Lido โรงภาพยนตร์เก่าแก่ย่านสยามสแควร์ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2511 เรียกได้ว่าเป็น 1 ใน 3 โรงภาพยนตร์เก่าแก่สำหรับวัยรุ่นยุค 90 ประกอบด้วย SIAM, LIDO และ SCALA ที่ดูแลและพัฒนาพื้นที่นี้โดย Apex และเมื่อหมดสัญญาลง สำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU ก็ได้มองหาทีมใหม่ที่จะเข้ามาดูแลพื้นที่แห่งนี้ และตัดสินใจเลือก LOVEis กลุ่มคนดนตรีที่จะมาสัมผัสงานอสังหาริมทรัพย์ ในย่านพื้นที่ที่เรียกว่าแพงที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ ทีมบริหารของ LOVEis ที่จะเข้ามาดูแลประกอบด้วย เทพอาจ กวินอนันต์, บอย โกสิยพงษ์ และนภ พรชำนิ โดยธีมในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ พวกเขา หวังว่าจะปั้นให้เป็น “ที่ปล่อยของ” ทั้งศิลปะวัฒนธรรมและนวัตกรรม ที่นอกจากใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงออกได้แล้ว ยังต้องต่อยอดจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด ด้วยชื่อโครงการคือ Lido Connect
อยากให้เป็นพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์
รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม เล่าว่า ทาง PMCU ต้องการคงอัตลักษณ์ของ LIDO ด้านไลฟ์สไตล์ และมองหาพันธมิตรใหม่ที่เหมาะสม มาทำหน้าที่ส่วนนี้มาโดยตลอด โดยอยากให้เป็นพื้นที่ปล่อยของที่เยาวชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก ซึ่งก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกับหลายกลุ่มและคุยกับ LOVEis มานาน ที่ตัดสินใจเลือก LOVEis เพราะพวกเขามีจุดกำเนิดมาจากสยาม
ซึ่งน่าจะเข้าใจในเรื่องของความต้องการของคนในพื้นที่นี้ ซึ่งเจตนารมย์ของ PMCU ไม่ใช่การ Maximize Profit แต่จะเป็นการเติมเต็มในฐานะ Community ที่เริ่มจากคนดนตรี และขยายไปยังผู้คนกลุ่มต่างๆ ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้าง Content ใหม่ๆ เพื่อเป็น Destination ใจกลางกรุงเทพฯ
LOVEis เกิดจากย่านนี้
เทพอาจ กวินอนันต์ ประธานบริหารกลุ่ม LOVEis Entertainment เล่าว่า เรามองเห็นโอกาสจากพื้นที่นี้มาโดยตลอด มีศิลปินของ LOVEis หลายคนมีจุดเริ่มต้นจากสยาม และเราต้องการให้เป็นพื้นที่ด้าน CSR เยอะๆ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ ออกแบบ การเขียน โบสถ์และการเข้ามารับโปรเจคนี้ เป็นสิ่งที่ดูลงตัว อยากเข้ามามีส่วนร่วม และอยากให้พื้นที่ตรงนี้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ทั้งนี้ LOVEis ต้องการที่จะตกแต่งให้หลากหลาย ในคอนเซ็ปต์ Back to Original นอกจากความสวยงามจากการตกแต่งภายนอก ก็ต้องสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม กับทุกงานกิจกรรม รวมทั้งเตรียมระบบงานส่วนกลาง ทั้งการจองบัตร ประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการ เพื่อให้มีกิจกรรมที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ
รายได้ไม่ใช่ประเด็นหลัก
นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังเห็นตรงกันว่า เรื่องของรายได้ไม่ใช่ประเด็นหลักในการปล่อยพื้นที่นี้ แต่อยากให้มองเรื่องของการนำพื้นที่ไปใช้ในการแสดงออกที่เหมาะสม ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็เข้ามาช่วย ถ้ามีรายได้ค่อยแบ่งกัน ต้องดูว่าสังคมยอมรับแค่ไหน
ทั้งนี้ LOVEis ดูในเรื่องของการตกแต่ง ดีไซน์ โครงสร้างและระบบการใช้งาน ซึ่งเม็ดเงินในการลงทุนปรับปรุงพื้นที่เกือบ 4,000 ตารางเมตร รวม 80 ล้านบาท แบ่งเป็นทรัพย์สินจุฬาฯ ออกเงิน 50 ล้านบาท ส่วนบริษัท เลิฟอิสฯ ออกเงินทุน 30 ล้าน สัญญาเช่าพื้นที่เป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มเปิดให้บริการพฤษภาคม ปี 62
ก็ต้องคอยติดตามกันว่า ใน 5 ปีนี้ พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่ จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ได้เหมือนกับในอดีตหรือไม่ เพราะสยามเหมือนมีทั้งคำสาปและมนต์ขลังไปพร้อมกัน