จากการสำรวจความเห็นของนักการตลาดผู้ตัดสินใจซื้อโฆษณา programmatic มากกว่า 400 คน พบว่าส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องข่าวปลอมหรือ fake new ที่อาจมีผลกระทบต่อการโฆษณา programmatic advertising โดยราว 1 ใน 3 มีแผนลดงบซื้อโฆษณาเพื่อตัดปัญหาเว็บไซต์หรือเนื้อหาที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อแบรนด์
การสำรวจความเห็นนี้รวบรวมจากกลุ่มผู้ใช้บริการ Yahoo BrightRoll ซึ่งพบว่า 96% ของกลุ่มตัวอย่าง 400 คนมีความกังวลเรื่อง fake news ในการลงโฆษณา programmatic advertising หรือโฆษณาที่ใช้เครื่องมือซอฟต์แวร์ในการซื้อขาย ซึ่งนักโฆษณาไม่ต้องโทรไปจอง ต่อรองและซื้อขาย แถมยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มได้ดีกว่า ทำให้แม่ลูกอ่อนสามารถเห็นโฆษณาผ้าอ้อมสำเร็จรูป หรือคุณผู้ชายที่จะได้เห็นโฆษณารถหรู
การซื้อผ่านโปรแกรมนี้ทำให้หลายแบรนด์กังวลว่า โฆษณาของตัวเองจะไปปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ที่แสดงเนื้อหาที่อาจทำให้เข้าใจผิด (misleading content) โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ข่าวปลอมแพร่ระบาดหนักจนทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องหาทางปราบปราม แต่ความกังวลก็ยังคงอยู่เพราะ 31% ของนักโฆษณา programmatic ระบุว่าจะลดงบซื้อโฆษณาลง
สัดส่วน 31% นี้คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ราว 1 ใน 3 ซึ่งราว 43% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าจะแบล็กลิสต์หรือขึ้นบัญชีดำเว็บไซต์ผู้เผยแพร่ข่าวลวงอย่างจริงจัง ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 16% เท่านั้นที่ระบุว่าจะจัดการตัดงบผู้เผยแพร่ข่าวปลอมแบบเป็นกรณีไป โดย 11% บอกว่าจะยังลงทุนซื้อโฆษณา programmatic ต่อไปแม้ปัญหาข่าวปลอมจะยังมีอยู่
กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มหลัง (16% และ 11% ที่ยังไม่ตัดงบโฆษณาทันที) ถือเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด โดยการสำรวจพบอีกว่านักการตลาดส่วนใหญ่ (55%) จะกดดันพันธมิตรเทคโนโลยีโฆษณามากขึ้นเพื่อให้การคัดกรองข่าวปลอมทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ 41% จะใช้การกำหนดเป้าหมายที่ละเอียดมากขึ้น
นักการตลาด 35% ระบุว่าจะหันมาลงโฆษณาเฉพาะ “whitelist” หรือรายชื่อเว็บไซต์ปลอดภัย และ 27% จะเปลี่ยนรูปแบบการซื้อโฆษณาจากแบบเปิดเป็นแบบปิดที่มีการกำหนดเงื่อนไขมากขึ้น และมีเพียง 8% เท่านั้นที่วางแผนไม่ดำเนินการใด
ที่มา: MarketingDive