ปัญหาทางการเงินส่งผลต่อการเลิกจ้างงานเยอะขึ้น แน่นอนว่ากลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้บริหารระดับ CFO ตัดสินใจว่าจะต้องเลิกจ้างพนักงานเพื่อรับมือกับผลกระทบทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
PwC เผยผลสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอและผู้บริหารฝ่ายการเงินสหรัฐฯ และเม็กซิโกพบมีแผนเลิกจ้างพนักงาน หรือ สั่งพักงานเพิ่มมากขึ้น ชี้ซีเอฟโอส่วนใหญ่เลือกใช้มาตรการควบคุมต้นทุน ชะลอ หรือยกเลิกแผนการลงทุนหลังกังวลวิกฤตโควิด-19 กระทบต่อผลการดำเนินงานและสภาพคล่อง
ด้าน PwC ประเทศไทย ประเมินมีบริษัทหลายรายที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงมาตรการเยียวยาอื่น ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ แนะบริษัทไทยเร่งเตรียมแผนการไว้เผื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อในระยะยาว
PwC เผยผลสำรวจ COVID-19 CFO Pulse Survey ครั้งที่ 3 พบว่า 26% ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือ ซีเอฟโอ (Chief Financial Officer: CFO) ในสหรัฐอเมริกาคาดว่า จะต้องมีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก2 สัปดาห์ก่อนที่ PwC ทำการสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอสหรัฐฯ และเม็กซิโกที่ 16%
ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังคงยืดเยื้อต่อไปในปี 2563 ผลกระทบทางการเงินได้กลายเป็นปัจจัยความกังวลอันดับแรกในกลุ่มผู้บริหารฝ่ายการเงิน โดย 75% ของซีเอฟโอชี้ว่า ตนมีความกังวลว่า วิกฤตโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท
โดยในเวลานี้ 82% ของซีเอฟโอได้มุ่งเน้นไปที่การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน นอกจากนี้ 2 ใน 3 (67%) ของผู้ถูกสำรวจ ยังมีการพิจารณาที่จะชะลอ หรือยกเลิกแผนลงทุนที่วางไว้ โดยบริษัทส่วนใหญ่ต้องการควบคุมต้นทุนด้วยการชะลอการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเพื่อสินทรัพย์ทั่วไป รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บุคลากร และอื่น ๆ
“ในขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสยังคงดำเนินต่อไป การพูดคุยกันในประเด็นเรื่องของกำลังแรงงานก็เปลี่ยนไปด้วย”
นาย ทิม ไรอัน ประธาน และหุ้นส่วนอาวุโส PwC สหรัฐอเมริกา กล่าวอีกว่า “ผู้นำธุรกิจหลายรายที่ผมได้พูดคุยด้วยต้องการทำทุกอย่างเท่าที่พวกเขาจะสามารถทำได้ เพื่อปกป้องพนักงานของพวกเขา อย่างไรก็ดี เราพบว่า การที่ธุรกิจประสบกับปัญหาการขาดกระแสรายได้ตามปกติ ทำให้ผู้บริหารจำนวนมากตกอยู่ในที่นั่งลำบากที่ต้องตัดสินใจในเรื่องการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า ในระยะต่อไปจะยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับหลายบริษัทที่จะหลีกเลี่ยงการไม่ลดจำนวนพนักงานท่ามกลางความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดที่ไม่มีใครรู้ว่าจะกินระยะเวลายาวนานแค่ไหน”
ทั้งนี้ แนวโน้มของการเลิกจ้างพนักงานที่เพิ่มขึ้นยังเห็นได้จากการที่ผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่ (81%) คาดว่า โควิด-19 จะทำให้รายได้และ/หรือกำไรของบริษัทของตนลดลงในปีนี้ นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้บริหารฝ่ายการเงิน (61%) ที่เชื่อว่า ธุรกิจของตนจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 3 เดือนหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลงทันที ก็ปรับตัวลดลงจากการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนด้วยเช่นกัน
ผลสำรวจซีเอฟโอของ PwC ยังพบว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อการจ้างงานในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นแตกต่างกันออกไป โดยผู้บริหารฝ่ายการเงินในกลุ่มบริการทางการเงิน (Financial Services) เพียง 13% เท่านั้นที่คาดว่า จะมีการเลิกจ้างเปรียบเทียบกับซีเอฟโอในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Products) ที่ 36% และตลาดผู้บริโภค (Consumer Markets) ที่ 30% ที่คาดว่า จะมีการเลิกจ้างมากกว่า
“บริษัทต่างกำลังลดค่าใช้จ่ายและชะลอแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยี กำลังแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อสินทรัพย์มาเพื่อใช้ในการดําเนินงานของบริษัท เพื่อให้สามารถผ่านพ้นพายุทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในครั้งนี้ไปให้ได้”
นางสาว เอมิที มิลไฮเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายลูกค้า ของ PwC กล่าว “ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ธุรกิจจำนวนมากมุ่งเน้นไปที่การเติบโตในระยะยาว แต่ในเวลานี้ พวกเขาถูกบีบบังคับให้คิดถึงสถานการณ์ในระยะสั้นและการปกป้องผลกำไรเป็นหลัก”
ด้าน นาย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงาน Clients and Markets หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอครั้งที่ 3 นี้ PwC ยังได้จัดทำผลสำรวจฉบับรวม (All countries’ findings) ซึ่งได้ทำการสอบถามมุมมองความคิดเห็นของซีเอฟโอจำนวน 824 รายในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา
โดยมีผู้ถูกสำรวจจาก 21 อาณาเขตและประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย อาร์เมเนีย, บราซิล, โคลัมเบีย, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, คาซัคสถาน, เม็กซิโก, ตะวันออกกลาง[1], เนเธอร์แลนด์, ฟิลิปปินส์, โปรตุเกส, สิงคโปร์, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา และไทยว่า ซีเอฟโอส่วนใหญ่ (74%) ที่ถูกสำรวจเหล่านี้มีความกังวลต่อผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด-19
ขณะที่ 80% คาดว่า รายได้ของพวกเขาในปี 2563 จะลดลงจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 สอดคล้องกับประมาณการทางเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund: IMF) ที่คาดว่า รายได้ต่อหัวของประชากรในกว่า 170 ประเทศทั่วโลกจะลดลงในปีนี้เช่นกัน
การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายกลายเป็นมาตรการสำคัญอันดับที่ 1 ที่ซีเอฟโอทั่วโลกรวมทั้งไทยนำมาใช้ในเวลานี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกเหนือไปจากการชะลอ หรือยกเลิกแผนลงทุน ในส่วนของผลกระทบต่อแรงงานในระยะสั้นนั้น ความกังวลของซีเอฟโอยังคงเป็นเรื่องความสามารถในการผลิตที่อาจจะลดลงจากการปิดโรงงาน หรือหากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสในวงกว้าง ซึ่งนี่ยังส่งผลให้ต้องมีการสั่งพักงาน รวมถึงการเลิกจ้างพนักงานในบางกรณีด้วย
“เป็นที่แน่ชัดว่าเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องวางแผนรับมือในช่วงภาวะวิกฤต โดยในตอนนี้มีบริษัทหลายรายในไทยที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงมาตรการเยียวยาอื่น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของพวกเขา สำหรับบริษัทที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นบริหารจัดการภาวะวิกฤติและยังไม่มีแผนในการฟื้นฟูกิจการ ควรต้องเร่งสรุปแผนปฏิบัติการในระยะต่าง ๆ รวมทั้งเตรียมแผนระยะยาวไว้เผื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อด้วย”