คงต้องยอมรับว่า เดี๋ยวนี้หันไปทางไหนก็ไม่ค่อยได้เห็นใครใช้งานคอมพิวเตอร์พีซีกันแล้วจริง ๆ จะมีบ้างก็ตามร้านเกมออนไลน์ในย่านชุมชน หรือในโรงเรียน ซึ่งเมื่อก่อนห้องคอมพิวเตอร์จะมีคอมพิวเตอร์พีซีวางเรียงเป็นตับ เดี๋ยวนี้หากต้องทำการอัปเกรด ก็มักพบว่ามีการเปลี่ยนเป็นแท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กกันแล้วหลายแห่ง
ผลก็คือ รายงานตัวเลขยอดขายคอมพิวเตอร์พีซีของการ์ทเนอร์ประกาศปังออกมาว่า ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นไตรมาสที่ยอดขายพีซียังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง แถมยังหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8 แล้ว (ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมพีซี) โดยมียอดขายเพียง 68.9 ล้านเครื่องเท่านั้น
ส่วนกิจกรรมที่เคยมีส่วนผลักดันยอดขายพีซีเช่น ช่วง Back-to-School ของเด็ก ๆ ในชาติตะวันตกเองก็ไม่ได้ช่วยผลักดันให้ยอดขายพีซีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และกลุ่มประเทศ Emerging Market เช่น ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ได้มีความต้องการใช้งานคอมพิวเตอร์พีซีมากอย่างที่คิด
ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการประเมินว่า คอมพิวเตอร์พีซีกำลังจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่ไม่อยู่ในกระแสหลักของโลกดิจิตอลมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังเช่นที่ มิคาโกะ คิตากาวา นักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์ที่ให้ความเห็นเอาไว้ว่า
“พีซีไม่ใช่อุปกรณ์หลักสำหรับกลุ่มคอนซูเมอร์อีกต่อไปแล้ว พวกเขาไม่รู้สึกว่าต้องอัปเกรดพีซีแบบที่ผู้บริโภคในอดีตเคยทำ ส่วนเรื่องของภัยคุกคามจากการใช้งานอุปกรณ์ดิจิตอล ปัจจุบันก็มาจากสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับการอัปเกรดสมาร์ทโฟนมากกว่าจะสนใจอัปเกรดพีซี หรือคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป”
“ในกรณีนี้ แท็บเล็ตยังจะดูมีอนาคตมากกว่าพีซีด้วย สังเกตได้จากการที่แอปเปิล (Apple) ได้ยกระดับ iPad Pro ให้ขึ้นมาเป็นกลุ่ม Viable Laptop Replacement กันแล้วนั่นเอง”
แน่นอนว่าการคาดการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีอย่าง HP, Dell, Asus, Acer, Apple และ Lenovo ต้องหนักใจ เพราะเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทผู้ประกอบการในตลาดดังกล่าวทั้งสิ้น และต่างมีตัวเลขการเติบโตด้านยอดขายที่ไม่ค่อยสวยงามนัก แต่ในด้านมืดก็มีด้านดีอยู่เช่นกัน นั่นคือโอกาสเติบโตในกลุ่มคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กราคาประหยัด เช่น Chromebook ที่พบว่ามีโอกาสที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อหามาใช้แทนคอมพิวเตอร์พีซีเครื่องเก่านั่นเอง
ที่มา: TheVerge