Site icon Thumbsup

ทำความรู้จักและรับมือกับ Panic Disorder โรคทางใจที่รบกวนการใช้ชีวิต และสุขภาพจิตที่ดี

ไม่ว่าจะในยุคไหนๆ เราก็มั่นใจว่า“การมีสุขภาพกายและใจที่ดี คือลาภอันประเสริฐ” เพราะการป่วยย่อมนำความไม่ปกติมาสู่ชีวิต และบางโรคก็กระทบกับชีวิตของการทำงานด้วย อย่างอาการ ‘Panic Disoder’ อีกหนึ่งโรคทางใจที่เหมือนตกนรกทั้งเป็น แต่ก็คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ตัวเองก็ไม่เข้าใจว่ามาจากสาเหตุอะไร

เราจึงได้ลองไปคุยกับชายหนุ่มที่สร้างเพจ ‘แพนิคที่รัก‘ ขึ้นมา เพื่อนำเรื่องราวของโรคทางใจนี้มานำเสนอ โดยหวังว่าจะช่วยเหลือผู้คนที่ต้องเผชิญกับสภาวะไม่ปกติ คล้ายกับการจับมือผู้ป่วยหลายๆ คน ว่าพวกเขาไม่ใช่คนเดียวที่ตกอยู่ในความรู้สึกแบบนี้  และจะหาทางออกจากเขาวงกตนี้ได้อย่างไรกัน 🙂

ชายหนุ่มเจ้าของเพจที่มีอาการ Panic Disorder ได้บอกกับเราว่าจำวันที่มีอาการครั้งแรกขึ้นมาได้เป็นอย่างดี โดยในวันนั้นเขาอยู่คนเดียวในคอนโด จนต้องเรียกห้องข้างๆ ให้พาไปส่งโรงพยาบาล

อาการ Panic Disorder ครั้งแรกของคุณเป็นอย่างไร

แพนิคที่รัก : คืนนั้นผมรู้สึกรู้สึกใจหายวูบเหมือนตกจากที่สูง และกลัวมากๆ เหมือนหัวใจจะหยุดเต้น ในจังหวะนั้นเราคิดว่าตัวเองต้องตายแน่ๆ เรียกได้ว่ามันไม่โอเคแล้ว

จนพอไปถึงโรงพยาบาลแรกเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งคุณหมอแค่ตรวจคลื่นหัวใจ และบอกเราว่าไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ผมก็ไปต่ออีกโรงพยาบาลหนึ่งที่ดูดีกว่า ซึ่งในระหว่างขึ้นรถไปโรงพยาบาลนั้นก็มีอาการอีกครั้ง จนพอไปถึงโรงพยาบาลที่สองคุณหมอก็ตรวจคลื่นหัวใจเหมือนเดิม เพิ่มเจาะเลือด เพิ่มเอกซเรย์ แล้วให้เรานอนรอผล

ในระหว่างรอผลเรารู้สึกดีขึ้นแต่ก็ยังอยากแอดมิตอยู่ พอตอนเช้าผมก็รู้สึกแล้วว่าไม่เป็นอะไรแล้ว ตอนหลังคุณหมอเค้าก็ให้เจลทาคลายกล้ามเนื้อมา แต่ผมรู้สึกว่ามันน่าจะไม่ใช่แค่อาการทางกาย ทำให้ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และหลังจากนั้นก็เริ่มนัดคุณหมอเฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุต่อ

อาการมันเกิดขึ้นเร็วมาก

ลองเล่าให้คนที่ไม่เคยรู้จักโรคนี้มาก่อนเห็นภาพหน่อย

แพนิคที่รัก : สำหรับอาการของโรค Panic Disoder นั้นบางคนมีอาการต่างกันไป เช่น บางคนรู้สึกว่ากำลังจมน้ำ สำหรับผมถ้าลองเทียบอาการจะเหมือนในภาพยนต์เรื่อง The Matrix ในฉากที่เป็นห้องสีขาวๆ (นาทีที่ 0.11-0.15) ที่ทุกอย่างรอบตัวมันดูแปลกประหลาดไปหมดในทันที จนทำให้เรารู้สึกกลัวมากๆ

มีครั้งหนึ่งที่ผมเคยเป็น เหมือนเรานั่งอยู่แล้วหลุดไปจากตรงนี้ หรือสมมติว่าเราขับรถอยู่แล้วรู้สึกว่ารถข้างๆ เบียดเข้ามาหาเรา ซึ่งมันดูเหมือนจริงมากจนเราตกใจ ซึ่งในตอนแรกเราเป็นแค่เพียงรู้สึกเหมือนรถเคลื่อนนิดๆ แค่นั้นเอง ซึ่งอาการมันเกิดขึ้นเร็วมาก ถ้าต้องขับรถไกลๆ ผมก็เลี่ยง เพราะเราไม่รู้ว่าอาการจะเกิดขึ้นตอนไหน

อารมณ์ที่อ่อนไหวก็อาจทำให้ใจของเรา Panic Disorder

แพนิคที่รัก : มองว่าจุดหลักๆ เลยคือเรื่อง ‘ความเครียดสะสม’ อย่างของผมวันนั้นมีงานลูกค้ามา แล้วโรงพิมพ์ส่งสีเข้ามาดูแล้วมันไม่ได้สีอย่างเราต้องการ ซึ่งจริงๆ ขั้นตอนต้องตรวจงานก่อนพิมพ์ แต่วันนั้นลูกค้าเร่ง เราจะไม่มีเวลาตรวจ เราก็เลยเครียดว่ามันออกมาไม่ได้อย่างใจ ซึ่งพวกนี้คือความที่แบบต้องการอยากให้มันดี มาจากความกดดันของตัวเอง

และตอนที่หนักสุด คือ ผมไลน์ไปบอกแฟนตอนตีห้า แล้วถ่ายรูปที่โรงพยาบาลส่งให้เขาว่าเราเข้าห้องฉุกเฉิน แต่ตอนนี้หมอบอกว่าไม่เป็นอะไร แล้ววันรุ่งขึ้นเขาก็ตอบมาแค่ว่า “หายเร็วๆ นะ” จนหายไปหกเดือนก็ไม่มีการติดต่อกันอีกเลย แต่สุดท้ายก็มาเห็นเขาเปลี่ยนรูปในไลน์เป็นรูปแต่งงาน ผมมองว่าการไม่โอเคกับความรักมันเป็นสิ่งกระตุ้น และรวมกับเรื่องงานและสาเหตุหลายอย่าง

หรือจากหลายๆ กรณีที่พบว่าคนที่มีอารมณ์อ่อนไหว ก็มีโอกาสเป็นเยอะ หรือบางทีก็เกิดจากการเลี้ยงดู เพราะถ้าเราโตมาแบบไม่มีภูมิคุ้มกันเลย เมื่อมาอยู่ในสังคมจริงเจอความผิดหวังจนทำให้ผิดปกติก็มีเหมือนกัน

ห้ามใช้ ‘สารเสพติด’ เพราะจะทำให้อาการแย่ลง

แพนิคที่รัก : ผมรักษามาปีกว่าครับด้วยคุณหมอเฉพาะทาง จนอาการเริ่มค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนแนะนำ ‘น้ำมันกัญชา’  เป็นแบบสูบคล้ายๆ บุหรี่ไฟฟ้า

แต่คืนนั้นพอสูบไปประมาณเที่ยงคืน ผมเริ่มรู้สึกกังวลมาก เพราะเราเคยค้นหาข้อมูลดู พบว่ายี่ห้อนี้มีของปลอมด้วยการเอายาฆ่าแมลงมาทำ ทำให้เรากังวลสุดๆ  จึงทำให้เรากลัวว่าเราจะเป็นอะไรมาก ซึ่งตอนนี้อาการหนักกว่าการที่เป็นครั้งแรก เพราะเหมือนทำให้อาการแย่ลงกว่าครั้งแรกหลายเท่า จนผมรู้สึกกลัวทั้งคืนจนถึงเช้า ซึ่งตอนนั้นต้องเรียกรถกู้ภัยฉุกเฉินมาเลย

ในเพจมีหลายคนที่ปรึกษาเรื่องนี้ อย่างบางคนก็ใช้จำพวกน้ำกระท่อม แต่ผมก็ได้บอกไปว่าสารเสพติดทุกชนิดไม่ควรใช้อย่างยิ่ง ซึ่งตอนผมกลับไปคุยกับคุณหมอท่านก็บอกว่าไม่ได้นะ เพราะทางแพทย์สภาบอกว่ากัญชาไม่ได้เหมาะกับแบบโรคนี้

สิ่งที่คุณหมอบอกให้ทำมีอะไรบ้าง

แพนิคที่รัก : สิ่งที่คุณหมอแนะนำคือการฝึกให้มีสติ ใช้วิธีหายใจ ฟังเพลงโมสาร์ท เป็นต้น และพอรักษาเขาจะให้เคสเรามาว่าเราเป็นมากขึ้นหรือน้อยลง ในช่วงสองสามสัปดาห์นี้ แต่ละสัปดาห์หรือเดือนก็จะไม่ให้เราทำประมาณ 20 ข้อ จากนั้นก็จะวิเคราะห์จากตรงนั้น แต่ความจริงแล้วคุณหมอแต่ละคนมีวิธีรักษาที่ไม่เหมือนกัน แล้วมันก็ต้องอยู่ที่จริตของเราด้วย 

ถ้าเรามองหมอแบบไหน ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นมารักษาอาจจะไม่ชอบคุณหมอวีรวุฒิก็ได้ เนื่องจากท่านไม่ค่อยพูดเยอะ คือพูดสามคำก็รู้เลยว่าเราเป็นแพนิค แล้วก็สั่งยาให้เรา แล้วก็ไม่ได้มานั่งฟังปัญหาชีวิตของเราว่าเราเจออะไรบ้าง  และของผมได้ครั้งล่าสุดคุณหมอให้ฝังเข็ม ก็ช่วยผ่อนคลายค่อนข้างดี

ซึมเศร้ามันอยู่ในใจ แต่สำหรับ Panic Disorder มันจะแสดงออกทางกายมากกว่า

โรคซึมเศร้า กับ Panic Disorder มีความสัมพันธ์กันไหม

แพนิคที่รัก : จริงๆ พวกนี้มันมาเป็นแพ็คเกจคู่ในความคิดของผม ซึ่งตอนแรกผมเป็น Panic Disoder ก่อน และตอนนี้เริ่มมีซึมเศร้าอ่อนๆ เข้ามา หลังจากทำแบบทดสอบของคุณหมอครั้งล่าสุด

โดยส่วนที่แตกต่างที่ผมเห็นได้ชัด คือซึมเศร้ามันอยู่ในใจ ที่ดึงเราให้อยู่กับอารมณ์อยากตาย แต่จริงๆ เราไม่ได้อยากตายหรอก แค่อยากหลุดพ้นจากความน่าเบื่อตรงนี้ แต่สำหรับ Panic Disorder มันจะแสดงออกทางกายมากกว่า

ซึ่ง Panic Disorder เปรียบเสมือนโถงกลาง ถ้าซึมเศร้าเป็นจุดที่ค้นพบทีมหมูป่าที่ลึกลงไปอีกในถ้ำหลวง ตอนนี้สมมติว่าเป็นแพนิคคุณเลือกได้ว่าคุณจะเดินเข้าไปลึกอีกหรือคุณจะถอยออกมาเพื่อกลับมาปากถ้ำให้ได้

ควรทำตัวอย่างไรเมื่อคนใกล้ตัวเป็น Panic Disorder

แพนิคที่รัก : จริงๆ คนที่เป็นโรคนี้ ไม่ได้ต้องการอะไรมาก หรือไม่ได้ต้องการคำแนะนำ เพราะคนเป็นโรคพวกนี้จะเป็นคนกังวลไปหมด ดังนั้นดีที่สุดคือ ‘การเข้าใจ’ เขา และหากเป็นเพื่อน ญาติพี่น้อง คนรัก ให้ใช้การกอดและสัมผัสทางกาย เพราะมันช่วยได้มากๆ หากเป็นการกระทำที่เกิดจากความรัก

สิ่งสำคัญคือให้ความรู้สึกว่าไม่ต้องห่วงนะ ยังมีเราที่คอยรับฟัง อีกจุดคือพวกเขากลัวการตัดสินว่าเป็นคนป่วย จนไม่กล่าเล่าให้ใครฟัง เพราะกลัวจะโดนด่าว่าคิดไปเอง หรือโรคนี้ไม่มีจริง

ซึ่งจริงๆ แล้วอาการนี้คนที่ไม่เป็นก็คงไม่เข้าใจ ซึ่งมันอธิบายไม่ได้หรอกว่าอยู่ดีๆ แล้วโลกทุกอย่างมันเปลี่ยนไป จนเหมือนกับว่าทุกอย่างมันผิดเพี้ยนไปหมด โดยมันเหมือนจริงมากเกินไปจนน่าตกใจ จนคล้ายๆ  กับว่าเราเห็นภาพหลอนแบบนั้น

สำรวจตัวเองง่ายเช็กลิสต์อาการต่อไปนี้

หากอ่านมาถึงจุดนี้แล้วคุณสงสัยว่าตัวเองจะเป็น Panic Disorder หรือไม่ เราก็มีเช็คลิสต์จาก กรมสุขภาพจิต มาให้สำรวจกัน

  1. มีความรู้สึกกลัว วิตกกังวล กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนกตกใจขึ้นมาทันทีทันใดโดยไม่มีสาเหตุ
  2. รู้สึกอ่อนแรง ตัวเบาหวิว วูบวาบจะเป็นลม เหงื่อออก ตัวสั่น รู้สึกเย็นหรือชาตามมือและเท้า
  3. วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน ปวดมวนท้อง รู้สึกอึดอัดจนขยับตัว แขน ขาได้ลำบาก
  4. มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หายใจไม่ทั่วท้อง ร่วมกับอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง รู้สึกวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือหัวใจวาย รู้สึกกลัวสุดขีดว่าตัวเองกำลังจะตาย
  5. มีระยะเวลาการเกิดอาการโดยประมาณตั้งแต่ 10-30 นาที และสามารถเกิดขึ้นซ้ำอีกเมื่อไรก็ได้
  6. เกิดความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลว่าจะมีอาการขึ้นอีก จึงพยายามหาสาเหตุจนทำให้กลัวและพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่คิดว่าเป็นสาเหตุ เช่น การขับรถ การขึ้นลิฟต์
  7. เกิดความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลมากขึ้น เมื่อไม่สามารถหาได้ว่าอาการเกิดจากอะไร ยิ่งรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง ตกอยู่ในภาวะหดหู่และซึมเศร้า

เมื่อมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นและสงสัยว่าอาจเป็น Panic Disoder สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือ การไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป

คลิกดูสถานที่ให้คำปรึกษาและรับการรักษา 

นอกจากนั้นเขาบอกเราว่าถ้าได้รับการรักษาทางจิตใจแล้วร่างกายดีขึ้น แต่หากกลับไปอยู่ในสภาพที่ทำให้เราติดลบอีกครั้ง ก็จะทำให้กลับมาเป็นโรคพวกนี้ใหม่ได้ เหมือนกับการเป็นหวัดหายก็สามารถเป็นใหม่ได้ และในทางกลับกันโรคนี้สามารถหายขาดได้ โดยขึ้นอยู่ที่ตัวเราว่าจะดูแลตัวเองได้ดีแค่ไหนนั่นเอง 🙂