แนะนำ startup วันนี้ไม่ได้เป็นการแนะนำ “บริษัท” เกิดใหม่ แต่เป็นการแนะนำ “องค์กรไม่แสวงหากำไร” เกิดใหม่ ที่มาพร้อมกับคมความคิดใหญ่ๆ เพื่ออาชีพนักดนตรี อย่าง PublicRecords.org ใครที่รักดนตรีอาจจะสนใจกันครับ
อย่างที่เราทราบกันดีว่าอินเทอร์เน็ตมีทั้งคุณและโทษกับอุตสาหกรรมดนตรี ข้อดีก็คือมันทำให้ศิลปินรายใหม่ๆ แจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว (ดูอย่างกรณีของ Rebecca Black ที่ดังไปทั่วโลกทาง YouTube ก็น่าจะชัดเจน) แต่มันก็มีข้อเสีย นั่นคือผลงานของศิลปินที่เคยขายในรูปแบบซีดีหรือเทปคาสเซ็ตต์ก็ไม่สามารถขายได้ต่อไป เพียงเพราะคนดาวน์โหลดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ฟรี หรือไม่ก็แค่กดดูใน YouTube
Public Records จึงกำลังก่อร่างสร้างตัวอยู่ และจะเริ่มดำเนินการในเดือนสิงหาคมปีนี้ในรูปแบบขององค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ตั้งใจที่จะสร้างเป็น “ชุมชนออนไลน์สำหรับนักดนตรีอินดี้” เพื่อให้ทุกๆ คนในแวดวงดนตรีไว้สานประโยชน์ร่วมกันหลายๆ อย่าง
สิ่งที่ Public Records ทำก็คือพยายามสร้าง Ecosystem ใหม่เข้ามาแทนที่ค่ายเพลงแบบเดิมๆ ด้วยการสร้างชุมชนออนไลน์ที่จะเต็มไปด้วย 1.แฟนเพลง 2.วงดนตรี และ 3. นักธุรกิจที่อยู่ในแวดวงดนตรี โดย Public Records จะทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ผสานประโยชน์ทั้ง 3 ฝ่าย ทำให้คนทั้ง 3 กลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันผ่านชุมชนออนไลน์ที่เป็นการกุศลแห่งนี้… ดูหน้าตาเว็บกันหน่อย
สมาชิกแต่ละคนจะสามารถ “Follow” วงดนตรีที่ตัวเองชอบ และติดตามแบบอัพเดตความเคลื่อนไหวของวงดนตรีที่ตัวเองชอบ เช่น ตอนนี้ทำเพลงในอัลบั้มใหม่ไปถึงไหนแล้ว จะมีคอนเสิร์ตใหม่ที่ไหน เมื่อไหร่ โดยวงดนตรีและบริษัทผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถอัพเดตฟีดข่าวของตัวเองเข้าไปในแพลตฟอร์มการกุศลนี้ได้ และแชร์ share ออกไปทาง Social Media ตัวอื่นๆ อย่าง Facebook, Google+ ได้ด้วย
ดูเผินๆ เหมือนมันจะไม่มีอะไรแตกต่างกับที่ Myspace เคยพยายามจะทำกับวงดนตรีต่างๆ แต่คอนเซ็ปต์ที่แตกต่างของ Public Records ก็คือชุมชนนี้ไม่แสวงหาผลกำไร และมันจะถูกควบคุมโดยสมาชิกทุกคน ซึ่งสมาชิกในเว็บจะมีหน้าที่ในการเลือก “ผู้อำนวยการชุมชน” ขึ้นมาทำหน้าที่สร้างชุมชนคนรักดนตรี ตั้งเป้าหมาย และกลยุทธ์ในการรวมตัวกัน โดยชุมชนที่รวมตัวกันนี้จะช่วยเหลือศิลปินในหลายๆ ทาง เช่นการให้ความช่วยเหลือในเรื่องการผลิต (อย่างเช่น ศิลปิน ต้องการเครื่องดนตรี ก็มีให้ยืม หรืออยากได้ใครมาร่วมแจมในอัลบั้มก็มาคุยกัน) รวบรวมเงินช่วยเหลือ (ทำการระดมทุนออนไลน์) การจัดจำหน่าย ประชาสัมพันธ์ ช่วยจัดตารางทัวร์ให้ ฯลฯ
ดังนั้นสมาชิกทุกคนจะต้องร่วมกันดูแลเว็บไซต์ ทุกๆ คนจะเข้ามาช่วยเหลือกัน โดยบางคนอาจจะต้องจ่ายเงินพิเศษสำหรับสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ตัวเองจะได้ เช่น ศิลปินสามารถอัพโหลดไฟล์เพลงและมิวสิควิดีโอต่างๆ แฟนเพลงสามารถดาวน์โหลดไฟล์เพลงใหม่ๆ ได้ ฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งได้ หรือแม้กระทั่งระบบการขายเพลงของศิลปิน
ตรงการรวบรวมหาเงินช่วยเหลือนี่เองที่น่าสนใจ แผนของ Public Records ก็คือการระดมเงินทุนกันภายในชุมชนคนรักดนตรี ผ่านทางโฆษณาออนไลน์ เงินที่ได้จากค่าสมาชิก และค่าธรรมเนียมอื่นๆ โดยตัวบริษัทเองจะอยู่ในรูปแบบไม่แสวงหาผลกำไร? ดังนั้นเงินที่เข้าไปทั้งหมดจะกลับไปที่ชุมชนออนไลน์เพื่อทำให้นักดนตรีสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ต่อไป
ณ ตอนนี้ PublicRecords.org ยังอยู่ในช่วงทดลองใช้งาน และในเดือนสิงหาคม ทางเว็บไซต์จะเปิดให้ทางวงดนตรีอัพโหลดดนตรี รายละเอียดเกี่ยวกับคอนเสิร์ต รวมทั้งเปิดให้แฟนเพลงสร้างรายชื่อเพลงที่ตัวเองชอบได้ และคนที่เข้าไปในเว็บบ่อยๆ ก็จะได้ผลตอบแทนในรูปแบบเงินตราเสมือน ที่เรียกว่า ?Notes? โดยสมาชิกสามารถใช้ “Notes” ในการซื้อของในเว็บได้ เช่น เพลง, ตั๋วคอนเสิร์ต และอื่นๆ ผ่านทางระบบอีคอมเมิร์ซในเว็บ
นอกจากนี้ในเว็บยังจะมีระบบ Virtual promoter (ที่ทำหน้าที่จัดเตรียมวงดนตรี และระบบอัตโนมัติในการจองตั๋วคอนเสิร์ต) และยังมีระบบ social advertising ที่เปิดให้ศิลปินหรือโปรโมเตอร์สามารถซื้อพื้นที่โฆษณาบนหน้าเว็บได้ เช่น ศิลปินอยากโฆษณาเพลงใหม่ของตัวเองก็มาซื้อได้) รวมถึงชาร์ตเพลงยอดนิยมของศิลปินอินดี้ทั้งหลายด้วย
สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ตอนท้าย ด้วยชุมชนออนไลน์ PublicRecords.org นี้จะยังประโยชน์ให้คนทุกฝ่ายคร่าวๆ ดังนี้
1. แฟนเพลง – ติดตามได้ละเอียดว่าศิลปินที่ตัวเองชอบทำอะไรถึงไหนแล้ว และถ้าอยากจะได้ผลงาน ถึงจะหยุดซื้อซีดีกันแล้ว แฟนเพลงอาจจะยังโอเคที่จะซื้อเพลงด้วยการดาวน์โหลด หรือซื้อซีดีชุดที่ชอบจริงๆ ก็ทำได้ผ่านระบบใน PublicRecords นี้ แถมสมาชิกบางคนยังสามารถดาวน์โหลดเพลงหรือภาพพิเศษของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบได้ด้วยถ้าหากยอมจ่ายเงินเป็นค่าบริการที่ไม่แพงเกินไปนักในแต่ละปี
2. นักดนตรีอินดี้ – ยังคงผลิตผลงานเพลงดีๆ ต่อไปได้ มีรายได้เลี้ยงตัวเองด้วยการออกคอนเสิร์ต ขายผลงานโดยไม่ต้องง้อค่ายเพลง และดูแลแฟนเพลงผ่านทาง Platform การกุศลแต่มีประสิทธิภาพนี้ ไม่จำเป็นต้องสร้างเว็บไซต์เองก็ได้ แต่มาร่วมสร้างโปรไฟล์ของวงดนตรีบนเว็บไซต์นี้ไปเลย
3. นักธุรกิจในแวดวงดนตรี – สามารถใช้ช่องทางนี้ในการประชาสัมพันธ์ศิลปินที่อยู่ในสังกัดเล็กๆ ของตัวเองได้ โฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานของค่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นตารางทัวร์ หรือการขายเสื้อยืด ของที่ระลึก และอื่นๆ อีกมากมาย
ในวันที่อุตสาหกรรมดนตรีเปลี่ยนไป รูปแบบการทำงานแบบ “crowdsourced record labels” แบบนี้น่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่การเติบโตในระยะยาวยังเป็นคำถามอยู่ เพราะมันจะดึงความสนใจของคนเข้ามาได้มากพอหรือไม่? มันจะทำให้ชีวิตนักดนตรีเปลี่ยนแปลงไปได้จริงๆ หรือไม่ เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์
ที่มา: Mashable และ PublicRecords.org