Site icon Thumbsup

ผ่าเทรนด์ plogging แรงดีบน Instagram จนหลายแบรนด์ขยายผลสุดปัง

เปิดแนวคิด 2 ผู้บริหาร 2 แบรนด์ดาวรุ่ง Nathan Dopp และ Nancy Fishgold ที่มองเห็นเทรนด์ plogging และประยุกต์ใช้กับอีเวนท์แบรนด์ตัวเองได้โดดเด่นกว่าใคร ทั้งคู่มีวิสัยทัศน์บนเทรนด์แรง Instagram ยุคนี้แบบจับต้องได้และได้ผลจริง

Nancy Fishgold นั้นมีดีกรีเป็น senior manager for external communications ของ Danone North America ขณะที่ Nathan Dopp นั่งเก้าอี้ CEO สาขาอเมริกาเหนือของ Fjallraven ทั้ง 2 ถูกพูดถึงอย่างน่าสนใจในบทความเล่าเรื่องราวกระแส plogging บน Instagram นาทีนี้

สิ่งที่ทำให้คำว่า plogging เริ่มเป็นที่สนใจอีกครั้งหลังจากที่เป็นข่าวครั้งแรกเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว คือการใช้คำนี้อย่างแพร่หลายใน Instagram, อีเมล รวมถึงแคมเปญโฆษณาที่ต้องการสื่อถึงการออกกำลังกายยุคใหม่ ปรากฏการณ์นี้ทำให้หลายคนมองว่าเทรนด์ที่มีต้นกำเนิดจากสวีเดนนี้อาจไม่ใช่พลุที่ดังแล้วเงียบไป แต่จะเป็นกีฬาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

plogging ดึงดูดได้

“plogging เป็นคำกริยา เกิดจากการรวมคำว่า jogging เข้ากับคำว่า plocka upp คำภาษาสวีดิชที่แปลว่าหยิบขึ้นมา” Nathan Dopp ซีอีโอของ Fjallraven บริษัทจำหน่ายอุปกรณ์เพื่อกิจกรรมกลางแจ้งสัญชาติสวีเดน ประจำตลาดอเมริกาเหนือ อธิบาย โดยที่ผ่านมา Fjallraven เริ่มจัดอีเวนท์ plogging ในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว

สำหรับเทรนด์ plogging ถูกมองว่าเริ่มต้นโดยชาวสวีเดนชื่อ Erik Ahlström ในปี 2016 ซึ่งต้องการตั้งชื่อเก๋ไก๋ให้งานอดิเรกที่โปรดปราน กิจกรรมนี้อาจไม่ใช่ jogging เท่านั้นแต่รวมถึงการออกกำลังกายและกิจกรรมกลางแจ้งทั้งการปีนเขา หรือเดินป่า เรียกว่าเป็นการออกกำลังกายประเภทใดก็ตามที่จะทำร่วมกับการเก็บขยะ เช่น ขวดเปล่า ถุงพลาสติก เศษอาหาร ที่มีใครทิ้งไว้

Nathan Dopp มองว่า plogging ดึงดูดผู้ชื่นชอบวิถีรักษ์สุขภาพ ที่ต้องการเพิ่มประโยชน์ให้กับการออกกำลังกายของตัวเองด้วยการทำประโยชน์กับสังคม แถมวิธีการก็ไม่ยุ่งยากเพราะเพียงนำถุงติดตัวมาออกกำลังกายเอาท์ดอร์ด้วย และลงมือเก็บขยะก็สามารถทำ plogging ได้แล้ว

วันนี้ plogging กำลังกลายเป็นเทรนด์จริงจัง เพราะเหล่า Instagrammers ถ่ายรูปเซลฟี่กับขยะและอัปโหลดรูปจนมีนัยสำคัญ สถิติล่าสุดพบว่าโพสต์บน Instagram มากกว่า 59,000 โพสต์มีการติดแฮชแท็ก #plogging ขณะที่อีก 12,000 โพสต์ติดคำว่า #plog นอกจากคำเหล่านี้ยังมีการคิดคำเกี่ยวกับขยะเช่น “trash goblin” หรือก็อบลินขยะที่พร้อมจะพุ่งเข้าใส่ขยะทุกเมื่อ

เรียบง่ายและยั่งยืน

plogging ถูกหยิบมาใช้ในอีเวนท์ของแบรนด์อื่นเช่นเดียวกับเทรนด์ส่วนใหญ่ที่กลายเป็นแฟชั่นจนแบรนด์ต่างให้ความสนใจ นอกเหนือจาก Fjallraven วันนี้ plogging ถูกแบรนด์นมถั่วเหลือง Silk หยิบมาใช้ผ่านแท็ก #PlogForProgress ซึ่งแบรนด์ระบุว่าสะท้อนความเรียบง่ายและยั่งยืนได้ดี

Nancy Fishgold ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการสื่อสารนอกองค์กรของ Danone North America ต้นสังกัดของ Silk มองว่า plogging นั้นมีหลักการเรียบง่ายที่รวม 2 เรื่องสุดยอดที่ผู้คนเริ่มร่วมใจทำคนละไม้คนละมือเพื่อรักษ์โลก โดยในวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา แบรนด์ Silk ได้รณรงค์ให้ผู้คนออกนอกบ้านไปถ่ายรูปขยะที่ตัวเองเก็บได้แล้วแชร์ภาพพร้อมแท็ก #PlogForProgress

ต้นสังกัดอย่าง Danone North America ไม่เพียงโปรโมต plogging ในฟีดโซเชียล Silk ยังแสดงจุดยืนหนุนให้ plogging เป็น official Olympic event หรือกิจกรรมอย่างเป็นทางการในโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2028 ที่ลอสแองเจลิสด้วย จุดนี้บริษัทเริ่มสร้างคำร้องบน Change.org เพื่อขอแรงสนับสนุนจากชาวโลกให้ลงชื่อเห็นด้วยกับการเพิ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมลงไปในเกม ไม่แน่ plogging อาจได้ปรากฏตัวในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2028 ด้วยฐานะมิติใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์

ประเด็นนี้ Fishgold อธิบายว่าการเพิ่ม plogging ให้เป็น official Olympic event จะเป็นขั้นตอนที่มีความหมายต่อการทำให้โลกนี้น่าอยู่กว่าเดิม แถมยังมั่นใจว่าการบรรจุ plogging ให้เป็น official Olympic event นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นมีทั้งกีฬาอย่างการชักเย่อ, การดวลปืนพก, การยกน้ำหนัก และว่ายน้ำ แต่ plogging จะแข่งอย่างไรนั้น Fishgold ขอฝากเรื่องนี้ไว้กับผู้เชี่ยวชาญ

แน่นอนว่าการ plogging ไม่ใช่ทางเดียวที่ทำให้การเก็บขยะกลายเป็นเทรนด์ เพราะล่าสุดมีการส่งคำท้าผ่านแท็ก #TrashTag ซึ่งทำให้มีโพสต์มากกว่า 82,000 รายการใน Instagram ที่ติดแท็ก #TrashTag เนื่องจากกลุ่มคนและชุมชนรวมตัวกันเพื่อลาดตระเวนเก็บขยะตามตรอกและแชร์ผลงานออนไลน์ ทำให้การเก็บขยะเป็นแฟชันที่หลายคนเริ่มทำตาม

ที่มา: : FastCompany