ทุกวันนี้ ต้องบอกว่าการค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นนั้น หลาย ๆ การสำรวจพบว่ามีผลมาจาก Social Media ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มต่างพยายามหาทางให้การซื้อขายจบลงบนแพลตฟอร์มของตนเองให้ได้โดยง่าย และแพลตฟอร์มไหนทำในจุดนี้ได้ดีกว่า ก็มีโอกาสที่จะเติบโตด้านผู้ใช้งานสูงตามไปด้วย
ขณะที่ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Brain & Co. ระบุว่า 30% ของยอดขายออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากร้านค้าบน Social Network และมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ร้าน Panicloset ร้านค้าเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จและมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีผู้ติดตามบนแฟนเพจถึง 1.6 ล้านคน
อย่างไรก็ดี การค้าบนโซเชียลมีเดียยังติดปัญหาที่รูปแบบการชำระเงินที่อาจไม่ได้จบลงได้ภายในแพลตฟอร์มเดียว จากปัญหานี้ ทำให้ยักษ์ใหญ่ด้านการชำระเงินดิจิทัลอย่าง PayPal เห็นโอกาสในการเติบโตของผู้ใช้บริการกลุ่ม Social Commerce โดย คุณสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการ PayPal ประเทศไทย ได้ออกมาบอกว่า PayPal มีโซลูชันที่น่าจะแก้ปัญหานี้ได้ นั่นก็คือ “PayPal.Me”
“PayPal.Me ถูกสร้างขึ้นมาจากความต้องการของผู้ใช้งานจริง ซึ่งเป็นคนขายสินค้าที่อาจไม่มีระบบ หรือหน้าเว็บไซต์ที่ออกแบบมาอย่างดี แต่เขาก็อยากหาวิธีการรับชำระเงินจากต่างประเทศ (หรือในประเทศ) ซึ่งการใช้ PayPal.Me เพียงแค่มีบัญชีของ PayPal และเข้ามาที่หน้าเว็บไซต์ PayPal.Me จากนั้นก็จะมีให้ Create Link (สร้างชื่อที่ต้องการเป็น Personalized URL) โดยเป็น Link การโอนเฉพาะตัว”
“Link ดังกล่าวสามารถทำงานได้ทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ, อีเมล, Messenger, Social Media, เว็บไซต์ ผู้ซื้อก็สามารถคลิกที่ Link และนำไปสู่ช่องทางการชำระเงินได้เลย”
ทั้งนี้ คุณสมหวังระบุว่า PayPal.Me เปิดตัวมาแล้วตั้งแต่ 16 กรกฎาคมปีก่อน ซึ่งจนถึงปัจจุบัน PayPal.Me มียอดการใช้งานแล้วประมาณ 54,000 ครั้งในไทย ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคิดเป็น 26.8% ของยอดการใช้งานทั้งหมด
“ลองนึกภาพคนขายของออนไลน์ ถ้าอยากรับเงินจากต่างประเทศจะต้องทำอย่างไร บอกเลขที่บัญชีให้เขาโอนเงินเข้ามา หรือบอก Swift code ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือจะจ่ายผ่าน Counter Payment อย่าง Western union ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ดังนั้น หากผู้ค้าออนไลน์ในประเทศไทยต้องการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ การเรียนรู้ หรือเปิดรับระบบชำระเงินที่เป็นสากลมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ค้าสามารถรับชำระเงินผ่าน Social media เช่น Line, Facebook, Messenger หรือแม้แต่โปรแกรมส่งข้อความอื่น ๆ ได้อย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้นด้วย”
ทั้งนี้คุณสมหวังได้ชี้ถึงอีกหนึ่งอุปสรรคของการค้าออนไลน์ก็คือ ความไว้วางใจ ทุกวันนี้เรายังมีคนที่พร้อมจะเดินออกไปโอนเงิน เพราะไม่มั่นใจกับการตัดบัตรเครดิตผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่ไม่น้อย หรือผู้ค้าบางคนก็กังวลเรื่อง Privacy หากจะต้องโพสต์ข้อมูลบัญชีธนาคารของตัวเองลงไปใน Social Media เพื่อให้ลูกค้าโอนเงินเข้ามา แถมบางรายก็ถูกลูกค้าหลอกว่าโอนเงินแล้ว แต่จริง ๆ ยังไม่โอน ฯลฯ ในจุดนี้คุณสมหวังเผยว่า
“สำหรับผู้ขายที่กังวลเรื่อง Privacy บริการ PayPal.Me สามารถป้องกันได้ เพราะไม่จำเป็นต้องโพสต์ข้อมูลบัญชีธนาคารใด ๆ สู่โลกออนไลน์ ขณะที่ในฟากของผู้ซื้อ การที่ผู้ขายมีบัญชี PayPal ก็สามารถเป็นหลักประกันถึงความน่าเชื่อถือและการมีตัวตนได้ส่วนหนึ่ง”
นอกจากผู้ค้าออนไลน์แล้ว คุณสมหวังเผยว่ายังมีอีกหลายอาชีพที่น่าจะได้ประโยชน์จาก PayPal.Me เช่น ฟรีแลนเซอร์ ซึ่งอาจเป็นนักออกแบบเว็บไซต์ และรับงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ หรือเป็นผู้ที่นำห้องพักมาเปิดแชร์กับนักท่องเที่ยว ก็สามารถใช้ PayPal.Me รับเงินโดยระบุเป็นสกุลเงินต่างประเทศได้เลยเช่นกัน
โดยปัจจุบัน PayPal มีผู้ใช้งานทั่วโลก 203 ล้านคน และรองรับการชำระเงินด้วยสกุลเงินต่าง ๆ มากกว่า 100 สกุลเงิน ถอนเงินจากบัญชีธนาคารได้ 56 สกุลเงิน และสามารถเก็บยอดคงเหลือในบัญชี PayPal ได้ 25 สกุลเงิน ในส่วนของค่าธรรมเนียมนั้น PayPal หากเป็นการโอนเงินจากต่างประเทศจะคิดค่าบริการ 4.4% + 11 บาท หากเป็นการโอนเงินภายในประเทศจะคิดที่ 3.9% + 11 บาท
ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบริการรับชำระเงินทางเลือกของผู้ประกอบการรายย่อยในไทยให้ได้ใช้งานกันค่ะ