ใครที่ติดตามข่าวสารในประเทศไทยช่วงนี้ นอกจากจะหดหู่ใจกับปัญหาน้ำท่วมภาคใต้แล้ว ข่าวอาชญากรรมของบ้านเราก็น่าสลดไม่แพ้กัน เช่น ข่าวของอาชญากรรายหนึ่งที่ก่อคดีฆ่าเพื่อชิงไอโฟน แถมเจ้าตัวยังเผยหลังจากถูกจับว่า ถ้าเจ้าของเครื่องไม่ขัดขืนก็คงไม่ต้องเสียชีวิตแบบนี้
เมื่อสืบประวัติของผู้ต้องหาก็พบเรื่องที่อึ้งยิ่งกว่า เพราะผู้ต้องหารายนี้เดินเข้าออกคุกเป็นว่าเล่น ตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกาก็พบแนวโน้มของคนที่เคยติดคุกมาแล้ว และเมื่อพ้นโทษออกมาได้ไม่นานก็มีโอกาสที่จะกระทำผิดใหม่ และถูกจับเข้าคุกใหม่ “เพิ่มสูงขึ้น” เช่นกัน นั่นจึงนำไปสู่โครงการพัฒนาเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักโทษในเรือนจำด้วย Virtual Reality ออกมาในชื่อ Virtual Rehab
โดย Virtual Rehab Project นี้จะเป็นการให้เล่นบทบาทสมมติแบบ Interactive โดยให้นักโทษได้สัมผัสประสบการณ์ของเหยื่อผู้ถูกกระทำบ้าง เพื่อหวังให้นักโทษได้เห็นภาพอย่างที่เหยื่อเห็น จะได้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจในความหวาดกลัวของผู้ตกเป็นเหยื่อด้วย
นอกจากนั้นในโปรแกรม Virtual Rehab นี้ยังมีคอร์สให้ความรู้ ฝึกอาชีพต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้นักโทษสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้หลังจากพ้นโทษ
ทั้งนี้ สถิติเดิมของสหรัฐอเมริกานั้นพบว่า 2 ใน 3 ของนักโทษจะถูกจับเพราะกระทำความผิดอีกครั้งภายใน 3 ปีหลังได้รับการปล่อยตัว ซึ่งสหรัฐอเมริกาคาดว่าโปรแกรมดังกล่าวจะสามารถลดจำนวนนักโทษที่ต้องเดินกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งลงได้
ในความเป็นจริง เทคโนโลยีเหล่านี้อาจดูเหมือนจำเป็น และมีบทบาทต่อการปรับพฤติกรรม แต่ตัวผู้เขียนเชื่อว่า ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อครั้งที่อาชญากรเหล่านี้เป็นเด็ก ก็น่าจะเคยตกเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำมาก่อนจากคนรอบข้างเช่นกัน สิ่งที่เขาแสดงออกอย่างโหดร้ายในวันนี้ จึงอาจมาจากภาพความหลังในวัยเด็กที่อาจถูกกระทำทารุณ และไม่ได้รับความรักอย่างเพียงพอ ดังนั้นแล้ว การใช้เทคโนโลยีกับผู้มีปัญหาทางจิตใจจึงอาจเป็นเรื่องที่ต้องระวังยิ่งกว่า
ที่มา: virtualrehab