Site icon Thumbsup

RAiNMaker ประกาศความสำเร็จกับการจัดงาน iCreator Conference 2020 Presented by All Online มั่นใจช่วยปั้นครีเอเตอร์หน้าใหม่อีกเพียบ

RAiNMaker เว็บไซต์ชุมชนของผู้สร้างเนื้อหาออนไลน์ (Content Creator Community) ประกาศความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กับงาน iCreator Conference 2020 by All Online งานสัมมนาที่รวมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย โดยครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 2 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องปรับรูปแบบการจัดงานเป็นแบบไฮบริด คือเปิดให้รับชมผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ เดอะซีโร่ พับลิชชิ่ง จำกัด ได้เล่าถึงความสำเร็จของงาน iCreator Conference 2020 by All Online ให้ทีมงาน thumbsup ฟังว่า ความสำเร็จของงานในครั้งนี้ต้องเรียกว่าเป็นความสำเร็จที่น่าประทับใจในสถานการณ์วิกฤต เพราะอย่างที่ทราบกันว่าทั่วโลกยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 แม้ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงน้อยเพราะความร่วมมือของประชาชนทุกคน แต่ทุกคนก็ยังตั้งการ์ดไม่ประมาทกับสถานการณ์นี้

ดังนั้น แนวคิดการจัดงานแบบไฮบริดท่ามกลางความเสี่ยงเหล่านี้ ก็ทำให้เห็นแล้วว่า หากผู้จัดงานมีมาตรการการป้องกันที่ชัดเจนและผู้ร่วมงานให้ความร่วมมือ เราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยกัน

โดยยอดผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาออนไลน์ มีจำนวนกว่า 725 บัญชี และมีผู้เข้าร่วมงานแบบออนกราวน์ 253 ท่าน รวมทั้งสองช่องทางมีการเข้ารับชมรวมกันเกือบ 1,000 คนต่อวัน เนื่องจากสถานที่ถูกจำกัดให้มีการเข้าชมได้ไม่เกินวันละ 300 ท่าน การที่งานของเรามีผู้เข้าร่วมชมงานได้ไม่น้อยกว่า 200 คนต่อวัน ถือว่าเต็มพื้นที่จัดงาน

คุณสุทธิชัย หยุ่น และ คุณขจร ขณะสัมภาษณ์บนเวที

นอกจากนี้ เซคชั่นที่ผู้เข้าร่วมงานประทับใจและให้คะแนนสูงสุด 5 เซคชั่น ได้แก่ อันดับที่หนึ่ง Journalism 4.0 : Make Thai Journalism Great Again หรือ การปรับตัวให้ทันสื่อยุคใหม่ โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น อันดับที่สอง ได้แก่ The Future of Media & Music Business หรือ อนาคตของสื่อและวงการดนตรี โดยคุณยุทธนา บุญอ้อม หรือป๋าเต็ด

อันดับที่สาม ได้แก่ How to Make Brand 2.0 วิธีการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล โดยคุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์หรือคุณโหน่ง อันดับที่สี่ Content with Purpose เราทำคอนเทนต์เพื่ออะไร? โดยคุณท้อฟฟี่ แบรดชอว์ อันดับที่ห้า We will Survive!! (Media Transformation) เอาตัวรอดอย่างไรในยุคที่สื่อถูก Disrupt โดยคุณพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

คุณขจรยังบอกถึง ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ที่เติบโตทุกปี เทียบกับหลายธุรกิจที่อาจติดลบในสถานการณ์นี้ ยอดการใช้จ่ายสื่อทุกประเภทในปี 2019 ที่มีเม็ดเงิน 69,873 ล้านบาท (เทียบมกราคม – กรกฏาคม ) ส่วนปี 2020 อยู่ที่ 60,018 ล้านบาท แม้ภาพรวมสื่ออื่นๆ จะติดลบกันหมด แต่สื่อออนไลน์กลับเพิ่มขึ้น 20% ทำให้เม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มออนไลน์อยู่ที่ 12,942 ล้านบาท เทียบกับปี 2019 ที่มีอยู่เพียง 10,775 ล้านบาทตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางที่คนเชื่อมั่นอยู่เช่นเดิม

ด้านตัวเลขผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทยในช่วงปี 2019 – กค. 2020 แบ่งเป็น Facebook 58 ล้านคน LINE 45 ล้านคน Youtube 40 ล้านคน Instagram 16 ล้านคน Twitter 7.15 ล้านคนและ Tiktok 18 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยใช้งานบนโมบายอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับ 2 ของโลกและใช้งานอีคอมเมิร์ซสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกในช่วงโควิดที่ผ่านมา

คุณขจร ยังเล่าอีกว่าด้วยกระแสการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตทำให้เกิดแฮชแท็กที่เกี่ยวกับประเทศไทยในขณะนี้ว่าเรากำลังอยู่ใน #ประเทศที่โชคร้าย มุมมองของเด็กรุ่นใหม่มองว่าประเทศไทยในตอนนี้ไม่น่ารักเหมือนในอดีต

หากมองแต่ในแง่มุมของความ #โชคร้าย หากคนเรามีความพยายามอย่างลีโอเนล เมสซี่ คิดต่างอย่างสร้างสรรค์แบบ สตีฟ จ๊อบ และเชื่อในความฝันอย่างไม่ยอมแพ้แบบ ลิซ่า Blackpink ก็น่าจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นสยามเมืองยิ้มได้อีกครั้งหนึ่ง

ข้อมูลที่น่าสนใจของแพลตฟอร์ม

คุณลักศมี จง Tiktok

ทั้งนี้ ในมุมของแพลตฟอร์มยังมีข้อมูลที่น่าสนใจมากมายมาฝากกัน อย่างเช่น Tiktok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ ที่ได้คุณลักศมี จง ขึ้นมาเผยเคล็ดลับสำหรับมือใหม่หัดใช้ Tiktok นั่นคือ การอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ สร้างสรรค์คอนเทนต์ให้น่าสนใจ และอัพเดทแฮชแท็กใหม่ๆ ตลอดเวลา

ทางด้านของ LINE นั้น ด้วยฐานผู้ใช้งานไลน์ 46 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 69 ล้านคนนั้น ทำให้การพัฒนา LINE IDOL จะช่วยสร้างอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ให้เติบโตไปด้วยกัน ผ่านกลยุทธ์การสร้างสรรค์คอนเทนต์คือ

Facebook ด้วยฐานผู้ใช้งานในไทยกว่า 58 ล้านคนต่อเดือนและมากกว่า 140 ล้านคนทั่วโลก ผู้ใช้งานเฟสบุ๊กมีการรับชมวีดีโอบน Facebook Watch เฉลี่ย 26 นาทีแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานไม่ได้ไถผ่านอีกต่อไป หากคอนเทนต์ดีพวกเขาจะรับชมจนจบ ทำให้เฟสบุ๊กมีการสร้าง Ace Creator ด้วยการรวมครีเอเตอร์ตัวท็อปในวงการออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น สอดอสไตล์ และกอล์ฟมาเยือนเพื่อให้รับชมเนื้อหาได้แบบเอ็กซ์คลูซีฟ

Spotify ชาว Millennial และ Gen Z เป็นรุ่นที่มีดนตรีในหัวใจ แน่นอนว่า 100% ของคน Millennial และ Gen Z นั้นล้วนใช้โซเชียลมีเดียทั้งหมด ข้อมูลจาก MediaDonut ระบุว่า 98% ในกลุ่มมิลเลนเนียลนั้น ดูวิดีโอออนไลน์ 83% ซื้อของออนไลน์ และ 78% ฟังเพลง / ใช้บริการฟังเสียงออนไลน์ โดย 70% ฟังบนรถ 65% ฟังระหว่างทำงาน 60% ฟังระหว่างเดินทางด้วยรถสาธารณะ และอีก 59% ที่เริ่มฟังเพลงที่บ้านของตัวเอง สามารถพูดได้เต็มปากว่าตอนนี้ Spotify เป็น The Streaming (Audio) Generation ที่แบ่งเวลาเสพสื่อประเภทภาพและวิดีโอมาเสพสื่อประเภทเสียงอย่างเต็มที่ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นแต่เข้าไปอยู่ในหัวใจของพวกเราทุกคนเรียบร้อยแล้ว

Tinder แอปพลิเคชั่นหาคู่ที่ฮอตที่สุดในโลก มีผู้ใช้บริการมากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก Tinder เป็นแอปที่มีเป้าหมายในการทำลายกำแพงในการทำความรู้จักคนใหม่ๆ รวมถึงช่วยให้คนแปลกหน้าได้มาทำความรู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็น ครีเอเตอร์สายเพลง สายเกม สายทำอาหาร หรือจะเป็นสายไหนก็สามารถทำคอนเทนต์เกี่ยวกับ Tinder ได้ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ผ่านการเล่นเกม ค่อยๆ สร้าง Story ไปด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเน้นเเต่ความสัมพันธ์แบบคู่รักเท่านั้น, การเเต่งเพลงเพื่อมูฟออนผ่านทินเดอร์ ก็ทำได้เช่นกัน เพราะความความสัมพันธ์มีประเด็นให้สร้างคอนเทนต์มากมาย เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ (คสพ 101), มูฟออนเป็นวงกลม, จ้อจี้หรือจริงใจ

วงการครีเอเตอร์ยังมีความรู้และความน่าสนใจอีกมากมาย เชื่อว่าหากทุกฝ่ายช่วยเหลือกัน แชร์ความรู้และให้ข้อมูลที่ดีต่อกันจะช่วยสร้างโอกาสสำหรับคนที่อยากเป็นครีเอเตอร์รุ่นใหม่ได้อย่างยั่งยืน