Site icon Thumbsup

ฟัง”Plan for Kids” ปั้นแพลตฟอร์มนิทานดิจิทัล – เล่าประสบการณ์โตบนจีนแผ่นดินใหญ่

คุณริสรวล อร่ามเจริญ

ในยุคที่โลกใบใหญ่ของคนตัวใหญ่ ๆ มีการปรับตัวตามนโยบาย Thailand 4.0 อย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ โลกใบเล็กของเด็ก ๆ ก็มีการปรับตัวกับความท้าทายนี้เช่นกัน แต่จะปรับอย่างไรให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกโดยที่ไม่ทำลายวิถีของการพัฒนาเด็ก วันนี้เรามีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ของพี่ใหญ่ในวงการนิทานเด็กอย่าง “แปลน ฟอร์ คิดส์” มาฝากกันค่ะ

โดยหากเอ่ยชื่อของแปลน ฟอร์ คิดส์ (Plan for Kids) หลายคนที่มีเด็กเล็กในบ้านอาจนึกถึงคาแรคเตอร์อย่าง กุ๋งกิ๋ง, ไดโนป่วน ก๊วนหรรษา และตุ๊กติ๊ก ตุ๊บปอง ลอยมาแต่ไกล ทุกวันนี้คาแรคเตอร์ดังที่กล่าวมาได้เติบโต และก้าวขึ้นไปมีเวทีของตัวเองในหลากหลายช่องทาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

คุณริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด เผยว่า ทุกวันนี้ เรามองเทคโนโลยีดิจิทัลว่าเป็นคุณ ไม่ได้มองเป็นโทษ นิทานเองก็ต้องขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality เข้ามาผสมด้วย

“นิทานเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องปรับตัวในยุคดิจิทัล แต่นิทานไม่เหมือนเสื้อผ้า หรือรองเท้า การนำเสนอนิทานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของพ่อแม่อย่างมากที่จะสนับสนุนให้ลูกรักการอ่าน เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กที่อ่านหรือฟังนิทานมาหลายร้อย เรื่องก็คงมีคลังศัพท์ในสมองมากกว่าเด็กที่อ่านนิทานมาแค่ 10 เรื่อง”

สำหรับพฤติกรรมของพ่อแม่กลุ่มเป้าหมายนั้น คุณริสรวลให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน พ่อแม่จะประหยัดมากขึ้น  และให้ความเชื่อมั่นกับการรีวิวหนังสือ ของใช้ ฯลฯ ของเพื่อน ๆ ที่สนิทกันบน Social Media ค่อนข้างมาก

ทางแปลน ฟอร์ คิดส์ จึงได้เพิ่มอีกหนึ่งช่องทางการจำหน่าย ด้วยการเปิดตัวแอปพลิเคชัน Happytimestories (มีค่าสมาชิกรายเดือน) บนแอปพลิเคชันจะมีนิทานหลายร้อยเรื่องให้เลือกฟัง และมีการอัปโหลดเรื่องใหม่ ๆ ประมาณ 5 – 6 เรื่องต่อเดือน ซึ่งจะสะดวกสำหรับพ่อแม่ที่ไม่มีโอกาสไปร้านหนังสือบ่อย ๆ หรือต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายให้สามารถเข้าถึงนิทานได้มากขึ้น

โดยคุณริสรวลให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายหลักของนิทานแปลน ฟอร์ คิดส์ ยังเป็นช่องทางออฟไลน์ที่ประมาณ 80% เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าองค์กร โรงเรียน ส่วนช่องทางแอปพลิเคชันนั้นมีอยู่ 10% และอีก 10% ที่เหลือคือช่องทางออนไลน์อื่น ๆ เช่น เว็บไซต์

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนั้น คุณริสรวลชี้ว่า ยอดขายเกินครึ่ง (60%) มาจากต่างจังหวัด เนื่องจากบริษัทมีการทำกิจกรรมการตลาดทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มโรงเรียนและกลุ่มพ่อแม่ ดังนั้นยอดขายจึงไม่ได้เทน้ำหนักมาที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลแต่เพียงอย่างเดียว

เปิดประสบการณ์โตที่จีนแผ่นดินใหญ่

นอกจากตลาดในประเทศแล้ว คาแรคเตอร์ยอดนิยมของแปลน ฟอร์ คิดส์อย่าง “กุ๋งกิ๋ง” ยังก้าวไปสู่จีนแผ่นดินใหญ่ด้วย ซึ่งคุณริสรวล ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ในตลาดดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ช่องทางการจำหน่ายหลักในตลาดจีนคือเว็บไซต์ หาใช่ร้านหนังสืออีกต่อไป

“ตลาดจีนใหญ่มาก และมีกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอด ซึ่งเราจะขายบนเว็บไซต์เป็นหลัก และหากมีรายการทีวีนำไปแนะนำก็จะช่วยได้มาก ส่วนการพิมพ์เพื่อจำหน่ายตามร้านหนังสือนั้นไม่ใช่ทางที่สะดวกนัก เพราะต้องย้ำว่าตลาดจีนนั้นใหญ่มาก บางทีพิมพ์ 50,000 เล่ม ยังวางจำหน่ายได้ไม่พอกับทุกร้านเลย”

“อีกหนึ่งประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้ก็คือ การจะไปตลาดจีนต้องคิดเรื่องชื่อของตัวละครให้ดี อย่างกุ๋งกิ๋ง ไปเมืองจีนก็จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโก่วโก๊ว ไปฮ่องกงก็จะถูกเปลี่ยนชื่อเช่นกัน ดังนั้น ในอนาคต ถ้าเรามีคาแรคเตอร์ใหม่ที่จะไปบุกตลาดจีน ต้องดูแลเรื่องชื่อตัวละครให้ดี”

“เราเชื่อมั่นในการพัฒนาลูกด้วยนิทาน แม้แพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไป แต่วัคซีนที่ให้เด็กอย่างประสบการณ์ดี ๆ จากนิทานต้องไม่เปลี่ยนแปลง เพราะสุดท้าย ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพามนุษย์ไปถึงจุดใดก็ตาม  แต่การอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและให้เกียรติกันก็ยังเป็นเรื่องสำคัญของทุกสังคม ซึ่งวัคซีนเหล่านี้สามารถหาได้จากนิทาน และวรรณกรรมสำหรับเด็กค่ะ” คุณริสรวลกล่าวปิดท้าย