เคยไหมสั่งอาหารเดลิเวอร์รี่แล้วแพลตฟอร์มแจ้งว่า หากสั่งซื้ออาหารมูลค่ามากกว่า 150 บาท ส่งฟรี! ทั้งๆ ที่อาหารที่ต้องการสั่งราคา 100 บาทเท่านั้น สุดท้ายยอมสั่งอาหารเพิ่ม 50 บาทเพื่อคำว่า ส่งฟรี
“ฟรี” เป็นกลยุทธ์ทำการตลาดที่ใช้ได้ผลเสมอ เพราะคนเราชอบสิ่งที่ได้มาโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม แต่การใช้คำว่า “ฟรี” ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง หากใช้อย่างไม่ถูกต้องโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์และมุมมองของลูกค้า
ของฟรีที่ไม่ฟรี
ใครๆ ก็ชอบของฟรี เคยสงสัยไหมทำไมแบรนด์ ธุรกิจ หรือร้านค้าต่างๆ ถึงมีของฟรีมากมาย นั่นเป็นเพราะ “ของฟรีไม่มีในโลก” การให้ของฟรีกับลูกค้า ธุรกิจจะได้สิ่งตอบแทนเสมอ
สิ่งที่แบรนด์ต้องคำนึงคือการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ตั้งแต่ขั้นตอนการรับรู้ การค้นหาข้อมูล และการตัดสินใจซื้อ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด
ตัวอย่างเช่น
- แบรนด์ผงซักฟอกแถมฟรีตะกร้าพลาสติกเพื่อทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้ากับแบรนด์ได้ง่ายขึ้นแม้ว่าราคาจะสูงกว่าคู่แข่ง
- แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งให้คนดูละคร ซีรี่ย์ฟรีเพื่อขายโฆษณา
- ห้างสรรพสินค้าให้ลูกค้าจอดรถฟรีเพื่อกระตุ้นให้คนเข้าห้าง
- โปรโมชั่นซื้อสินค้า 2 ชิ้นรับของแถมฟรี แต่ของแถมเป็นสินค้าตัวใหม่ เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองใช้และโปรโมทไปด้วย
- ห้างสรรพสินค้าแจกฟรีคูปองส่วนลดสินค้าสำหรับการซื้อครั้งต่อไป เพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำ
ทั้งนี้ หากแบรนด์ใช้คำว่า “ฟรี” โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ ของแถมไม่ถูกใจ หรือของฟรีไม่มีความจำเป็น สิ่งที่จะแบรนด์จะสูญเสียคือ เวลา เงินทุน และภาพลักษณ์
มุมมองผู้บริโภค
สำหรับผู้บริโภคอาจมองว่าของ “ฟรี” ยังไงก็มีแต่ได้กับได้ ลองคิดดูนะครับหลายครั้งเราก็พบว่าของที่แถมฟรีมักไม่มีคุณภาพ หรือการไปช้อปปิ้งแล้วกลับมาพร้อมของที่ไม่ได้ตั้งใจซื้อเพราะมีของแถม
สุดท้ายของฟรีไม่ใช่ไม่ดี แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นของที่ต้องการรึป่าว ได้มาแล้วเป็นประโยชน์ไหม การได้มามีเงื่อนไขอะไรบ้าง ไม่เช่นนั้นของฟรีอาจ “แพง” มากกว่าการเปรียบเทียบความคุ้มเรื่องราคาเสียอีก
อ้างอิง neurosciencemarketing, thedecisionlab