ปัจจุบันมีธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่เกิดขึ้นมากมาย และธุรกิจประเภทที่ได้รับความนิยมมาก ๆ ก็หนีไม่พ้นอาหาร หรือเครื่องสำอางที่มีมากขึ้นในทุก ๆ วัน วันนี้ทีมงาน thumbsup จึงนำข้อมูลจากคู่มือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ คู่มือการโฆษณาเครื่องสำอาง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณะสุข มาให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับทราบกันครับ
ข้อกำหนดการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- ต้องแสดงสรรพคุณของอาหารนั้น ๆ ทั้งตำรับ ไม่อนุญาติให้แสดงสรรพคุณของแต่ละส่วนประกอบ
- ไม่ให้สรรพคุณที่ไม่เป็นความจริง หรือโอ้อวดสรรพคุณที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น ช่วยรักษาโรค บำรุงสมอง บำรุงผิว เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
- หากจะกล่าวอ้างสรรพคุณต้องมีการส่งงานวิจัยที่เชื่อถือได้ให้ตรวจสอบด้วย
- ข้อความโฆษณาต้องไม่มีการเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ของผู้อื่น
- ห้ามนำบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณะสุข (ทั้งในกรณีที่ใช้เจ้าตัวจริง ๆ หรือ กรณีที่นำบุคคลอื่นมาแอบอ้าง) มาแนะนำหรือรับรองผลิตภัณฑ์
- ระบุข้อความหรือคำเตือน ตามชนิดของผลิตภัณฑ์ ตามที่ อย. กำหนด เช่น “อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค” / “ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด” / “เด็กอายุต่ำกว่า x ปี ไม่ควรบริโภค”
- โฆษณาห้ามขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย
ตัวอย่างคำต้องห้ามในการใช้โฆษณาผลิตภัณฑ์
- หายขาด
- ปลอดภัยที่สุด
- โอกาสดี ๆ อย่างนี้มีไม่บ่อยนัก
- ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้
- วิเศษ
- เด็ดขาด
- ฉับพลัน
- ไม่ต้องทนรำคาญ
- ดีเลิศ
- พิชิตโรคร้าย
- ทันใจ
- ไม่มีผลข้างเคียง
- ศักดิ์สิทธิ์
- หมดกังวล
- เป็นหนึ่งมาตลอด
ข้อกำหนดการโฆษณาเครื่องสำอาง ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- ชื่อส่วนประกอบที่เป็นส่วนผสมต้องเป็นสารที่มีอยู่จริง และสามารถตรวจสอบได้
- ต้องใช้ข้อความที่สื่อความหมายในขอบเขตของการใช้งานเพื่อความสะอาด หรือความสวยความงาม โดยไม่มีผลด้านสุขภาพที่เป็นสรรพคุณทางยา
- ห้ามโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- ห้ามเปรียบเทียบการใช้เครื่องสำอางกับการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น ยิ่งกว่าเลเซอร์ ราวกับฉีดโบทอกซ์ ดีกว่าศัลยกรรม
ตัวอย่างคำต้องห้ามในการใช้โฆษณาเครื่องสำอาง
- ไร้สารเคมี
- ไม่มีสารเจือปน
- ไร้สารพิษ
- ทำจากธรรมชาติ 100%
- ดูดซับของเสียตกค้างใต้ผิว
- เสริมหน้าอก
- สลายไขมัน
- ยกกระชับปรับรูปหน้าเรียว
- ต่อต้านอนุมูลอิสระ
- ลดการสร้างเม็ดสีผิว
- ลดผมหงอก
- เพิ่มสมรรถภาพท่านชาย
- รีแพร์ช่องคลอด
- แก้ปัญหาไม่แข็งตัว
อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามเหล่านี้ยังเป็นเพียง ‘สรุป’ ที่เรานำมาย่อยให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับทราบกันคร่าว ๆ หากผู้อ่านท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถเข้าไปดูตามลิงก์ด้านล่างได้เลยครับ