“ทำไมคนสมัยนี้ย้ายงานกันบ่อยจัง” “คนดิจิทัลนี่หาตัวยากเนอะ” “มีคนตำแหน่งดิจิทัลไหม หาไม่ได้เลย” คิดว่า thumbsupers คงเคยได้ยินคนรอบตัวพูดคุยด้วยประโยคเหล่านี้จนชิน ซึ่งเราคงต้องยอมรับกันล่ะครับว่า มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในปัจจุบัน แต่จะย้ายงานทั้งทีก็ควรจะเป็นการย้ายที่มีประโยชน์ในระยะยาวแก่เราด้วยจริงไหมครับ? เราเลยขอนำเสนอ “คำถามฉุกคิด” ที่อาจจะมีประโยชน์กับคุณไม่มากก็น้อย
คำถามที่ 1: คุณมีผลงาน หรือความสำเร็จใหญ่ในขณะที่ทำงานองค์กรนี้หรือยัง?
สาเหตุที่เราเชียร์ให้คุณมาตั้งคำถามนี้กับตัวเอง เป็นเพราะคนที่เป็นมืออาชีพที่เก่งกาจ ไม่ใช่ทำงานให้เสร็จเพียงอย่างเดียว แต่พวกเรายังต้องสั่งสมชื่อเสียง ประสบการณ์ ตลอดจนความรู้ให้กับตัวเองเพื่อความสำเร็จในระยะยาวอีกด้วย
ดังนั้นคนที่ย้ายงานบ่อยแบบ Job Hopper อาจจะดีในระยะสั้นเพราะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ย้าย แต่ท้ายสุด หลายคนอาจจะไปติด “กับดักการเติบโต”
ยกตัวอย่าง “บอย” เป็นพนักงานในองค์กรดิจิทัลแห่งหนึ่ง เป็นคนคล่องแคล่ว หน่วยก้านดี เก่งในชิ้นงานที่ทำ คนเลยจีบไปทำงานด้วยบ่อย แต่สิ่งหนึ่งที่ “บอย” ยังไม่เคยมีก็คือผลงานชิ้นโบว์แดง เพราะการสร้างความสำเร็จในแต่ละองค์กร มักจะต้องใช้เวลาทั้งสิ้น แต่ “บอย” ก็ย้ายงานไปทุกๆ ปีที่ทำงาน
เวลาผ่านไป 7 ปี “บอย” ย้ายงาน 7 ครั้ง เงินเดือนสูงขึ้นทุกครั้ง แต่วันหนึ่งที่อายุงานเติบโตมากขึ้น เส้นทางอาชีพก็ควรที่จะขึ้นสู่ระดับบริหาร (หรือกลายเป็น Specialist ในด้านนั้น) แต่คราวนี้ “บอย” ไม่สามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ระดับบริหารในสายงานที่ตัวเองถนัดได้ เพราะองค์กรใหม่จะพิจารณาจ้างผู้บริหารขึ้นคุมคนจำนวนมาก ก็ต้องดูความสามารถ เครื่องมือที่ระบุความสามารถที่ดีที่สุดก็คือ ผลงานใหญ่ หรือ Track Record นั่นเอง
ในขณะเดียวกัน “เอก” ทำงานมา 7 ปี ย้ายงานมา 1 ครั้ง โดยครั้งแรก 4 ปีที่ทำงาน เป็นที่ที่เขาเรียนรู้ระบบการทำงาน ทำความเข้าใจคน วัฒนธรรมองค์กร และฝึกฝนฝืมือ มีผลงานที่ดีประมาณ 1-2 ชิ้นแต่ยังไม่มีผลงานใหญ่แบบที่สาธารณชนรู้จัก ต่อมาเขาเข้าบริษัทที่ 2 เขาใช้เวลาปีแรกในการปรับตัวกับองค์กร และใช้เวลาอีก 2 ปีจนสร้างผลงานได้รับรางวัลที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมที่ทำงานอยู่
ถ้าคุณเป็นคนที่จะต้องเลือกจ้างผู้บริหาร คุณจะเลือก “บอย” หรือ “เอก”
คำถามที่ 2: เราได้พยายามที่จะเปลี่ยนระบบ ตลอดจนสภาพแวดล้อมรอบตัวเราให้เป็นไปในแบบที่คิดเพื่อบรรลุเป้าหมายในด้านอาชีพของเราหรือยัง?
บางคนอ่านคำถามที่ 1 มาแล้ว อาจจะเถียงในใจว่า ถ้าหากว่ามันจำเป็นต้องย้ายล่ะ? เช่น การเมืององค์กรมันเยอะ เข้ากับเจ้านายไม่ได้ เพื่อนร่วมงานไม่ดี ทีมไม่ใช่ ไม่ชอบงานที่ทำ ผลตอบแทนไม่ตรงกับที่คาดหวัง อันนี้ก็ต้องถามกลับว่า คุณได้ลองที่จะหาทางแก้ไขปัญหานั้นแล้วหรือยัง เพราะบางเรื่องเหมือนจะไม่มีทางออก แต่จริงๆ มันมีทางออกนะครับ เช่น พูดคุยกับเจ้านาย ขอปรับระบบการทำงาน ขอทำงานที่ตรงกับความถนัดของเรามากขึ้น
ยกตัวอย่าง “แพรว” เป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ตั้งเป้าว่าต้องการที่จะเป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่เป็นที่รู้จักในวงการอสังหาริมทรัพย์ โดยทำให้แบรนด์ของบริษัทตัวเองเป็นที่รู้จัก แต่บริษัทไม่ได้วางเป้าหมายว่าต้องการทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุก “แพรว” สามารถชี้แจงกับบริษัทได้ว่า ในฐานะมืออาชีพ “แพรว” ต้องการให้บริษัทมีชื่อเสียงที่ดี และมันจะทำได้ดีกว่านี้ถ้าหากว่าบริษัททำประชาสัมพันธ์เชิงรุก ซึ่งต้องใช้คนเพิ่มขึ้น หรือจ้างเอเจนซี่มาช่วยงานให้งานของบริษัท และ “แพรว” ประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น
CEO ของบริษัท ตอนแรกคิดว่าคงจะจ้างประชาสัมพันธ์คนเดียวในการทำงาน ก็เข้าใจ “แพรว” ว่าถ้าหากทำงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อให้บริษัทประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่ก็ติดที่ Headcount ไม่สามารถเพิ่มได้ เลยเพิ่มงบประมาณในการจัดจ้างหาเอเจนซี่มาช่วยงานให้ “แพรว” ทำงานให้บริษัทได้มากขึ้น
คนทำงานทั่วไปมี 2 แบบครับ
แบบแรก – คนที่เจอสภาพแวดล้อมบางอย่าง แล้วผลงานออกมาไม่ดี แล้วคิดว่าเราเป็นแค่คนทำงาน เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก แล้วเลือกที่จะเดินจากไป
แบบที่สอง – ในขณะที่อีกคนเจอสภาพแวดล้อมที่ยังไม่ใช่ แต่ลองหาทางปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมนั้นให้เป็นไปในแบบที่เราสามารถทำงานได้ดีอย่างที่ใจอยาก
– – – – –
ACTION สำหรับพนักงาน: ก่อนคิดไขก๊อกลาออก ลองตั้งคำถาม 2 ข้อนี้แล้วตอบตัวเองให้ได้
ACTION สำหรับผู้บริหาร: ถ้าเจอพนักงานเดินมาลาออก ลองถามเขาดู ให้เขาคิดก่อนว่าอยากไปทางไหนต่อ แล้วเราสามารถสนับสนุนเขาให้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกันระหว่างบริษัท กับเขาได้หรือไม่