Site icon Thumbsup

Phuket Smart City นำร่องเมืองอัจฉริยะของไทย

sipa_smart_city

ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ตซิตี้ (Smart City) ถือเป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ MDE ต้องการให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยเป้าหมายที่จะพัฒนาคนให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ โดยทำให้เมืองเชื่อมโยงกันด้วยโครงสร้างพื้นฐาน ทางด้านเทคโนโลยี และเพิ่มเติมความสะดวกให้แก่วิถีชีวิต เศรษฐกิจ

นับเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อทำให้เมืองภูเก็ตมุ่งไปสู่ “5 อี” ได้แก่ อีโซไซตี้, อีเลิร์นนิ่ง, อีซิติเซ่น, อีเอดูเคชัน และอีคอมเมิร์ซ ด้วยการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

ภูเก็ตเป็นยิ่งกว่าเมืองแห่งการท่องเที่ยว

การที่ภาครัฐได้เริ่มโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ตซิตี้ (Smart City) ที่เกาะภูเก็ตในครั้งนี้ เนื่องจากด้วยขนาดพื้นที่ของจังหวัดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป และโครงสร้างประชากรในพื้นที่ที่มีอยู่เพียง 378,364 คน แต่มีนักท่องเที่ยวในปี 2557 สูงถึง 11,855,000 คน หรือคิดเป็น 3 เท่าของประชากรในพื้นที่ และในจำนวนนักท่องเที่ยวนี้เป็นชาวต่างชาติถึง 70% ดังจะเห็นได้ว่ากิจการส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติแทบทั้งสิ้น จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการดึงชาวต่างชาติที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ามาจัดตั้งบริษัทหรือสาขาที่ภูเก็ต ซึ่งจะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัล (Digital Hub)

ประชา อัศวธีระ ผู้จัดการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA สาขาภูเก็ต กล่าวว่า มีความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จังหวัดภูเก็ต SIPA รวมทั้งหน่วยงานพันธมิตร อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ได้เริ่มจัดทำโครงการนำร่อง Phuket Smart City เมืองน่าอยู่ 2 แห่ง ประกอบด้วย เขตเทศบาลเมืองป่าตอง และ เขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ซึ่งควบคุมบริเวณพื้นที่ประมาณ 28.4 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดภูเก็ต 540 ตารางกิโลเมตรในการดำเนินการโครงการ โดยเน้นใน 2 เรื่องหลัก ประกอบด้วย Smart Economy และ Smart Living Community

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จังหวัดภูเก็ตจึงได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 9 ของซูเปอร์ คลัสเตอร์ (Super Cluster) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตสําหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากการรวมกลุ่มอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเสริมศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมได้มากขึ้น และก้าวสู่การเป็นคลัสเตอร์ดิจิทัลอย่างแท้จริง

สร้างฐานข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้จริง

วันนี้โลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค Internet of Things การพัฒนานวัตกรรมการควบคุมแบบ Machine to Machine รวมทั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทต่อชีวิตเราครอบคลุมไลฟ์สไตล์ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน เมื่อเทคโนโลยีเชื่อมต่อกับไลฟ์สไตล์มนุษย์ ก็จะเกิดเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนสังคมในบริบทที่กว้างกว่าเดิม ดังนั้น Smart City ที่แท้จริงนั้นจะต้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูล และใช้งานประโยชน์จากข้อมูลให้มีประโยชน์มากที่สุด โดยครอบคลุมทั้งเรื่องของความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง เข้าออกเมือง หรือการเดินทางภายในเมือง การเข้าพักที่พักอาศัย รวมถึงการพัฒนารูปแบบของการทำธุรกิจที่ตรงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และเนื่องจากเมืองภูเก็ตเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มากจนเกินไป และมีปริมาณของนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในการสร้างระบบในการตรวจสอบ ป้องกัน และสร้างพัฒนาระบบการขนส่งให้เป็นระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อให้เกิดการใช้งานพลังงานอย่างคุ้มค่า ก่อนก้าวเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่น ๆ ของประเทศได้

ก้าวสู่ Smart Industry City

การสร้าง Smart City ที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ 3 ส่วน คือ 1. Smart Economy ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่ 2 ขึ้นในจังหวัดภูเก็ต โดยจะมุ่งเน้นไปทางด้านเทคโนโลยี ทั้งการเป็นแหล่งรวมนักพัฒนา ในลักษณะของ Research Center หรือ Innovation Center และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหันมาใช้ Smart Technology ในการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจมากขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้ธุรกิจและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาตั้งและดำเนินธุรกิจ ด้วยการยกเว้นภาษี 8 ปี และได้รับสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีก 5 ปี สำหรับนักพัฒนาและผู้ที่มีความเชี่ยวชาญระดับนานาชาติ จะได้สิทธิผู้อาศัยถาวร (Permanent Resident) จะทำให้ภูเก็ตศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา (Research Center) ตลอดจนเป็นศูนย์นวัตกรรม (Innovation Center) และเป็นศูนย์กลางแห่งความรู้ (Knowledge Center) และทำให้เกิดพัฒนาสินค้าออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้ามายื่นขอสนับสนุนกับโครงการ Phuket Smart City ประมาณ 20-30 บริษัทแล้ว โดยได้ส่งแบบฟอร์มไปที่ BOI ทั้งนี้เพื่อให้เกิด Ecosystem ในจังหวัดภูเก็ต และเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสู่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่นด้วย ซึ่งจะขับเคลื่อนเข้าสู่แนวทางสร้างการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนในอนาคต สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนที่อาศัยในจังหวัดภูเก็ตโดยรวม

นอกจากนี้ยังทำให้เกิด 2. Smart Living Community ที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ โดยมีการนำระบบ CCTV เข้ามาช่วยเฝ้าระวัง และทำงานร่วมกับโซลูชันตรวจจับใบหน้า เพื่อตรวจสอบและติดตามผู้กระทำผิด เพื่อส่งการแจ้งเตือนไปที่เจ้าหน้าที่ต่อไป และการปรับใช้เทคโนโลยีนี้ยังช่วยให้เมืองภูเก็ตสามารถสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่เข้ามาในพื้นที่แบบออนไลน์เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย ขณะที่ทางน้ำได้วาง ระบบรักษาความปลอดภัยทางน้ำหรือด้านการเดินเรือ จังหวัดภูเก็ตจะร่วมกับกรมเจ้าท่าในการนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการโดยใช้ Vessel Tracking Management System (VTMS) ซึ่งเป็นระบบติดตามเรือ ใช้เพื่อติดตามและรักษาความปลอดภัยทางน้ำให้กับนักท่องเที่ยว ระบบช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้โดยสารทางน้ำได้ดีมากขึ้น อีกทั้งยังวางโครงการใช้ Smart Band กับนักท่องเที่ยว เพื่อเสริมด้านความปลอดภัยทั้งระบบ โดย Smart Band จะช่วยให้ทราบสถานะของนักท่องเที่ยว ตลอดจนระยะห่างจากเรือระหว่างทำกิจกรรม เช่น การดำน้ำ เป็นต้น เพื่อเฝ้าระวังเหตุสุดวิสัย และอาจนำอันตรายมาสู่นักท่องเที่ยวได้ ซึ่งครอบคลุมไปยังเรื่องของ 3. Smart Sensor ซึ่งเป็นโครงการนำเอาเซนเซอร์ที่ผสมผสานเทคโนโลยี IoT ทำให้สามารถตรวจสอบสภาพอากาศ ตรวจเช็กสภาพของน้ำทะเล และตรวจสอบความผิดปกติ โดยเมื่อพบความผิดปกติ ระบบจะส่งข้อมูลกับมาที่ส่วนกลาง เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ การขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีมากขึ้น ด้วยการสร้าง Public Free Wi-Fi ความเร็วแบบ Hi-Speed อย่างน้อย 20Mbps จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจ รวมไปถึงประชาชนสามารถสร้างโอกาสในการนำเสนอสินค้าและบริการได้ดีมากขึ้น และจะส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้ทันกับช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต

Smart City วันนี้คือการนำเสนอการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล หรือ Digital Thailand ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับเมืองเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพคล่องตัว การทำ Smart City นั้นมีหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญคือต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ แล้วร่วมกันออกแบบระบบที่เหมาะสมที่สุดกับคุณสมบัติของเมืองนั้น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ดังนั้นการทำ Smart City ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนจะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจของเมืองเมืองนั้นอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ทำทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจได้ผลประโยชน์ทั้งหมด เช่น ภาคประชาชนจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ และภาคธุรกิจก็สามารถเอาข้อมูลที่ได้จากนักท่องเที่ยวมาสร้างแอพพลิเคชันใหม่ ๆ ในการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ มีแนวคิดหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า เมื่อเมืองมีความเป็น Smart ขึ้นโดยอาจจะเริ่มจากความปลอดภัยภายในเมือง ประชาชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวก็จะรู้สึกปลอดภัย และเข้ามาเที่ยวมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นรายได้เพื่อต่อได้ด้านอื่น ๆ ตามมา

บทความนี้เป็น advertorial