หากเอ่ยถึงเรื่องภาคอุตสาหกรรมและอาเซียนหลายคนอาจจะมองว่าไกลตัวใช่ไหมคะ แต่ทราบไหมคะว่าทุกวันนี้การแข่งขันด้านการเติบโตด้านศักยภาพของประเทศต่างก็เร่งสปีดกันอย่างรวดเร็วเลยทีเดียว หากภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่รายย่อยปรับตัวตามไม่ทัน ด้านภาพรวมของประเทศเราอาจจะกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังในบางเรื่องได้เลย อย่างเช่น การลงทุนเรื่องสมาร์ทซิตี้ เรื่องเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ ประเทศเพื่อนบ้านของเราต่างพยายามที่จะเอื้อประโยชน์และหากลยุทธ์มาแข่งกันอย่างสุดกำลัง และพี่ไทยจะมองข้ามกันไปได้อย่างไร
ศูนย์วิจัยตลาดเติบโตสูงของ PwC จึงได้ประเมินอนาคตอาเซียนมาให้ดูกันว่า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความท้าทายรออยู่และน่าสนใจเลยทีเดียวค่ะ
ศูนย์วิจัยตลาดเติบโตสูงของ PwC เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดประจำปี 2561 ในหัวข้อ ‘The Future of ASEAN – Time to Act’ โดยนำเสนอมุมมองต่อนโยบายที่รัฐบาลในกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (The Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) ควรต้องพิจารณา เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ภูมิภาคนี้จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง และมีกลยุทธ์สำหรับการเติบโตในอนาคตซึ่งครอบคลุม 7 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน อุตสาหกรรมสินค้าผู้บริโภค อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมขนส่ง
กลุ่มประเทศสมาชิกของอาเซียน ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพิ่งเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของการรวมตัวครั้งสำคัญของอาเซียนที่ครั้งหนึ่ง ความขัดแย้ง และความยากจน เคยเป็นคุณลักษณะที่ใช้อธิบายภูมิภาคนี้ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20
มาถึงวันนี้ ไม่เพียงแต่อาเซียนจะมีจำนวนประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หลังจากวันที่ก่อตั้ง แต่ยังสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์การเงินในเอเชียปี 2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง และวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551-2552 มาได้ จนกลายเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลกอยู่ปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาเซียนยังได้สร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ส่งผลให้ประชากรหลายล้านคนทั่วทั้งภูมิภาค หลุดพ้นจากความยากจน
อย่างไรก็ดี ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ผลิตภาพแรงงานที่อ่อนแอ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพึ่งพาการค้าภายจากภายนอกที่มากเกินไป และจุดบอดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ และการขาดตัวกลางที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจในระดับประเทศที่เพียงพอ ยังคงเป็นคำถามสำคัญที่ท้าทายการเติบโตอย่างยั่งยืนของอาเซียนในอนาคต
ถึงเวลาลงมือปฏิบัติเพื่อการเติบโต
ทั้งนี้ รายงาน ‘The Future of ASEAN – Time to Act’ ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนให้หลุดพ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้า รวมทั้งการเพิ่มมาตรการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุน พัฒนาสถาบันการเงิน รวมทั้งบุคลากร และขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี โดยยังชี้ว่า ภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความแข็งแกร่งให้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะต่อไป แต่นั่นแปลว่า ภาคเอกชนจะต้องทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐเพื่อพัฒนาและกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น นอกเหนือจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อมองไปข้างหน้า เราเห็นโอกาสการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของภาคเอกชนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน อุตสาหกรรมสินค้าผู้บริโภค อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมขนส่ง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้จะต้องนำกลยุทธ์ทางด้านนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับการดำเนินงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และเพื่อรับมือกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ อีกทั้ง ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภากลยุทธ์ใหม่เหล่านี้อาจถูกจัดให้อยู่ใน 3 หมวดหมู่ ได้แก่
- การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารให้เป็นแบบท้องถิ่น: การเปลี่ยนแปลงวิธีการไปสู่ระดับท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาแหล่งผลิต และการจัดจำหน่าย ผ่านการพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์และการบริการให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคอย่างแท้จริง (เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์)
- การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัล: การนำความสามารถทางด้านดิจิทัลมาใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิต การขนส่งสินค้าและบริการ รวมถึง การสื่อสารกับผู้บริโภคและกลุ่มธุรกิจ (เช่น อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน อุตสาหกรรมสินค้าผู้บริโภค และอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม)
- การมีหุ้นส่วนและพันธมิตรทางธุรกิจ: การพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจ ผ่านการมีหุ้นส่วน หรือจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่น และ ผู้ประกอบการที่กำลังเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม (เช่น ฟินเทค) เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และ รักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งยังสามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคได้ในระดับที่ธุรกิจจะมีกำไร (เช่น อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง และอุตสาหกรรมขนส่ง)
ทิ้งท้ายด้วยคำพูดของ เดวิด วิเจอร์ราตน่า หุ้นส่วน และ หัวหน้าฝ่ายงานศูนย์วิจัยตลาดเติบโตสูง บริษัท PwC ประเทศสิงคโปร์ ที่แสดงความคิดเห็นได้อย่างน่าสนใจว่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า อาเซียนประสบกับความสำเร็จมากมายในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้หมดเวลาของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเชื่องช้าแล้ว เศรษฐกิจโลกกำลังต้องการให้อาเซียนเข้ามาช่วยเติมเต็มศักยภาพ และคว้าโอกาสของการเติบโตในอนาคต ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกฝ่ายจะต้องลงมือปฏิบัติ
ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นธุรกิจรายเล็กหรือใหญ่ก็ต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ และเร่งปรับตัวรับการเจริญเติบโตได้แล้วนะคะ