Site icon Thumbsup

แพลตฟอร์ม OTV จับมือ GMM เปิดตัว OMU แอปพลิเคชันสตรีมมิ่งสัญชาติไทยสู้ศึกต่างชาติ

ทีมผู้บริหาร OTV และ GMM Grammy ถ่ายภาพร่วมกันในการเปิดตัวแอปพลิเคชัน OMU

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ของคนไทยนั้นเปลี่ยนไปไม่น้อย โดยส่วนหนึ่งหันมาบริโภคคอนเทนต์ผ่านการสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้น ขณะที่การรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านทีวีนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากเทรนด์นี้ ปัญหาหนึ่งที่เกิดตามมาก็คือ การรั่วไหลของเงินค่าโฆษณาไปยังแพลตฟอร์มต่างประเทศเป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี จึงมีความพยายามของผู้ให้บริการวิดีโอคอนเทนต์สัญชาติไทยอย่าง OTV ลุกขึ้นมาเปิดตัวแอปพลิเคชัน OMU เพื่อรุกตลาดสตรีมมิ่งอย่างเป็นทางการ พร้อมย้ำว่าแพลตฟอร์มของ OTV นั้นมีการจ่ายภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย รวมถึงมีคอนเทนต์ที่ปลอดภัยตามกฎหมายไทยให้บริการด้วยนั่นเอง

สำหรับการเปิดตัวแอปพลิเคชัน OMU ครั้งนี้ของ OTV เป็นการจับมือร่วมกับ GMM Grammy และค่ายเพลงอื่น ๆ อีกกว่า 20 แห่ง ในการให้บริการคอนเทนต์มิวสิควิดีโอแบบสตรีมมิ่ง โดยทางแกรมมี่จะส่ง MV มาเผยแพร่บนแพลตฟอร์มดังกล่าวจำนวน 5,000 ชิ้น (และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต) ซึ่งคิดเป็น 80% ของคอนเทนต์ MV บนระบบ ด้านผู้ใช้งานสามารถเข้ามาเลือกชมมิวสิควิดีโอต่าง ๆ บนแอปพลิเคชัน OMU ได้ฟรี โดยอาจจะมีโฆษณาคั่นบ้างตามสมควรนั่นเอง

พฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของผู้บริโภคในเจเนอเรชั่นต่าง ๆ

โดยก่อนที่จะไปรู้จักกับแอปพลิเคชัน OMU สิ่งแรกที่อาจต้องทำความรู้จักกันก่อนคือแพลตฟอร์ม OTV ซึ่งคุณณัฐพงศ์ ตังเดชะหิรัญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โอทีวี จำกัด เผยว่า จุดเด่นของแพลตฟอร์ม OTV คือการเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับสิทธิ์ในการเผยแพร่คอนเทนต์จากค่ายผู้ผลิตรายต่าง ๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะปลอดภัย และได้รับความเชื่อมั่นด้าน Brand Safety มากกว่าแพลตฟอร์มของต่างชาติที่รองรับคอนเทนต์ประเภท User-Generated Content ด้วย

นอกจากนั้นแพลตฟอร์มของ OTV ยังมาพร้อมระบบ Target Ads Audience ที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายได้จากข้อมูล Demographic และ Location ซึ่งในกรุงเทพฯ นั้นสามารถเจาะลึกได้ถึงระดับเขตเลยทีเดียว รวมถึงการมี Real-Time Analytic Report ให้ด้วย โดยที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม OTV มีการให้บริการระบบหลังบ้านให้กับเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ มากมาย เช่น  DooTV Max, ThaiTV, TV Thailand

สถิติการรับชมคอนเทนต์ออนไลน์

ในจุดนี้ คุณณัฐพงศ์เผยว่า คอนเทนต์บนแพลตฟอร์มของ OTV นั้นปัจจุบันมีมากกว่า 100,000 ชิ้น คิดเป็นจำนวนชั่วโมงให้ได้รับชมมากกว่า 100,000 ชั่วโมง

โดยรายได้หลักของแพลตฟอร์ม OTV นั้นมาจากค่าโฆษณา ที่แบ่งเป็นค่าโฆษณาจากเอเจนซี 70%  และอีก 30% มาจากแบรนด์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ทาง OTV ยังมีการรุกตลาดหาพันธมิตรในไทยและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มค่ายหนัง ค่ายเพลง และเจ้าของลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของคอนเทนต์ รวมถึงมีแผนจะเปิดตัวแพลตฟอร์ม OTV ในกัมพูชา (ปีนี้) และเมียนมาร์ (ปีหน้า) ด้วย

OMU แอปพลิเคชันชมฟรีแถมสิทธิประโยชน์

จากแพลตฟอร์ม OTV ได้มีการพัฒนาต่อยอดเป็นแอปพลิเคชัน OMU ซึ่งจะให้บริการคอนเทนต์สตรีมมิ่งด้านมิวสิควิดีโอเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของผู้บริโภคกลุ่ม End-User นอกจากจะสามารถรับชมมิวสิควิดีโอของ GMM Grammy และค่ายเพลงอื่น ๆ ได้ฟรีแล้ว ยังสามารถสร้างเพลย์ลิสต์ได้ และได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในรูปของการสะสมแต้มเพื่อลุ้นรับของรางวัลต่าง ๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ยิ่งดูมาก ยิ่งได้มาก” อีกด้วย โดยถือเป็นการทำ CRM เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้งาน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคมิลเลนเนียลด้วยนั่นเอง

ด้านคุณภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ GMM Music บริษัท GMM Grammy จำกัด (มหาชน) เผยว่า การจับมือเป็นพันธมิตรกับ OTV ในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของแกรมมี่ในการมองหาช่องทางใหม่ ๆ โดยเฉพาะช่องทางดิจิทัลเพื่อขยายฐานลูกค้าในการรับชมให้ทั่วถึง ซึ่งแพลตฟอร์ม OTV ก็เป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ที่ตรงกับเป้าหมายทางธุรกิจที่ได้วางไว้ เพราะมีพันธมิตรที่เป็น Publishers กว่า 200 ราย ทำให้แกรมมี่มีโอกาสเพิ่มยอดผู้ชมได้มากขึ้นประมาณ 17 ล้านคนต่อเดือน