เคยเป็นกันไหมคะเวลาที่ต้องขึ้นพูดเพื่อพรีเซ้นต์งาน เหงื่อจะเริ่มออกตามแผ่นหลัง มือไม้จะเริ่มสั่นเพราะความตื่นเต้น มาวันนี้เรานำบทความเกี่ยวกับการเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อต้องขึ้นพูดบนเวทีหรือพรีเซ็นต์งานมาฝากกันค่ะ
โดย Shoptalk ได้เก็บข้อมูลจากคนที่มีประสบการณ์ต้องขึ้นพูดบนเวทีหรือเคยล้มเหลวกับการพูดมาก่อนว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร ซึ่งกลุ่มทดลองยอมรับว่าถึงจะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ต้องพูด มักมีความวิตกกังวลสูง และเริ่มเรียบเรียงไม่ถูก จนถึงไม่รู้ว่าตัวเองกำลังพูดอะไรออกไป และนี่จะเป็นตัวช่วยให้คุณลดความประหม่าไปได้ค่ะ
1. ผู้ฟังเป็นใคร
เราต้องรู้ก่อนว่าคนที่เราจะต้องสื่อสารด้วยเป็นใครเพื่อการกำหนดเนื้อหาและคำพูดให้ไม่น่าเบื่อรวมทั้งมองดูผู้ฟังว่าเขารู้สึกเบื่อกับเรื่องที่เรากำลังพูดหรือไม่เพราะบางคนอาจพูดหลายเวทีถ้าพูดซ้ำกันก็อาจไม่น่าสนใจที่จะต้องทนฟังซ้ำอีกหลายรอบดังนั้นการพูดต้องมีลูกเล่นให้เหมาะกับวัยของผู้ฟัง
ยกตัวอย่างเช่นหากคุณต้องพูดเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกและเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจของคุณอาจไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะฟังว่าทำไมเราถึงประสบความสำเร็จได้เพียงแง่มุมเดียวแต่การแชร์ประสบการณ์ที่น่าสนใจว่าคุณเคยพลาดอย่างไรเขาจะนำไปเป็นบทเรียนและปรับใช้กับธุรกิจไม่ให้พลาดอย่างไรนี่สิถึงจะน่าสนใจกว่า
2. ปฏิบัติจนกว่าจะสำเร็จ
ไม่ต้องใช้กระดาษจดโน้ตทุกคำพูด คุณไม่ได้กำลังกล่าวปาฐกถาบนเวที แค่ใช้กระดาษช่วยเรียบเรียงสิ่งที่คุณจะพูดก็พอ ก่อนจะพรีเซ้นต์งาน ลองทวนประโยคหรือใจความสำคัญล่วงหน้าสัก 10-20 ครั้ง เพื่อให้เรียงลำดับสิ่งที่จะพูดในหัวก่อน จากนั้นก็ลองพูดทวนหน้ากระจกดังๆ (ที่บ้าน) เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองกำลังพูดอะไรอยู่สิ่งสำคัญคือต้องมีการปรับคำพูดให้เข้ากับสถานการณ์บ้าง
หากสิ่งที่คุณพูดประทับใจผู้ฟังและพวกเขาชอบ ลองพูดเรื่องที่คล้ายๆ หรือยกตัวอย่างสักนิด เพื่อให้ฟังแล้วอินกว่าเดิม จากนั้นค่อยกลับเข้าประเด็นใจความสำคัญหรือลองถามคำถามให้ผู้ฟังตอบ จะได้แชร์บางข้อมูลลดความตื่นเต้นได้สักหน่อยค่ะ
3. เป็นตัวของตัวเองบนเวที
การที่คุณเกร็งหรือพูดแบบแข็งๆ จนเกินไป ทำให้คนฟังรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมชาติของคุณ ทำให้ดูน่าเบื่อ แม้ว่าไม่มีใคร “สมบูรณ์แบบ” บนเวที แต่ถ้าคุณตื่นเต้นจนพูดไม่รู้เรื่อง หรือพูดเบาจนฟังไม่ออกว่ากำลังบ่นใคร การตอบสนองของผู้ฟังอาจจะเป็นการเดินออกจากห้องไปเลยก่อนที่คุณจะพรีเซ้นต์จบ ดังนั้น คุณต้องนึกอยู่เสมอว่า เมื่อก้าวขึ้นไปบนเวทีแล้วต้องรู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุกและสบาย ไม่เครียดจนเกินไป เพราะถ้ากังวลอาจเกิดเรื่องผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ จนลืมใจความสำคัญไป คิดเสียว่าคุณต้องเป็นตัวของตัวเอง เหมือนกำลังคุยกับเพื่อน บอกเล่าให้คนใกล้ชิดฟัง จะได้ลืมความกลัวในใจลงได้
ที่มา : Inc.