“งานประชาสัมพันธ์” หรือ Public Relation ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสายงานที่สาวๆ หลายคนฝันหา เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานหน้าตาขององค์กร ทั้งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร เป็นด่านแรกในการแก้ไขปัญหาเมื่อเจอข่าวลือเชิงลบ รวมทั้งต้องช่วยให้ทุกแผนกในองค์กรเชื่อมั่นและสื่อสารสิ่งที่ดีขององค์กรออกไปด้วยความเต็มใจ
แต่หลายคนมักมองว่าเป็น PR หน้าตาต้องสวย งานไม่ต้องทำเยอะ เพราะเป็นแค่หน้าตาขององค์กร แต่ความเป็นจริงแล้วงาน PR มีรายละเอียดของงานที่ต้องทำเยอะมาก รวมทั้งต้องเป็นคนใส่ใจในผู้อื่น เพราะต้องทำงานร่วมกับทีมบริหาร ผู้สื่อข่าว ลูกค้าหรือแผนกงานต่างๆ คนทำงานจึงต้องรอบคอบ วางแผนให้รอบด้านเพื่อลดโอกาสผิดพลาดในการสื่อสาร ถือว่าเป็นตำแหน่งตัวกลางขององค์กรที่สำคัญมาก
ทาง JC&CO จึงได้รวบรวม 8 ทักษะเพื่อเป็นคู่มือสำหรับการเช็คลิสต์ เตรียมความพร้อมสำหรับคนที่อยากทำอาชีพนี้
- Communication Skill : ทักษะการสื่อสาร ถือเป็นทักษะสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ควบคู่กัน การจะเป็นพีอาร์ที่ดี ความท้าทายอยู่ที่ การทำให้ทุกคนรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องตามเป้าหมายที่ต้องการนำเสนอ
- Co-operation : ทักษะการประสานงาน การทำงานของพีอาร์ในแต่ละโปรเจคนั้น มีลักษณะเหมือนโครงข่ายใยแมงมุม ที่เชื่อมโยงและส่งผลต่อกันทุกภาคส่วน ดังนั้น การจะเป็นพีอาร์มือโปร ต้องประสานงานได้คล่อง-เก่ง-ไว
- Curiosity : ความใฝ่รู้ เป็นพีอาร์ต้องรู้ทุกเรื่อง แสวงหาความรู้ตลอดเวลา ทันเหตุการณ์ เพื่อนำความรู้มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน ซึ่งจะทำให้เราแก้ปัญหาได้อย่างเฉียบขาดอย่างมืออาชีพ
- Media Knowledge : ความรอบรู้เรื่องสื่อ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พีอาร์ “ต้องรู้” เพราะสื่อมวลชนเป็นคนกลางที่จะช่วยส่งต่อข่าวสารไปยังสาธารณชน ดังนั้น พีอาร์ต้องรู้เรื่องแบรนด์เป็นอย่างดี เพื่อตอบคำถามได้ หากคุณไม่รู้ในเรื่องนั้นจริงๆ ก็ต้องหาตัวช่วยหรือปรึกษาทีมให้ไวเพื่อแก้ปัญหาได้ทันท่วงที
- Creativity : ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นพีอาร์หรืองานสาขาไหนในปัจจุบัน ต่างก็ต้องการความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ยิ่งสามารถพัฒนาได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มความปัง เพราะคงไม่มีใครอยากนำเสนอเรื่องเดิม ในรูปแบบเดิมๆ เสมอไป
- Service Mind : ใจรักบริการ งานพีอาร์นั้น จะต้องสนับสนุนกิจกรรม หรือการสื่อสารขององค์กรอยู่เสมอ ดังนั้น การทำงานด้วยหัวใจ จริงใจในการให้การบริการ จะสร้างความประทับใจ และความทรงจำที่ดีให้กับทุกคน
- Problem Solving : ความสามารถในการแก้ปัญหา แม้จะสามารถวางแผนจัดการได้แต่ดีแค่ไหน แต่ว่าในการทำงานนั้น ปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอ พีอาร์ที่ดี ต้องสามารถผ่านไปได้ในทุกๆอุปสรรค์ที่เกิดขึ้น
- Adaptability : ความยืดหยุ่น และปรับตัวอยู่เสมอ เพราะทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ พีอาร์มือโปร ต้องสามารถอยู่ให้ได้ดีในทุกๆ สถานการณ์
สำหรับทักษะต่างๆ ที่กล่าวมานั้น หากคุณสามารถทำได้ก็จะช่วยให้คุณรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างรอบคอบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาชีพพีอาร์เท่านั้น ไม่ว่าคุณจะทำตำแหน่งหรืออาชีพใด แต่หากมีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และปรับตัวอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้คุณมีหลักการทำงานที่ดีในระยะยาวและทำงานได้ทุกสถานการณ์เช่นกัน