QFPay เป็นผู้ให้บริการเครื่องอ่านบัตรเครดิตขนาดเล็กที่เจ้าของกิจการสามารถติดลงในแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเพื่อให้ลูกค้าจ่ายเงินด้วยเครดิตการ์ดโดยไม่ต้องติดตั้งระบบอ่านบัตรเครดิตราคาแพงและยุ่งยาก แม้ตัวเครื่องจะมีขนาดใหญ่กว่า Square ของสหรัฐฯ หรือ iZettle ในยุโรป แต่รายงานล่าสุดพบว่า QFPay ประสบความสำเร็จงดงามจนมียอดธุรกรรมมูลค่ามากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี
แม้สถิติเงินสะพัดในระบบ QFPay มูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะถูกเผยแพร่มาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคมทื่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องราวของ QFPay นั้นไม่ควรถูกมองข้ามไปเลยสำหรับใครที่อยู่ในวงการค้าดิจิตอลระดับโลก โดยคำให้สัมภาษณ์ของ Tim Lee ประธานฝ่ายปฏิบัติการของ QFPay สามารถสะท้อนว่าเบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้อยู่ที่การพัฒนาเครื่อง QFPay ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้ใช้ในท้องถิ่น ซึ่งตอกย้ำว่าการ localize นั้นเป็นพลังที่ทรงอิทธิพลเหลือเกิน
QFPay ถูกพัฒนาในรูปเครื่องอ่านบัตรเครดิตที่มีปุ่มกดเหมือนเครื่องคิดเลขรุ่นเก่า ต่างจากเครื่องรูดบัตรของบริษัทตะวันตกที่ออกแบบเป็นกล่อง 4 เหลี่ยมขนาดจิ๋วที่สามารถเสียบกับช่องเสียบหูฟังโดยตรง จุดนี้ QFPay พบว่าผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจผู้ค้า ขณะเดียวกัน เครื่องอ่านบัตรเครดิตขนาดจิ๋วที่ติดกับช่องเสียบหูฟังนั้นทำให้ผู้บริโภคแดนมังกรไม่เชื่อมั่นว่าระบบจะปลอดภัยมากพอ
นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังกังวลว่ารหัส PIN ของบัตรอาจถูกขโมยโดยผู้ค้าไร้จริยธรรม เหตุผลเหล่านี้ทำให้เครื่องรูดบัตรของ QFPay ต้องมีปุ่มกด
QFPay ระบุว่าปุ่มกดบนเครื่องรูดบัตรนี้ถูกสร้างขึ้นมาให้ผู้ใช้กรอกรหัส PIN ขณะเดียวกันก็สามารถกรอกวงเงิน เพื่อจำกัดวงเงินขั้นต่ำสำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งวงเงินเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ต่อไป
เพราะความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคจีนเช่นนี้ QFPay สามารถเป็นตัวกลางรับจ่ายเงินวงเงินสูงเกือบ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี โดยขณะนี้ QFPay มีผู้ค้าที่ขานรับใช้งานระบบของ QFPay มากกว่า 30,000 รายทั่วประเทศ
ทิศทางสวยงามของ QFPay หนีไม่พ้นสายตาของนักลงทุน ขณะนี้ QFPay ได้รับการเพิ่มทุนโดยกลุ่ม Sequoia China เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่า
หนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของ QFPay คือบริษัทสไลต์ Groupon นามว่า “55Tuan” ซึ่งจำหน่ายดีลรายวันให้แก่ชาวจีน โดย QFPay ถูกใช้เป็นช่องทางในการเก็บค่าบริการจากกลุ่มผู้ค้าทั่วแดนมังกรอย่างสะดวกสบายนอกจากนี้ รูปแบบธุรกิจของ QFPay ยังต่างจากผู้ให้บริการเครื่องรูดบัตรเครดิตพกพาตะวันตกเล็กน้อย โดย QFPay จะไม่มอบเครื่องอ่านบัตรให้ลูกค้าใช้งานฟรี แต่จะเก็บค่าเครื่องราว 150 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,500 บาท แลกกับค่าบริการของ QFPay ต่อการทำรายการเพียง 0.78% ต่อ 1 ธุรกรรมเท่านั้น ถือว่าต่ำกว่าบริการของฝั่งตะวันตกซึ่งมักเก็บส่วนแบ่งที่ 2.75% มากมาย
QFPay ยังเปิดชุดโปรแกรม API เพื่อให้นักพัฒนาอิสระสามารถร่วมสร้างแอปพลิเคชันที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์การจ่ายเงินที่หลากหลายมากขึ้น จุดนี้แม้แต่ Square เองก็ยังไม่มีการเปิดตัว API โดยขณะนี้ QFPay มีนักพัฒนามากกว่า 100 คนร่วมขานรับบนแพลตฟอร์มของ QFPay แล้ว
ผู้บริหาร QFPay ให้ข้อมูลว่าขณะนี้มีร้านค้าจีนเพียง 5 ล้านแห่งเท่านั้นที่ติดตั้งระบบจุดจำหน่ายสินค้าหรือ point-of-sale machine อย่างจริงจัง (จากทั่วประเทศจีนที่คาดว่ามีร้านค้าจำนวนมากกว่า 100 ล้านแห่ง) เท่ากับ QFPay ยังมีช่องว่างมากมายที่จะให้ความรู้กับตลาด เพื่อเติบโตต่อไป
ทื่มา: TechCrunch