ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซของปี 2019 เมื่อเทียบกับภาพรวมตลาดของทั่วโลกพบว่าในปี 2019 ประเทศไทยยังมีมูลค่าตลาดไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศจีนมีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลกคือ 25% ตามมาด้วยอังกฤษและเกาหลีใต้ อยู่ที่ 22% ส่วนไทยปีที่แล้ว อยู่ที่ 3% แสดงว่า 97% ของนักช้อปชาวไทยยังซื้อจากออฟไลน์ แต่ในปี 2020 ภาพรวมอีคอมเมิร์ซคาดว่าจะอยู่ที่ 4-5%
นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจคาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดในช่องทางอีคอมเมิร์ซได้ 163,300 ล้านบาท โดยเป็นตัวเลขที่โฟกัสเฉพาะธุรกิจที่จับต้องได้ อย่างสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค ไม่รวมดิจิทัลคอนเทนต์ และท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2020 คาดว่าจะเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้น 35% ทำได้ถึง 220,000 ล้านบาท จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 (COVID-19)ในประเทศไทย ผลักผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
เมื่อเทียบสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านช่องทางต่างๆ พบว่าในปี 2018 คนเข้าใช้งานช่องทางโซเชียลมีเดียเยอะสุดถึง 40% ตามมาด้วยอีมาร์เก็ตเพลส 35% อีเทรลเลอร์หรือแบรนด์ 25% แต่ในปี 2020 นี้ คนใช้จ่ายผ่านอีมาร์เก็ตเพลสเพิ่มขึ้นเป็น 47% ตามมาด้วยโซเชียลมีเดีย 38% ส่วนอีเทรลเลอร์หรือแบรนด์ที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 25% กลับลดลงเหลือเพียง 15% เท่านั้น
เมื่อวิเคราะห์ถึงแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมเข้าใช้งานมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญคือ Nocnoc แพลตฟอร์มซื้อสินค้าเกี่ยวกับบ้านของทาง SCG ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดไม่น่าและมีการเติบโตอย่างจริงจัง ทำให้ส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มแพลตฟอร์มพุ่งสูงขึ้น
และเมื่อเทียบการใช้งาน e-marketplace เจ้าตลาดอย่าง Shopee และ LAZADA กลับพบว่า ตัวเลขห่างกันถึง 8% แม้จะดูไม่เยอะแต่ถ้าเทียบกันที่เม็ดเงินก็คงเยอะอยู่ ซึ่งตัวเลขนี้เป็นข้อมูลที่ ETDA เก็บมาจากการใช้งานของผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มใดมากที่สุด แต่ทางแพลตฟอร์มเองไม่เปิดเผยข้อมูลทางการค้าและเม็ดเงินรายได้ที่แท้จริง ทำให้ไม่ทราบว่าตัวเลขรายได้และส่วนแบ่งตลาดของทั้งคู่นั้น เฉือนกันตามนี้จริงหรือไม่
ตามมด้วยการซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Social Commerce พบว่าในปี 2019 เฟซบุ๊กยังคงครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดเป็น 42% ตามมาด้วย LINE, INSTAGRAM และ Twitter ตามลำดับ อาจเพราะจำนวนเพจและการสื่อสารด้วย LIVE และรีวิวสินค้าส่วนใหญ่ยังมีการพูดคุยกันผ่านเฟซบุ๊กมากที่สุดทำให้มีโอกาสในการขายที่ดีมากขึ้น ส่วนการเปิดตัว Facebook Commerce ยังต้องรอติดตามว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโซเชียลมีเดียรายใหญ่รายนี้ได้หรือไม่
ทางด้านของสินค้าขายดีของปี 2020 สินค้าสายสุขภาพมีการเติบโตขึ้นมากที่สุด 34% เท่ากับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยสินค้าด้านสุขภาพและความงามที่ขายดีนั้น หมายรวมถึง หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอลล์ ปรอทวัดไข้ น้ำยาฆ่าเชื้อโรคและยาฟ้าทะลายโจร เป็นต้น อาจเพราะสินค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคเชื่อว่าจะช่วยเรื่องการป้องกันโควิด-19 ทำให้ตั้งแต่ต้นปีมา สินค้าเหล่านี้ขายดีมาก ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านก็เติบโตดีมาก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องฟอกอากาศ เครื่องดูดฝุ่น (อันนี้ระบุรุ่นได้เลยนะคะ นั่นคือ Xiaomi Deerma ที่ไว้ใช้ดูดฝุ่นที่นอน ยอดขายดีมาก) เครื่องซักผ้า เป็นต้น
ส่วนกลุ่มสินค้าที่ยอดขายลดลงนั้น ได้แก่ สินค้าประเภทอุปกรณ์สื่อสาร กีฬา เสื้อผ้าแฟชั่นและยานพาหนะ ที่เห็นได้ชัดคือสินค้าประเภทรองเท้ากีฬาที่ปี 2019 ยอดนิยมมาก เกือบเรียกว่าเป็นสินค้าที่ต่างคนต่างก็ต้องมี Nike – Adidas นี่เรียกว่าครองตลาดรองเท้ากันสุดๆ
ด้วยอัตราการเติบโตมากขึ้นของปี 2020 ทำให้อีคอมเมิร์ซจะไม่ใช่แค่ทางเลือกในการขายสินค้าอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นช่องทางหลักในการใช้จ่ายและพฤติกรรมคนใช้จ่าย จะกลายเป็นแบบออมนิแชนแนล นั่นคือจะเริ่มค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะช่วงโควิดพวกเขาเรียนรู้มาแล้ว
แต่ก็ไม่ใช่ว่าห้างสรรพสินค้าหรือช่องทางออฟไลน์จะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภค ไม่สนใจแล้ว แต่จะเลือกซื้อตามช่องทางที่สะดวก เพราะวิถีชีวิตคนไทยยังใช้ชีวิตกับห้าง ดังนั้น เจ้าของธุรกิจควรพิจารณาอัตลักษณ์ของสินค้าของตนเองให้ดี ถ้าพฤติกรรมของลูกค้าของคุณ ยังซื้อผ่านออฟไลน์ช่องทางเดิมยังดีอยู่เขาก็จะยังเดินมาหน้าร้านเพื่อซื้อสินค้าของคุณ
เพียงแค่ออนไลน์มีต้นทุนน้อยและมีโอกาสเติบโตสูง และอีคอมเมิร์ซก็จะไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด ในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ จะเห็นธุรกิจสองด้านคือ ปรับตัวได้ไม่ดีนัก คือไม่ได้สร้างดิจิทัลแอสเซท (ฐานลูกค้าบนช่องทางออนไลน์ของเขา ทำให้ปรับตัวไม่ทัน และเสียโอกาสทางการขายอย่างมาก) กับธุรกิจที่เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดจากที่เป็นโนเนมมาก่อน ดังนั้น หากเจ้าของธุรกิจรู้จักปรับตัวให้ดีตามสถานการณ์ก็ย่อมมีโอกาสเติบโตได้
ส่วนรายได้ของทางไพร์ซซ่านั้น เชื่อว่าจะมีโอกาสเติบโต 50% รายได้มาจากโฆษณาผ่านทางไพร์ซซ่าเป็นหลัก ด้วยความที่เราเป็นผู้ให้บริการ Multi-Channel E-commerce Platform ที่ช่วยให้ธุรกิจออนไลน์สามารถเพิ่มยอดขายออนไลน์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด19 ได้มีบทบาทร่วมช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตราการปิดห้าง-ศูนย์การค้า
อาทิ เครือเซ็นทรัล (Central Online, Tops, Powerbuy)แม็คโคร Makro, Index Living Mall, HomePro , Advice, นายอินทร์ (Naiin), Sound Proof Bro และ Nadz โดยไพรซ์ซ่าได้ช่วยดันยอดขายออนไลน์ให้เติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ทดแทนรายได้ออฟไลน์ที่หายไปสินค้าของผู้ประกอบการ นอกจากจะปรากฎบนเว็บไซต์ไพรซ์ซ่าแล้ว ยังได้รับการโปรโมทไปกับพันธมิตรของไพรซ์ซ่า ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์รีวิวสินค้า, Youtubers, Facebook Influencers ต่างๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มโอกาสขายสินค้าให้ได้มากขึ้น