มีตัวเลขหนึ่งจาก ETDA ที่น่าสนใจและได้รับการเอ่ยถึงบนเวที Thailand Zocial Awards 2017 นั่นก็คือ ตัวเลขมูลค่าตลาด E-Commerce ของไทย (แยกตามช่องทางการขายและอุตสาหกรรม) ที่พบว่า การจับจ่ายใช้สอยบนแพลตฟอร์ม Social Media ในหมวดธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งนั้นมีมูลค่าสูงถึง 269,660 ล้านบาท ทิ้งห่างการค้าออนไลน์รูปแบบอื่นไปอย่างไม่เห็นฝุ่น
ผู้ที่นำตัวเลขนี้มาเปิดเผยก็คือ คุณป้อม – ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โธธ โซเชียล จำกัด และเขาได้ชี้ว่า นี่คือการเติบโตของตลาด “Social Commerce” ที่ไทยไม่เป็นสองรองใคร
“Social Commerce คือการขายสินค้าโดยการกระตุ้นจากสังคมให้เกิดความต้องการสินค้า บางทีเราไม่ไ่ด้อยากซื้อ แต่เห็นคนโน้น คนนี้ใช้ พูดบน Social Media มันก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอยากได้”
ซึ่งเมื่อเปิดข้อมูลมากขึ้นไปอีก ช่องทางของ Social Commerce ที่พบว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดก็คือ แพลตฟอร์ม Social Media อย่าง Facebook ที่สามารถตั้งเพจ หรือตั้งกลุ่มซื้อขายสินค้ากันได้ รวมถึงการ Live ขายของก็มีมาแล้ว
รองลงมาคือ Instagram ที่มีทั้งไอจีร้านค้าทั่วไปและ ไอจีดาราที่เป็นแหล่งโฆษณาสินค้าชั้นดี อย่าง aum_patcharapa (IG อั้ม-พัชราภา ที่มีผู้ติดตาม 7.9 ล้านคน) chomismaterialgirl (IG ชมพู – อารยา กับผู้ติดตาม 7.2 ล้านคน) davikah (IG ใหม่ – ดาวิกา ที่มีผู้ติดตาม 6.3 ล้านคน) เป็นต้น (ข้อมูลในช่วงระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 14 พฤษภาคม 2560)
โดยสินค้าที่มักปรากฏว่ามีการฝากร้านอยู่ตาม Instagram ดารานั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแฟชั่น 71% สินค้าสุขภาพและความงาม 22% สินค้าแม่และเด็ก 4% อุปกรณ์ไอที 3% และสินค้าอื่น ๆ อีก 1%
สำหรับช่วงเวลาที่แม่ค้าบน IG จะโพสต์สินค้ากันนั้น พบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นบน 2 ช่วงเวลา คือบ่ายสอง กับ 1 ทุ่ม
นอกจากนั้น คุณภาวุธ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการ Segmentation บน Facebook ที่เริ่มลงลึกมากขึ้น เช่น การเปิดกลุ่มซื้อขายเสื้อผ้ามือสอง กลุ่มเสื้อผ้ามือสองสำหรับคนอ้วน หรือกระทั่งห้องขายของออนไลน์ในจังหวัดระยอง เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการใช้งานที่แสดงให้เห็นว่า มีการแตกเป็นกลุ่มเล็ก และเล็กแบบมีเป้าหมายชัดเจน จึงเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ เช่นกัน
จาก Social Commerce พร้อมหรือยังกับ “Universal Commerce”
จากทุกวันนี้ที่เราได้ก้าวผ่านยุคของ E-Commerce มาแล้ว และกำลังอยู่ในยุค Social Commerce ที่การซื้อขายเกิดขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจบนแพลตฟอร์ม Social Media และกำลังทำเงินอย่างมหาศาลเกือบ 270,000 ล้านบาทนั้น คุณภาวุธกล่าวว่า คงไม่ต้องตกใจหากจะบอกว่าในอีกไม่ช้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุค Universal Commerce หรือเรียกสั้น ๆ ว่า U-Commerce ยุคที่การซื้อขายเกิดขึ้นแบบไร้รอยต่อผ่านอุปกรณ์ IoT เช่น ผู้ช่วยอัจฉริยะประจำบ้านอย่าง Google Home หรือ Amazon Echo
“หลายคนบอกว่าเรากำลังอยู่ในยุค เว็บ 2.0 แต่จริง ๆ คือเรากำลังก้าวผ่านไปสู่เว็บ 3.0”
โดยคุณภาวุธ ได้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการต่าง ๆ ในแต่ละยุคของการเปลี่ยนผ่านจากเว็บ 1.0 ซึ่งคอนเทนต์ยังเป็นแบบ Read-Only การนำเสนอก็เป็นนำเสนอในสิ่งที่ธุรกิจต้องการโฟกัส การคิดค่าโฆษณาพิจารณาจากเพจวิว ส่วนการโฆษณาก็เป็นแบนเนอร์กันเป็นหลัก
พอเข้าสู่ยุคเว็บ 2.0 นั้น โลกอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนไปสู่ Community Focus หรือโฟกัสในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ เริมมีบล็อก มีการแชร์คอนเทนต์ มีการใช้ Tags มีการคิดค่าโฆษณาแบบ Cost Per Click รูปแบบการโฆษณาก็สามารถโต้ตอบกับยูสเซอร์ได้มากขึ้น
แต่สำหรับยุค เว็บ 3.0 สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ โลกอินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนเป็น Individual Focus นั่นคือการเจาะไปหาความสนใจของแต่ละบุคคล และนำเสนอข้อมูลที่ระบบคิดว่าคนเหล่านั้นน่าจะชอบ
ส่วนรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ของคนในยุคเว็บ 3.0 ก็จะเปลี่ยนไปสู่การ Streaming มากขึ้น การคิดโฆษณาก็เปลี่ยนไปดูที่ User Engagement แทน ส่วนรูปแบการโฆษณานั้นจะเปลี่ยนไปสู่ “Behavior Advertisting” หรือการโฆษณาตามพฤติกรรมผู้บริโภค
“เรากำลังเข้าสู่ยุค Universal Commerce มันคือการทำงานทุกอย่างจะผสานกันไป จากเดิมเราสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่การเข้ามาของ Google Home – Amazon Echo จะเริ่มทำให้การซื้อขายแบบนี้มันไร้รอยต่อ (Seamless) มากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่ม Personalize มากขึ้น”
ด้วยรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากเดิมผู้ซื้อต้องเข้าไปค้นหาสินค้า ตอนนี้สินค้าถูกจัดเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ Big Data เราเคยกินอะไร เคยใช้อะไร ข้อมูลทั้งหมด จะถูกนำมาวิเคราะห์ และเตรียมไว้รอเราแล้วทั้งนั้น และนั่นคือ “Universal Commerce” ที่เรากำลังจะได้พบ…ในอีกไม่ช้า