Site icon Thumbsup

เตรียมตัวอย่างไรในยุคแห่งการชำระเงินด้วย “QR Code มาตรฐาน”

มีคำกล่าวของหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีการให้บริการรับชำระเงินด้วย QR Code มาตรฐานในประเทศไทยว่า นับแต่นี้ จะเป็นช่วงแห่งการ “ขอเวลา” สำหรับการประยุกต์ใช้ QR Code มาตรฐานกับระบบการชำระเงินของบ้านเรา ซึ่งบางธนาคารอาจเจออุปสรรคกันบ้าง หรือบางธนาคารก็อาจไปได้เร็ว ดังนั้นในระยะนี้เลยอยากให้ทุกคนได้ทำอย่างเต็มที่ก่อนที่จะตัดสินว่าการเริ่มต้นสังคมไร้เงินสดของไทยเราด้วย QR Code มาตรฐานนั้นจะมีอนาคตที่สดใสหรือไม่…

ซึ่งคำกล่าวของผู้อยู่เบื้องหลังท่านนั้นไม่ใช่ใคร หากแต่เป็นคุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ที่ต้องยอมรับว่าเป็นการมองสถานการณ์ของการรับชำระเงินด้วย QR Code มาตรฐานตามความเป็นจริงความเห็นหนึ่ง เพราะท่ามกลางการนำเสนอบริการของแต่ละสถาบันการเงินทั้งกลุ่มแบงค์และ Non-Bank ที่มารวมตัวกันอย่างคับคั่ง ณ ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ในภาพของการใช้งานจริง บางทีความสับสนก็เกิดขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอนำคำตอบของหลาย ๆ คำถามที่น่าสนใจมาฝากกัน ดังนี้

ถาม QR Code มาตรฐานคืออะไร

ตอบ “QR Code” เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการชำระเงินที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญของร้านค้า นอกเหนือจากเงินสด บัตรเครดิต ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ร้านค้าทั่วไปและร้านค้าบนโลกออนไลน์สามารถรับชำระเงินได้สะดวกมากขึ้น ส่วน “QR Code มาตรฐาน” นั้นเป็น QR Code ที่มีมาตรฐานเดียวกัน สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ร้านค้า หรือธุรกิจ SME รับชำระเงินจากคนไทยหรือชาวต่างชาติได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยลดข้อจำกัดของธุรกิจขนาดกลาง และเล็กให้สามารถรับชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น

โดยการชำระเงินด้วย QR Code มาตรฐานนั้น เพียงแค่ฝั่งผู้ขายมี QR Code ส่วนฝั่งผู้ซื้อมีสมาร์ทโฟน + แอปพลิเคชันสำหรับรองรับการทำธุรกรรม การจ่ายเงินก็สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว

อีกสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับ QR Code มาตรฐานคือ ได้มีการพัฒนาให้ QR Code มาตรฐานนั้น เชื่อมต่อกับบัตรเครดิตและเดบิต รวมทั้งบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือ e-Wallet ซึ่งในจุดนี้ถือเป็นระบบใหม่ที่ทางธนาคารต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพนักงาน Call Center หรือสาขา เพื่อถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้องไปยังผู้บริโภคต่อไปด้วย

จากภาพด้านซ้ายคือ QR Code ที่ให้บริการในร้านค้าแห่งหนึ่งของจีนที่ดูยุ่งยากสำหรับร้านค้าและลูกค้า สมมติถ้าใช้บริการทางการเงินของสถาบัน A อาจต้องสแกนได้เฉพาะ QR Code สีเขียว

แต่ถ้าเป็นด้านขวา ซึ่งเป็น QR Code มาตรฐาน ที่ทุกสถาบันการเงินรองรับเหมือนกัน ก็ไม่ต้องมีหลาย ๆ ใบอีกต่อไป แค่ใบเดียวรับชำระได้จากทุกค่าย 

ถาม : QR Code มาตรฐานมีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ตอบ : QR Code มาตรฐานมีสองแบบ คือแบบที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือเรียกว่าแบบ Static กับแบบ Dynamic โดยแบบ Static นั้น ร้านค้าสามารถพิมพ์และติดไว้ที่ร้านค้าได้ตลอด จนกว่าข้อมูลการชำระเงินจะเปลี่ยนไป โดยลูกค้าเป็นผู้ใส่จำนวนเงินได้เอง และกดยืนยันยอดเงินด้วยตัวเอง

ตัวอย่าง QR Code มาตรฐานแบบ Dynamic จากบูธธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่จะเห็นได้ว่าเครื่องดื่มแต่ละชนิดจะมี QR Code กำกับเอาไว้เลย ต้องการซื้อแก้วใดก็สแกน QR Code ของแก้วนั้น ๆ

ส่วนแบบ Dynamic นั้นจะเป็น QR Code ที่มีการระบุรายละเอียดอื่นของสินค้าลงไป เช่น ราคา ส่วนผสม กรณีนี้ลูกค้าไม่ต้องใส่จำนวนเงินเอง เพราะเมื่อเปิดแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือแล้วสแกน ที่หน้าจอจะปรากฏจำนวนเงินขึ้นมาให้เสร็จสรรพ ลูกค้ากดยืนยันก็ชำระเงินได้เลย

ถาม : จะรับชำระเงินโดยใช้ QR Code มาตรฐาน ร้านค้า – ลูกค้า ต้องทำอย่างไรบ้าง

ฝั่งร้านค้า – ถ้าไม่มี QR Code มาตรฐานก็ต้องสร้างก่อน ซึ่งทำได้ดังนี้

จากนั้นเพียงแสดง QR Code มาตรฐานนี้ให้ลูกค้าสแกน ซึ่งเมื่อสแกนจะปรากฏชื่อบัญชีของผู้รับเงิน ให้ยืนยันความถูกต้องกันก่อนว่าใช่ชื่อนี้จริง ๆ ใช่ไหม จากนั้นก็กดจำนวนเงินที่ต้องการจ่ายลงไป

ฝั่งลูกค้า

  1. ดูว่าในสมาร์ทโฟนมีแอปพลิเคชันที่รองรับการชำระเงินด้วย QR Code มาตรฐานหรือยัง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งในแอปพลิเคชัน Mobile Banking ต่าง ๆ หรือแอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet)
  2. เปิดแอปพลิเคชันขึ้นมา อาจต้องใส่รหัสยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัย
  3. เปิดกล้องให้สแกนไปที่ QR Code มาตรฐาน และจ่ายเงินตามขั้นตอน

บริการพร้อมเพย์เกี่ยวข้องกับ QR Code อย่างไร 

บริการพร้อมเพย์ที่เราได้ผูกบัตรเอาไว้จะกลายเป็นอีกหนึ่งบริการที่มีประโยชน์มากสำหรับยุคของการรับชำระเงินด้วย QR Code มาตรฐาน เพราะค่าธรรมเนียมที่ต่ำมากของพร้อมเพย์จะทำให้การชำระเงินด้วย QR Code มาตรฐานมีทางเลือกในด้านค่าธรรมเนียมมากขึ้น

สิ่งที่คนไทยควรทำเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดตอนนี้จึงอาจเป็นการฝึกเล่น และศึกษาแอปพลิเคชัน Mobile Banking – eWallet ของตนเองให้คล่อง (ใช้ค่ายไหนก็สแกน QR Code มาตรฐานได้เหมือนกันหมดค่ะ) และถ้าใครมีโอกาสจ่ายด้วย QR Code ก็อยากให้ลองจ่ายกันดูค่ะ ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่น่าลองทีเดียว

ที่สำคัญ ดูให้มั่นใจก่อนว่าใช่ยอดเงินที่เราจะจ่ายเขาจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าใช่ค่อยกดยืนยัน แต่ถ้าส่งไปผิดยอดจริง ๆ ทางฝ่ายผู้ขายสามารถทำเรื่องโอนคืนเรากลับมาได้ค่ะ (เท่าที่สังเกตแต่ละบูธสาธิตการคืนเงิน สามารถทำเสร็จไม่เกิน 1 นาทีค่ะ)