ไม่แน่ใจเพื่อนๆ thumbsupers เคยได้ยินชื่องาน event ที่ชื่อว่า “Podtalk” กันไหมครับ Podtalk เป็นงานรวมตัวของกลุ่มคนทำ Podcast ในบ้านเรา จัดกันไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เห็นว่าคนที่มาร่วมงาน บ้างก็เป็นคนทำ บ้างก็เป็นคนฟัง แต่รวมๆ แล้วมีคนมาร่วมงานตั้ง 200 คน ผมเองสนใจความเคลื่อนไหวของ Content Creator พอเห็นจัดครั้งแรกคนมา 200 คนเลย ก็เลยอดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่า เอ๊ ก็ Podcast มันตายไปตั้งนานแล้วไม่ใช่หรือ หรือมันจะกลับมาใหม่?
สำหรับคนที่จำไม่ได้ว่า Podcast คืออะไร เราขอทวนความจำกันหน่อย
Podcast คือขั้นตอนของการเผยแพร่เสียง รวมไปถึงการพูดคุย เล่าเรื่อง สนทนาเรื่องต่างๆ ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต มันเริ่มได้รับความนิยมในช่วงปลายปี 2004 โดยผู้รับฟังสามารถสมัครที่จะเลือกรับฟังเสียง หรือเพลง ผ่านไฟล์ MP3 ผ่านทางระบบ feed โดยตัวฟีดนี้จะทำงานอัตโนมัติ เพื่อทำการดาวน์โหลดไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ เข้าสู่ device ของเรา เช่น smartphone, คอมพิวเตอร์
จะว่ากันซื่อๆ ก็คล้ายวิทยุล่ะครับ แต่กดฟังเมื่อไหร่ก็ได้
เอ้าเข้าเรื่องเสียที
สิ่งที่ทำให้ผมสนใจว่า Podcast อาจจะเริ่มกลับมาได้รับความนิยมก็เป็นได้ คือ การรวมตัวกันแบบเล็กๆ ของกลุ่มคนทำ Podcast ที่ชื่อว่า “PodTalk” ที่ TK Park ในงานเท่าที่ผมสอบถามคนที่ไป ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เป็นการจัด Podcast สด เห็นหน้าค่าตากันหมดเลย แต่หลังจากที่คนกลุ่มนั้นรวมตัวกัน มันกลับเป็นการจุดประกายบทสนทนาอะไรบางอย่างเหมือนกัน อารมณ์แบบต่างคนต่างจัด พอมาเจอหน้ากันมันก็กลายเป็น Community ของคนทำ Podcast นั่นเอง
ดูภาพบรรยากาศเบาๆ นะครับ
ขอบคุณภาพจาก @npjtpgfc
ขอบคุณภาพจากยูธูป
พอมีงานนี้ขึ้นมา ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะหาทางพูดคุยกับคนจัด ผมเลยยกหูหา Podcaster 2 คนที่มีส่วนร่วมจัดงาน คนแรกคือ “ยู” กตัญญู สว่างศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Podcast Station “Get Talks” และอีกท่านหนึ่งคือ “แชมป์” ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ที่หลายๆ คนรู้จักเขาจาก The Matter และผลงานก่อนหน้านี้ก็คือ Exteen โดยผมถามถึงความเห็นของพวกเขากับกระแสของ Podcast ที่อาจจะกำลังกลับมา
กตัญญู สว่างศรี – Get Talks
ขอบคุณภาพจากนิตยสาร Way
“ในส่วนของ Get Talks เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 1 ปีที่แล้วครับ เพราะผมได้ยิน พี่อ๋อง วุฒิชัย (วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ บรรณาธิการนิตยสาร a day BULLETIN) กับเพื่อนเขาชื่อบุ๊ย ทำ Podcast “WeSlide Radio” เกิดกระแสคนฟัง วิจารณ์หนัง ผมฟังก็เลยนึกสนุก อยากลองทำบ้าง แต่ทำเป็นแนวทางของผมกับเพื่อนผมชื่อแซม โดยตอนแรกได้ คุณวิชัย มาตกุล เป็นแขกรับเชิญ เป็น Podcast ที่มีแต่คำหยาบเต็มไปหมด แต่สนุกครับ มีแขกรับเชิญเข้ามาร่วมกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนต่อยอดเป็น Get Talks Workshop สอนการพูด จนมาถึงงานนี้ที่ชื่อว่า Podtalks เป็นการพูดคุยอารมณ์ดี เน้นอารมณ์ขัน”
กตัญญูเล่าถึงการกลับมาของ Podcast ว่า Get Talks เป็นเพียงหนึ่งสถานีเท่านั้น แต่ถ้ามองไปรอบๆ เราจะพบ Podcast ที่น่าสนใจของหลายๆ คน อย่างเช่น
- Podcast ของ แชมป์ ทีปกร กับ โตมร ศุขปรีชา ที่ชื่อว่า “Omnivore” ออกแนวความรู้
- Podcast ของ “ปรัชญา สิงห์โต” หรือที่ชาวออนไลน์รู้จักกันในชื่อ @iannnnn ที่ตั้งชื่อว่า “ยูธูป” มาเล่าเรื่องผีแบบสนุกๆ ไม่เหมือนใคร
- Witcast ของ แทนไท ประเสริฐกุล, ป๋องแป๋ง อาจวรงค์ จันทมาศ
- ช่างคุย หนึ่งในรายการที่อยู่มานานมากที่สุดแห่งหนึ่งของบ้านเรา
- Just do it เน้นเรื่องหนัง คนฟังเป็นแสน
- BatCast และ Giraffe Castโดย Natchanon แห่งสำนัก Salmon
- Momentum – รายการ VDO Podcast หลากหลายรายการข้างใน เช่น carpediem รายการ Podcast โดย “โหน่ง วงศ์ทนง” และคอลัมนิสต์ชื่อดังอย่าง “หนุ่มเมืองจันทร์”
ผมคุยกับกตัญญูต่อไปในเรื่องของธุรกิจ การตลาด การประชาสัมพันธ์ ว่าอย่างไรเสีย การจะยืนระยะอยู่ได้ก็จะต้องมีการสนับสนุนจากแบรนด์ เราก็ได้คำตอบว่า เขายอมรับว่ากระแส Podcast ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และต้องการผู้สนับสนุนเช่นกัน อย่าง GetTalks ก็มีคนฟังเฉลี่ยตอนละ 1,500 – 2,000 คน ส่วน “ยูธูป” อย่างน้อยจะมีตอนละ 5,000 คน ซึ่งตอนนี้แม้จะยังเล็กอยู่ แต่กลุ่มคนฟังก็จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และในแพลตฟอร์มอื่นๆ พอเอา content ไปใส่ก็พบว่ามีคนสนใจในหลักแสน
ส่วนทาง “แชมป์” ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ก็ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า “กิจกรรมที่ใช้ “ตาดู” มีเยอะแล้ว แต่กิจกรรมที่ใช้ “หูฟัง” ยังมีไม่เยอะ แล้วทำไมเราไม่ลองทำดูล่ะ?”
“บ้านเรา Podcast ยังถือว่าเป็นกระแสที่เล็กมาก แต่ในต่างประเทศก็มีกระแสกลับมาเพราะรายการอย่าง This American Life ที่มีคนฟังตอนละราว 2.5 ล้านคน และยังมีรายการคุณภาพ TED Radio Hour พอเห็นเมืองนอกมีรายการดีๆ ผมก็เลยอยากทำบ้าง ส่วนตัวแล้วผมมองว่า ในปัจจุบัน ถ้าเราใช้ชีวิตอยู่บนอินเทอร์เน็ต เราจะเห็นได้ว่ามันมีกิจกรรมที่ต้องใช้ “ตามอง” เยอะอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีค่อยมีกิจกรรมที่ใช้ “หูฟัง”
“ในความเห็นของผม Podcast เป็นสื่อที่มีรายละเอียดน้อย แค่มีไมค์ คุยกันก็จัดได้แล้ว ยอดคนฟังในไทยอย่างรายการ Omnivore จะมีราว 3,000 – 4,000 คนต่อเทป รายการอื่นๆ ในบ้านเราก็ประมาณนี้ แต่ทั้งนี้ก็ทำสนุกๆ เหมือนว่าเรื่องธุรกิจยังไม่ได้เกิดเป็นรูปธรรมมากนัก”
จากคำให้การณ์ของ Podcaster คนเก่งทั้ง 2 คน เราอาจจะยังสรุปไม่ได้ 100% ว่า Podcast จะกลับมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างแบบปี 2004 หรือยัง (แม้จะมีกลุ่ม Podcaster กลับมาทำรายการกันอย่างคึกคัก มียอดคนฟังมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ตาม) แต่สิ่งหนึ่งที่สรุปได้เลยก็คือ Content นั้นไม่ว่ามันจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหนก็ตาม หากมันเป็น Content ที่ดี มันจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับแบรนด์ได้อยู่ดี
คำแนะนำเล็กๆ ของผมก็คือ เราไม่จำเป็นต้องรอกระแสก็ได้ แต่แบรนด์ และเอเยนซี่เจ้าต่างๆ อาจลองติดตามดูที่คุณภาพของ Content ของ Podcaster เหล่านี้ในฐานะ Content Creator ก่อน ศึกษาแนวทางหาความเป็นไปได้ในทางร่วมงาน เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราเคยลองกับ Blog และปัจจุบัน Blog ก็กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบของ Content ที่แบรนด์นิยมใช้กันจนถึงทุกวันนี้