Site icon Thumbsup

“ปาน ธนพร” กับ MV กระชากสติ “ตราบลมหายใจสุดท้าย”

ปาน ธนพร

เมื่อคืนขณะกำลังฟังเพลงใหม่ๆ บน JOOX เจอเพลงนี้โปรโมทเข้ามา นึกว่าเป็นเพลงใหม่ของ “ปาน ธนพร” แบบธรรมดา (พลางคิดเองไปว่า โอ้! Sanook! ดีลได้เพลง RS มาแล้วใช่ไหม? ในที่สุด!) ปรากฏว่าไม่ใช่ …

ผมเปิด YouTube เข้าไปดู มันเป็นเพลงที่ปานร้อง และโกนหัว (แบบหลอกๆ) เพื่อเล่น MV เอง เพื่อโครงการปทุมมามหาสิกขาลัย แห่งวัดปทุมวนาราม เนื้อหาที่ออกมาเลยเป็นเนื้อหาที่สอนให้คนเข้าใจถึงความไม่เที่ยงของการสังขาร สำหรับผม มันเป็น Content ที่โคตร ‘จริง’ กระตุกสติเราให้นึกถึงความเป็นจริงของชีวิตที่อย่างไรก็หนีมันไปไม่พ้น เลยอยากมาเขียนถึงมุมมองนักการตลาดและนักประชาสัมพันธ์ที่มีต่อ Content ชิ้นนี้ที่อาจจะนำไปคิดต่อยอดกับผลงาน Content Marketing ที่เราๆ ทำกันอยู่ครับ

ก่อนที่จะพูดคุยอะไร เชิญชมคลิปนี้ร่วมกันก่อนครับ

 

เพลงนี้ชื่อเพลงว่า “ตราบลมหายใจสุดท้าย” (Till The last Breath) เป็นเพลงธรรมะ หรือที่ทีมงานระบุว่ามันคือ  “คีตธรรม” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคติธรรมขอ­งพระนางเขมาเถรี อัครสาวิกาเบื้องขวาผู้เลิศทางมีปัญญามาก

ส่วนคำร้องแต่งขึ้นโดย “ฐิตวํโสภิกขุ” แห่ง วัดปทุมวนาราม (ผมเองก็เพิ่งเห็นว่าปี 57 ฐิตวํโสภิกขุ เคยจัดทำคีตธรรม “จิตตนคร” และให้ปานมาร้องแล้วครั้งหนึ่งเชิญชมย้อนหลังได้ครับ)

ส่วนทำนอง แต่งโดยคุณ เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์ (โน้ต วง Alarm 9) และรัชต์พงษ์ สมศรี (ภู ศิษย์มาวิตต์) เรียบเรียงโดย เจษฎา สุขทรามร (โอ๋ ซีเปีย) ส่วน MV ที่เราเห็นกันนี้จัดทำโดย ผู้กำกับรุ่นใหม่ ภัทธิ บัณฑุวนิช [กลุ่มคนทำงานทั้งหมดนี้เรียกตัวเองว่า ศิลปินแล­ะจิตอาสากลุ่มบัวลอย]

ที่มาที่ไปของคลิป

ผมพยายามทำความเข้าใจที่มาที่ไปของ MV นี้โดยดูจากสิ่งที่ทีมงานเขียนไว้ใต้คลิปพบว่า คีตธรรม “ตราบลมหายใจสุดท้าย” แต่งขึ้นจากเรื่องราวของ “พระนางเขมาเถรี” ผู้ซึ่งยึดติดในความงามของกาย ต่อมาได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้าก็ได้บรรลุธรรม โดยพระนางได้สดับมาว่า

“ชนเหล่าใดถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมตกไปตามกระแสตัณหา เหมือนแมงมุมตกไปที่ใยอันตัวทำไว้ ฉะนั้น ชนผู้มีปัญญาทั้งหลายตัดกระแสตัณหานั้นแล้­ว เป็นผู้หมดความห่วงใย ละเว้นทุกข์ทั้งปวงไป”

โดยคำร้องนอกจากแสดงฉากเหตุการณ์และพระคาถ­าสำคัญที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ยังสะท้อนถึงความไม่เที่ยงแท้ของกายและสรร­พสิ่งในโลก โดยมีวันและเวลาเป็นผู้กลืนกินทุกๆ สิ่งให้เสื่อมสิ้นไปในที่สุด อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้มีปัญญาพิจารณาได้อ­ย่างลึกซึ้งว่าควรจะประพฤติตนให้ไม่ประมาท­ในวัยและเวลา เหมือนดังคำร้องท่อนสุดท้ายที่เป็นบทสรุปแ­ละเป็นชื่อคีตธรรมว่า “เปิดดวงเห็นความสัตย์จริง จากความจริงของเมืองแห่งกาย ตราบที่ลมหายใจสุดท้ายจะคืนสู่ดิน” 

แนะนำว่าให้ลองคลิกลิงก์ อสุภกรรมฐาน นี้เพื่อศึกษาธรรมต่อไปนะครับ (แต่ถ้าคร่าวๆ “อสุภ” แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน รวมได้ความว่า ตั้งอารมณ์เป็นการเป็นงานในอารมณ์ที่เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยสดงดงาม มีแต่ความสกปรก โสโครก น่าเกลียด)

ในแง่มุมของ MV 

ในรายงานของไทยรัฐออนไลน์ ทีมงานระบุว่า ได้จัดทำ MV ในรูปแบบอสุภกรรมฐาน ซึ่งถ่ายทอดความไม่เที่ยงของร่างกายจากเนื้อกายธรรมดา จนไปถึงการเน่าเสื่อมสลายกลายเป็นกระดูก ซึ่งระหว่างการถ่ายทำนั้นต้องอาศัยเอฟเฟกต์ต่างๆ ยุ่งยากพอสมควร ทำให้เรียนรู้ถึงความอดทน ซึ่งตนอยากให้ผู้ฟังเพลงย้อนกลับมาดูกายของเราว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา

“ภัทธิ บัณฑุวนิช” ผู้กำกับ MV ได้เผยว่านำเสนอออกมาสองแนวทาง แนวทางแรกจะเป็น MV ซึ่งนำเสนอผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบอสุภกรรมฐาน ซึ่งตั้งใจว่าจะทำให้เหมือนจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็เกรงว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งจะทนดูไม่ไหว จึงทำเป็นแนวทางที่สอง เป็นการเล่าเรื่องผ่านงานศิลปะโดยใช้การแสดงที่เรียกว่า คีตภาวนา เพื่อรองรับคนดูทั้งสองกลุ่ม และอยากฝากถึงผู้ชมทุกกลุ่มว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ได้ดูกัน เพราะเป็นงานที่แปลก หาดูได้ยาก ไม่มีงานแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ทั้งเพลงและภาพในลักษณะนี้ เล่าเรื่องพระนางเขมาเถรีได้ชัดเจนแบบนี้

ข้อคิดจากเหล่าศิลปินอาสาที่ได้ร่วมกิจกรรม”การพิจารณาอสุภกรรมฐาน”

สรุปแล้วเป็นคลิปทำบุญ (ใครดาวน์โหลดเพลงแล้วรายได้จะเอาไปสมทบทุน)

ในรายงานข่าวเดิมระบุว่า ทางวัดฯ มองว่านี่คือสื่อการเรียนการสอนชุดพระนางเขมาเถรี จัดทำในรูปแบบดีวีดี เพื่อมอบให้กับสำนักปฏิบัติธรรมและสถานศึกษาต่างๆ สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจคีตธรรมตราบลมหายใจสุดท้าย สามารถดาวน์โหลดได้หลากหลายช่องทาง อาทิ Line Music, iTunes, Apple Music, Spotify, Google Play, KKBox, TIDAL, Deezer, Amazon.com โดยรายได้จากการดาวน์โหลดทั้งหมดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–ตุลาคม 59 ไม่หักค่าใช้จ่าย จะนำเข้าสมทบกองทุนพระภิกษุสามเณรและแม่ชีอาพาธและเจ็บป่วย วัดปทุมวนาราม

ทำบุญกันนะครับ แพลตฟอร์มไหนก็ได้ คลิกเลย

iTunes: http://apple.co/1T8ykY2
Line Music: http://bit.ly/1scPqZ8
KKBOX: http://kkbox.fm/3d1Jc2
Deezer: http://bit.ly/24KIqAA
JOOX: http://bit.ly/1TQjySE
Spotify: http://bit.ly/1VSZSRy

ความคิดเห็นส่วนตัว

MV ตัวนี้เป็น Content ที่มีโจทย์จากการที่อยากจะนำเสนอ Content ที่ดีมีประโยชน์ก่อน (ในที่นี้คือเผยแพร่ธรรมะก่อน) ซึ่งแตกต่างจาก MV เรื่องราวความรักสดใส อกหักที่มีอยู่ทั่วไป อีกทั้งเรื่องที่นำเสนอก็ง่ายมากพอที่ทุกคนเข้าใจอยู่แล้วว่าอย่างไรคนเราก็หนี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปไม่พ้น เราแค่พยายามลืมๆ มันไป โดยไปหยิบเอาเรื่องราวของอนุพุทธประวัติของพระภิกษุณีสำคัญในสมัยพุทธกาล 6 บุคคลสำคัญ มาทำเป็น MV ให้เข้าใจง่าย ซึ่งที่เราๆ เห็นกันนี้คือคีตธรรมบทแรก ซึ่งผมเข้าใจว่าคุณปาน ธนพร น่าจะออกมาร้องอีก 5 เพลงเป็น Episode ต่อๆ ไป

ในแง่มุมของนักการตลาดและประชาสัมพันธ์ MV นี้นอกจากจะแตกต่าง มีสารัตถะชัดเจน มี Call to Action เพื่อรวบรวมเงินเข้ากองทุนข้างต้นแล้ว มันยังกระตุก “ต่อมประมาท” ของผู้บริโภคทุกระดับอีกด้วย

อดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าถ้ามีแบรนด์หรือองค์กรไหน ที่หัดจะเลิกขายของกันให้ได้สักนาที และหันมาทำ Content ที่ดีมีประโยชน์กับคนดู ในแนวทางของ Content Marketing แล้วแบรนด์นั้นๆ จะได้ประโยชน์ขนาดไหน