วันที่ 28 สิงหาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ร่วมกันแถลงผลการเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทย 7 สายการบิน
นายกรัฐมนตรีรับ 3 ข้อเสนอของผู้ประกอบการ 7 สายการบิน
1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการสายการบิน ซึ่งได้ประสานไว้กับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ก่อนหน้านี้เป็นหลัก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่า นอกจาก EXIM BANK แล้ว ให้ธนาคารอื่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อให้กระทรวงการคลังเข้ามาดำเนินการต่อได้
2.การขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น อย่างไรก็ตามยังมีเวลาพิจารณา เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันโลกลดลง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายใต้โครงการเราเที่ยวไปด้วยกัน ซึ่งลดหย่อยค่าเครื่องบินเพิ่มจากเดิม 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินไปบางส่วนแล้ว
3.การยกเว้นและการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบิน เช่น พาร์คกิ้งฟรี แลนด์ดิ้งฟรี เซอร์วิสชาร์จต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้โดยสาร และการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรทางอากาศ และเรื่องค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร (International arrival departure free) ไปถึงเดือนมีนาคม 2565 ให้มากกว่าที่ขอ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวก
นายธรรศพลฐ์กล่าวว่า มาตรการซอฟต์โลน 24,000 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี โดยครึ่งหนึ่งของสินเชื่อจะเป็นเงินเดือนของพนักงาน ซึ่งเรารับปากว่าจะไม่ให้พนักงานออก ทั้งนี้ จำนวนพนักงานรวมทั้งหมด 7 สายการบินประมาณ 20,000 คน อีกครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทั่ว ๆ ไป โดยจะนำมาช่วยสายการบินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องได้ 1 ปี
สำหรับคณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทยที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นหนังสือฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท สายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวยส์
อ้างอิง thaipost, ประชาชาติธุรกิจ