หลังจากที่ได้เห็นความพยายามที่จะให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงิน ณ จุดชำระสินค้าในห้างเองได้ รวมถึงรูปแบบบริการด้วยตัวเองต่างๆ มาอีกเยอะ คราวนี้ถึงเวลาที่ผู้โดยสารสามารถที่จะจัดการกับการตรวจสอบกระเป๋าก่อนขึ้นเครื่องเองได้บ้างแล้ว เมื่อบริษัทน้องใหม่อย่าง Qylur ได้แนะนำเครื่องตรวจสอบสัมภาระด้วยตัวเองที่พร้อมมาพร้อมกับความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ด้วย
Qylur (อ่านว่าคีเลอร์) เป็นบริษัท startup จาก Palo Alto ผู้พัฒนาระบบตรวจสอบสัมภาระรูปแบบกระทัดรัดที่ลูกค้าหรือผู้โดยสารสามารถดำเนินการตรวจสัมภาระด้วยตัวเองได้ง่ายๆ โดยตัวโครงสร้างทั้งหมดจะมีลักษณะคล้ายกับรังผึ้งที่ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์หลายจุด สามารถที่จะตรวจพบสารเคมีและวัสดุที่เกี่ยวกับกับอาวุธนิวเคลียร์ได้ด้วย
การทำงานของมันเริ่มจากผู้ใช้วางสัมภาระในกล่องตรวจสอบ จากนั้นทำการสแกนตั๋วของตัวเอง เครื่องจะเริ่มทำการสแกนของที่อยู่ในกล่องและทำการตรวจสอบกับฐานข้อมูลวัตถุที่เคยสแกนมาทั้งหมด แต่ความฉลาดของมันคือการตรวจสอบและทำการเรียนรู้วัตถุใหม่ๆ ไปด้วยเพื่อที่จะได้ช่วยให้กระบวนการตัดสินใจและตรวจสอบมีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ
ลองดูกระบวนการทำงานจากคลิปนี้ครับ
http://www.youtube.com/watch?v=UPxoZPlpN4U
Qylur ได้เริ่มทดลองการใช้งานจริงในสนามบินในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาและพบว่าผลการใช้งานเป็นที่น่าพอใจ โดยความแม่นยำอยู่ในระดับที่ดี แต่ตัวเครื่องสามารถลดความผิดพลาดจากการที่เจ้าหน้าที่พิจารณาผิดพลาดลงได้ นอกจากนั้นส่วนที่สำคัญคือการที่สนามบินต้นแบบสามารถที่จะลดการว่าจ้างพนักงานประจำลงได้จาก 15 คนเหลือเพียง 5 คน
สำหรับรูปแบบการทำรายได้นั้น Qylur จะคิดเงินค่าบริการที่สัมภาระชิ้นละ 20 เซนต์ถึง 1 เหรียญ (ตั้งแต่ 6 บาท – 30 บาทต่อชิ้น) โดยตัวบริษัทเองจะเป็นผู้ลงทุนและดูแลรักษาตัวเครื่องตลอดการใช้งาน นอกจากนั้นเนื่องจากตัวเครื่องเองมีพื้นที่ที่มีหน้าจอ ดังนั้นการโฆษณาผ่านหน้าจอเหล่านี้ยังสามารถเป็นแหล่งสร้างรายได้เสริมได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย
จุดขายหลักของตัวเครื่อง นอกจากจะช่วยลดการใช้คนจำนวนมาก เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบ ยังช่วยเพิ่มความพึงพอใจให้กับเจ้าของสัมภาระด้วยเพราะคนส่วนใหญ่มักไม่ชอบที่จะให้มีใครมาเปิดดูสัมภาระของตัวเองอีกด้วย แต่ความท้าทายของทีมงานคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่จะใช้งานตัวเครื่องว่ามันสามารถตรวจสอบวัตถุอันตรายได้อย่างแม่นยำและครอบคลุมทุกสถานการณ์ได้จริงหรือไม่ ซึ่งในกรณีของบริการชำระสินค้าด้วยตัวเองได้ในห้าง Kmart ก็พบว่าบริการดังกล่าวในระยะยาวแล้วมีต้นทุนที่สูงกว่าและเปิดรูโหว่ให้ลูกค้าสามารถขโมยสินค้าได้ง่ายขึ้น
ต้องดูว่า Qylur จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคนี้และผลักดันให้ระบบตรวจสอบสัมภาระด้วยตัวเองนี้เกิดได้จริงและได้รับความนิยมในระดับนานาชาติได้หรือไม่
ที่มา: BusinessWeek