมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมที่เรากำลังทำงานอยู่”
–>
เราฟัง “ความคิดเห็น” จึงหมายถึง มันอาจจะเวิร์ค หรืออาจจะไม่เวิร์ค ในปีถัดไปทันทีก็ได้
เช่น
เทคโนโลยี AR / VR
เทรนด์ที่บอกว่าเทคโนโลยี AR / VR น่าสนใจ แต่จริงๆ เราทุกคนก็รู้ว่าเทคโนโลยีมันมีมาหลายสิบปีแล้ว แต่มันก็ค่อยๆ มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ
จากเมื่อสัก 10 ปีก่อนมีแต่พวก AR Browser อย่าง Layar (ใครนึกภาพไม่ออกนึกถึงแว่นเบจีต้าในการ์ตูน Dragon Ball นะครับ)
เมื่อ 3 ปีก่อนมี Pokemon Go พอมาถึง พ.ศ. นี้ AR / VR กลายเป็นความบันเทิงที่ทุกคนเข้าถึงได้ เมืองไทยเริ่มมีสวนสนุก VR เปิดกันหลายที่ แต่ในแง่มุมของ Marketing Communication มันก็ยังคงเป็นแค่สีสันการตลาด
สิ่งที่อยากจะชวนคิดกันก็คือ ในเมื่อเราพอจะเห็นแล้วว่าเทคโนโลยี มันมีผลกับการตลาด แต่เทคโนโลยีก็ต้องการเวลาที่จะเข้าถึงคนให้ได้มากขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นในแง่ว่าเทคโนโลยีมันต้องดีขึ้น / เร็วขึ้น / ถูกลง)
จึงเป็นไปได้ที่เราควรให้เวลากับเทคโนโลยีรอบตัว เราควรจะเอาเวลาส่วนหนึ่งของเราไปทดลองสร้างสิ่งใหม่บนเทคโนโลยีเหล่านี้ดูบ้าง เปิดใจให้กับการทดลอง และพร้อมที่จะ “พลาด” จากมันได้บ้าง แล้ววันหนึ่งมันก็จะ “สำเร็จ” ได้
นั่นแหละ เพราะ “เทรนด์” มันไม่ใช่ “สูตรสำเร็จ” แต่มันเป็นเพียงความคิดเห็นที่น่าสนใจ มันอยู่ที่เราจะเอาไปปฎิบัติหรือเปล่า
อย่าอ่านแต่เทรนด์ แต่เรานั่นแหละคือคนสร้างเทรนด์ จะเกิดไม่เกิด ขึ้นอยู่ที่เราจะทดลองทำสิ่งใหม่หรือเปล่าเท่านั้นเอง
Q: แล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง นี่จะมีแค่แรงบันดาลใจแล้วหายไปเฉยๆ ใช่ไหม?
A: ไม่ใช่ ที่บอกว่าทุกคนสามารถสร้างเทรนด์ได้ ผมพูดจริง แต่มีแนวทางปฎิบัติเบื้องต้นดังต่อไปนี้
- ในแง่องค์กร: ให้ตั้งงบประมาณ และตัวชี้วัดความสำเร็จ กำหนดตัวคนทำ ออกมาเลย โดยตั้งเป็น “งบทดลองทำสิ่งใหม่” โดยยังไม่ต้องไปผูกกับผลลัพธ์ทางธุรกิจ เช่น ต้องขายของได้ทันที ต้องมีคนเข้ามาล้านคนทันที ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามเยอะ แต่ต้องแน่ใจว่าทีมงานของคุณรู้ว่านี่คือการทดลองเพราะมันอาจจะนำไปสู่เป้าหมายใด เมื่อเขาเห็นด้วย เขาก็จะพร้อมจะทำสิ่งใหม่ไปกับคุณ
- ในแง่บุคคลธรรมดา: ถ้าคุณแค่เปิดเพจ เปิดบล็อก เป็น Freelancer คุณแค่ทำคนเดียว หรือทำกับเพื่อน คุณจะไม่ต้องตอบคำถามเยอะจากคนรอบตัว แต่แค่ต้องจัดเวลาทดลองทำให้ได้ ไม่งั้นคุณจะโดนงานรูทีนกินเวลาในการสร้างสิ่งใหม่
- ถ้ามีแนวคิดอะไรเพิ่มเติมก็โพสต์มาด้านล่างนี้หรือใส่ใน Facebook Comment หรือตอบเราบน Twitter ก็ได้ครับ