Site icon Thumbsup

เผยโฉมใหม่ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” ที่สุดแห่งอีเวนต์แพลตฟอร์มใจกลางย่านธุรกิจกรุงเทพฯ

สิ่งที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้อีเวนต์คับคั่งในช่วงปลายปี คงจะเป็นการกลับมาของศูนย์ประชุมแห่งชาติที่ทุกคนคุ้นเคย หลังจากการปิดปรับปรุงครั้งยิ่งใหญ่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562  

เวลากว่า 3 ปีล่วงเลย วันนี้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center: QSNCC) กลับมาสานต่อตำนานศูนย์ประชุมแห่งแรกของประเทศไทยด้วยรูปโฉมใหม่ ยิ่งใหญ่อลังการทุ่มงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท ขยับขยายพื้นที่ให้มากกว่าเดิมถึง 5 เท่า ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้โดดเด่นล้ำสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นไทยอย่างชัดเจน พร้อมประกาศความเป็นที่สุดแห่งอีเวนต์แพลตฟอร์มรองรับการจัดงานทุกรูปแบบ  

โอกาสนี้ thumbsup ขอนำเสนอข้อมูลฉบับปรับปรุง บอกเล่าความเปลี่ยนแปลง และความน่าสนใจของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนทุกท่านจะได้สัมผัสประสบการณ์ครั้งใหม่ด้วยตัวเอง ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2565 เป็นต้นไป ทั้งยังสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และกิจกรรมมากมายซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้ทาง  QueenSirikitNationalConventionCenter หรือ www.qsncc.com 

เทียบชัดความเปลี่ยนแปลงจากวันวานสู่ปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงประการแรกที่เห็นได้ชัด คือขนาดของศูนย์การประชุมที่ใหญ่ขึ้นถึง 5 เท่า เพิ่มพื้นที่จาก 65,000 ตารางเมตรเป็น 300,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับจัดอีเวนต์ 78,500 ตารางเมตร พื้นที่สำหรับร้านค้าปลีก 12,000 ตารางเมตร จำนวนฮอลล์จัดแสดง 8 ห้อง แบ่งเป็นเพลนารี 4 ห้อง บอลรูม 4 ห้อง ตามมาด้วยห้องประชุมย่อย 50 ห้อง ส่งผลให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์สามารถรองรับการจัดงานได้หลากหลายในช่วงเวลาเดียวกัน และพร้อมรองรับผู้บริการได้มากถึง 100,000 ต่อวัน  

ก้าวเป็น “ที่สุด” แห่งอีเวนต์แพลตฟอร์มด้วยเอกลักษณ์ 5 ด้าน

ตลอดการปิดปรับปรุงในช่วง 3 ปี ทางทีมงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างยิ่งที่จะยกระดับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้เป็น The Ultimate Inspiring World-Class Event Platform หรือสุดยอดอีเวนต์แพลตฟอร์มระดับโลกที่จะปลุกแรงบันดาลใจให้แก่ทุกคน  

1. เข้าถึงง่าย เดินทางสะดวก  

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษกเชื่อมต่อแยกพระราม 4- รัชดา เข้าออกได้จาก 4 เส้นทางสำคัญ ทั้งถนนพระราม 4, ถนนสุขุมวิท, ถนนรัชดาภิเษก และถนนดวงพิทักษ์ สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้ามหานคร MRT ยังสามารถเข้าสู่พื้นที่จัดงานได้สะดวกสบายผ่านทางเชื่อมใต้ดิน ไม่จำเป็นต้องเดินกลางแจ้งอย่างแต่ก่อน  

2. คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ  

จัดการดูแลความปลอดภัยโดยบริษัทรักษาความปลอดภัย Certis Security ตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อให้ผู้ที่มาใช้บริการ รวมถึงผู้จัดงานสำคัญต่างๆ เข้ามาใช้บริการได้อย่างสบายใจ 

3. ก้าวทันโลกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง  

มีการติดตั้งระบบเข้าใช้งานพื้นที่แบบไร้สัมผัส และระบบบริหารอาคารอัจฉริยะในการควบคุมดูแลพื้นที่ทั้งหมด อีกทั้งยังใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสุด 5G เพื่อรับรองการจัดอีเวนต์ทั้งในรูปแบบออนไลน์และไฮบริดอย่างมีประสิทธิภาพ 

4. ยืดหยุ่นพร้อมรองรับการจัดงานทุกรูปแบบ 

จากการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้ปรับปรุงตัวอาคาร ติดตั้งโครงสร้างเหล็กที่รับน้ำหนักได้มาก ไม่มีเสาค้ำยัน ส่งผลให้พื้นที่จัดงานมีความกว้างขวาง ไร้อุปสรรค เอื้อต่อการขนย้ายอุปกรณ์และสินค้าที่จำเป็นเข้าออกบริเวณงาน ปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้ทุกบริเวณให้เข้ากับการจัดงานประชุม นิทรรศการ หรือแม้กระทั่งคอนเสิร์ตต่างๆ ได้หลากหลายโดยไม่มีข้อจำกัด 

5. ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนถาวร  

เริ่มตั้งแต่กระบวนการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานอาคารสีเขียว LEED ระดับ Silver มีการควบคุมมลพิษและกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ เน้นใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% ใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 75% อีกทั้งยังเลือกใช้อุปกรณ์ประปาและสุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำทั่วทั้งอาคารเพื่อลดการใช้น้ำ และติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารเพื่อใช้เป็นพลังงานหมุนเวียน และคงพื้นที่สีเขียวรอบตัวอาคารด้วยต้นไม้เดิมกว่า 70% 

ทันสมัยพร้อมใช้งาน คงความเป็นไทยทุกตารางเมตร

ทางทีมออกแบบเลือกหยิบยกเอกลักษณ์อันวิจิตรงดงามของผ้าไทยมาเป็นแรงบันดาลใจหลัก ตามแนวคิด “สืบสาน รักษา ต่อยอด” สร้างสรรค์ให้แต่ละชั้นของศูนย์การประชุมฯ มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน ที่สำคัญยังคงรักษางานศิลปะบางส่วนจากศูนย์การประชุมแห่งชาติเดิมเอาไว้ เช่น เสาช้างลูกโลก พระราชพิธีอินทราพิเษก หรือโลกุตระ​ ซึ่งเป็นดังสัญลักษณ์ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  

ชั้น LG

ชั้นเชื่อมต่อ MRT ต้อนรับทุกท่านที่มาเยือนด้วยบรรยากาศเป็นกันเองภายใต้แนวคิดชุดไทยลำลอง (Casual Thai) ดึงเสน่ห์ของผ้าขาวม้า ผ้าถุง การซ้อนเกล็ด จับจีบผ้ามาเป็นองค์ประกอบในการตกแต่งส่วนต่างๆ ชั้นนี้จะเป็นพื้นที่แสดงสินค้าและนิทรรศการ แสดงงานศิลปะชั้นครู และเป็นศูนย์รวมร้านค้า บริการ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ครบครัน  

ชั้น G  

เพิ่มความเป็นทางการขึ้นมาเล็กน้อยกับแนวคิดชุดทางการแบบไทยประยุกต์ (Formal Thai) หยิบยกเอกลักษณ์ของโจงกระเบนมาใช้ ตัวโถงนิทรรศการตกแต่งด้วยวัสดุสีทองแดง และยังมีประตูกัลปพฤกษ์ลายวิจิตรให้ความรู้สึกหรูหรามากขึ้นไปอีก  

ชั้น 1  

ที่ตั้งของ Ballroom, Plenary Hall ที่ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบจากชุดชาวเขาไทย และชุดไทยจักรีตามลำดับ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของ Central Lounge พื้นที่ใช้งานส่วนกลาง และห้องประชุมย่อย วิวทิวทัศน์สวนโปร่งโล่งสบายให้เลือกใช้งานตามความประสงค์  

Bangkok Life Style Mall: เมื่อศูนย์การประชุมฯ เป็นมากกว่า “ศูนย์การประชุมฯ”

อีกหนึ่งความพิเศษของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ฉบับปรับปรุงใหม่ คือการขยับขยายพื้นที่รีเทลให้กว้างขวางขึ้นถึง 12,000 ตารางเมตร ตอกย้ำการขับเคลื่อนจากพื้นที่จัดงาน จัดแสดงให้กลายเป็น Bangkok Life Style Mall แหล่งรวมแอคทีฟไลฟ์สไตล์ ซึ่งประกอบด้วยร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มและของหวาน ร้านค้าปลึก ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าสายสุขภาพอีกมากมาย  

ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษา วัยทำงาน ครอบครัว คนรักสุขภาพ หรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวก็สามารถมาใช้งานตามความต้องการ จะเลือกเป็นสถานที่ปรึกษาเจรจาธุรกิจ ออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจก็ย่อมได้เช่นกัน ไม่จำกัดเพียงแต่วันที่มีงานสำคัญเท่านั้น  

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ค่อยๆ คลี่คลายความตึงเครียด จึงเป็นสัญญาณการกลับมาของการจัดงานอีเวนต์ทุกรูปแบบโดยปัจจุบัน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีงานอีเวนต์ทั้งในและต่างประเทศเดินหน้าเรียงรายต่อคิวใช้บริการต่อเนื่องไปจนกระทั่งปี 2566  

รวมถึงงานยิ่งใหญ่ระดับนานาชาติอย่างการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) ก็จะจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ถือเป็นการเริ่มเปิดศักราช ยกระดับมาตรฐานศูนย์การประชุมแห่งชาติ และถ่ายทอดความเป็นไทยสู่สายตาประชาคมโลกได้อย่างภาคภูมิ