หากมองในภาพรวมแล้ว อาจกล่าวได้ว่า การเปิดศักราชใหม่สู่ปี 2017 นี้มีแต่เทรนด์ที่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะในวงการ E-Commerce ที่หลายฝ่ายหลายสถาบันต่างหมายมั่นปั้นมือว่าจะผลักดันตลาด E-Commerce ไทยให้รุ่งให้ได้ โดยเราจะสังเกตได้ถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ – นวัตกรรมทางการเงินของค่ายต่างๆ ไล่เรียงกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มาจนถึงช่วงต้นปีที่อุณหภูมิของตลาดนี้ร้อนกันสุด ๆ
ไม่เฉพาะเครื่องไม้เครื่องมือที่มีมาให้ใช้งานกันหลากหลายค่าย แต่ในเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยในเวที “Get Ready for E-Commerce Trends 2017” ซึ่งจัดโดย Priceza.com ผู้ให้บริการเครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) ก็มีการรวบรวมคำแนะนำดี ๆ จากกูรูในวงการเกี่ยวกับเทรนด์ธุรกิจ E-Commerce ของไทยปี 2017 มาฝากเช่นกัน พร้อมแนวโน้มการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปี 2016 เลยทีเดียว
คำแนะนำดี ๆ เริ่มจาก คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza.com ที่เผยว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยทุกวันนี้ไม่ได้เลือกซื้อสินค้าที่ราคาถูกเสมอไป ตรงกันข้ามกลับเลือกซื้อสินค้าที่ดี มีคุณภาพ และมีความน่าเชื่อถือเป็นหลัก ซึ่งคุณธนาวัฒน์มองว่าสิ่งที่จะทำให้ตลาด E-commerce ไทยมีความแข็งแกร่ง และเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ประกอบด้วย
- การเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น
- การพัฒนาและลงทุนในระบบ E-payment ในแพลตฟอร์มต่างๆ
E-Wallet จะแพร่หลายเหมือนตู้ ATM
ด้านนายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ให้ภาพรวมของธุรกิจออนไลน์ว่า
- สัดส่วนยอดขายธุรกิจออนไลน์ของไทยนั้นอยู่ที่ 2 – 3% เมื่อเทียบกับค้าปลีก ซึ่งยังถือว่าน้อยมาก
- ธุรกิจนี้สามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 10
- คาดว่าใน 3-4 ปีข้างหน้า ทั้งบริการ E-wallet และ E-money จะขยายตัวมากขึ้น โดยโทรศัพท์มือถือจะเปลี่ยนเป็นประเป๋าเงินของผู้บริโภคแทนการใช้เงินสด
- ร้านค้าปลีกต้องปรับตัว
- การปลดล็อคในเรื่องของค่าธรรมเนียมการใช้บริการจะยิ่งเป็นตัวสนับสนุนธุรกิจ E-Commerce ให้เติบโตได้มากยิ่งขึ้น
นายธรินทร์ ธนียวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิรูปการพาณิชย์ระดับภูมิภาค Lazada Group ระบุว่าการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาใช้ระบบ E-payment มาขึ้นนั้น จะต้องดำเนินการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมและผลักดันอยู่ในขณะนี้
“วันนี้ 7 – 11 เริ่มรับ Alipay แล้ว ตอนนี้คนจีนซื้ออะไรก็ใช้ Alipay ทั้งหมด ดังนั้น ในปีนี้ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจกับเรื่องของ Social Commerce ผ่าน facebook หรือ instagram เพราะมีผลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค”
ปีแห่งการสร้างประสบการณ์
นายธนานันท์ อรุณรักษ์ติชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวเสริมว่า คนรุ่นใหม่ในวัย Gen-M ที่นิยมการซื้อขายบนโลกออนไลน์จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยขยายตัวตามที่คาดไว้ แต่การที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในเมืองไทยนั้นจะต้องทำให้เรื่อง E-wallet และ E-money เป็นเรื่องง่ายและปลอดภัยเหมือนกับการใช้งาน Internet Banking ก็จะสามารถกระตุ้นให้ระบบ E-payment ของไทยได้รับความนิยมมากขึ้น โดยคุณธนานันท์ให้ข้อควรพิจารณาเอาไว้ว่า
- ผู้ประกอบการร้านค้าต้องปรับตัวและเข้าไปอยู่ในหัวใจของลูกค้าให้ได้ว่า ลูกค้าของเราต้องการและอยากจะได้อะไร
- ปีนี้เป็นปีแห่งการเลือกสินค้าและสร้างประสบการณ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
- พฤติกรรมลูกค้ายุคใหม่ตัดสินใจเลือกซื้อจากการรีวิวหรือดูจากประสบการณ์ของกลุ่มผู้ใช้สินค้าเป็นหลัก และพยายามมองหาความเป็นตัวตนของตนเองที่มากขึ้น
ด้าน นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิลยู จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่า ในกลุ่มธุรกิจ Marketplace จะมีการลงทุนอีกระลอก ถ้าเราสามารถพาตัวเองหรือสินค้าของเราเข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ก็จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการร้านค้าที่จะได้รับประโยชน์จากจุดนั้น
“เชื่อว่าในปีนี้เรื่องของระบบ E-payment ที่เข้ามารวมไปถึงการพัฒนาระบบ Logistics ที่รวดเร็วจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อีคอมเมิร์ชของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้การเข้ามาขยายการลงทุนของ Market place ยักษ์ใหญ่หลายๆ ราย ก็จะเป็นโอกาสและช่องทางในการขายสินค้าให้กับร้านค้าต่างๆ เพิ่มมากขึ้น” CEO Priceza กล่าวสรุป