สื่อมวลชนกับสื่อออนไลน์ เป็นสิ่งที่คู่กันไปแล้วในยุคนี้ วันนี้เรามาคุยกับทีมโซเขียลของไทยรัฐ ซึ่งเป็นทีมที่น่าจับตามองมากในช่วงปีที่ผ่านมาด้วยการเติบโตของจำนวนแฟนและทิศทางการนำเสนอข่าวที่แตกต่างจากสื่อรายอื่นๆ ด้วยการมองรอบด้านเพื่อตอบกับพฤติกรรมคนในยุคนี้
thumbsup มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณระวี ตะวันธรงค์ Social Media Manager แห่งไทยรัฐ ที่จะมาเล่าให้ฟังว่าทีมโซเขียลที่คุณระวีดูแลอยู่นี้ทำอะไร อย่างไร และมีมุมมองต่อสื่อที่เป็นนิวมีเดียอย่างไร
ตอนนี้คุณระวีดูแลอะไรอยู่บ้าง?
คุณระวี – ตอนนี้ที่ดูแลตรงๆ ก็จะเป็นทุกโซเชียลมีเดียของไทยรัฐและไทยรัฐทีวี ดู YouTube channel และ Production บน YouTube ทั้งหมด, เว็บไซต์ Thairath.tv แล้วก็เป็นบรรณาธิการของ Content ที่มาจาก Social เราเป็นคนเขียนข่าวเองในหมวดที่ชื่อว่า Social Buzz หรือ ‘สายตรวจโซเชียล’ ในเว็บไซต์ Thairath.co.th โดยเราจะเอาประเด็นที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์มาหาคำตอบ ข้อเท็จจริงให้กับคนอ่านและคนชมมาทำเป็นข่าวในฐานะสื่อมวลชน ด้วยการทำงานกับหลายๆ กองบรรณาธิการในไทยรัฐ เช่น กองบก.ออนไลน์, กองบก.ทีวี และกองบก.หนังสือพิมพ์ โดยข่าวที่เราได้มาจะขึ้นบนหน้าเว็บไซต์ก่อน เสร็จแล้วก็จะเอามาออกอากาศในรายการ เช้าข่าวชัดโซเชียล นี่คือหน้าที่ที่ดูแลอยู่
ตอนนี้ทีมมีทั้งหมดกี่คน
คุณระวี – ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 17 คน อายุโดยรวมๆ ไม่เกิน 30 มีตั้งแต่จบใหม่ถึง 30 แยกสายการทำงานภายในทีม ส่วนนึงจะดูข่าวล้วนๆ ,ดูแลที่เป็น VOD (Video On Demand) กับ Production การตัดต่อใหม่ๆสำหรับโซเชียลมีเดีย, ทีมดูแล App Thairath เพื่อหาและทำ Extra Content มาทำ 2nd screen ทำให้คนสามารถติดตามได้พร้อมกับหรือต่อเนื่องจากโทรทัศน์, ดูแล YouTube Channel ช่วงการถ่ายทอดสด เช่น ช่วงเวลาฟุตบอลถ่ายทอดสด ในโทรทัศน์จะเป็นโฆษณา แต่เราเองต้องมีการจัดการ Content พิเศษเพื่อให้คนชมบน YouTube ดูได้ตลอดเวลาและดูได้แค่ช่องทางเดียว หรือเป็นเหตุการณ์พิเศษอย่างการเกาะติดการรายงานข่าวพิเศษ บนโทรทัศน์อาจจะดูได้แค่ชั่วโมงเดียว แต่บน YouTube ดูได้ยาว 3-5 ชั่วโมงต่อเนื่องแบบไม่มีโฆษณาขั้น
ตอนเลือกคนมาร่วมทีม เรา Screen หรือคัดเลือกคนอย่างไรบ้าง
คุณระวี – เราดูที่ทัศนคติ ส่วนใหญ่จะไม่ใช่เด็กที่จบมาโดยตรง บางคนเคยเป็นเลขา, คุรุศาสตร์ เด็กจบนิเทศน์สายตรงมามีอยู่ประมาณครึ่งนึง บางส่วนก็ไม่ผ่านสัมภาษณ์หรือไม่ผ่านการทดลองงาน ประเด็นคือเข้าไม่เข้าใจว่า โซเชียลคืออะไร นิวมีเดียคืออะไร เขาเข้าใจแค่ว่า ก็โพสต์ลง Facebook ก็จบ ซึ่งมันไม่ใช่ มันมีมากกว่านั้น
ข่าวทุกวันนี้มันค่อนข้างเร็วมาก ทุกวันนี้ทีมโซเขียลทำงานประสานกับทีมข่าวอย่างไร
คุณระวี – เราทำงานร่วมกันครับ เราประชุมร่วมกับ บก.ตลอดเวลา เช้า กลางวัน เย็น เบื้องต้นเราใช้ LINE ในการพูดคุยสื่อสารเป็นหลัก โดยหากมีประเด็นด่วนๆ ขึ้นมา เราก็เริ่มหาประเด็นที่ถูกตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Pantip, Drama-Addict, Facebook Page ต่างๆ เราจะรวบรวมแล้วร่างขึ้นมา แล้วก็จะเริ่มถามกับทุกกองบก.ในไทยรัฐว่า คนที่เป็นข่าวมีส่วนไหนที่ได้รับข้อมูลมาบ้าง จากนั้นค่อยมารวมกัน อารมณ์เหมือนเราโยนหัวข้อไว้ตรงกลาง จากนั้นให้ทุกคนช่วยวิ่งหาข้อมูลต่อจากที่เราร่างไว้ ซึ่งเราอาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายช่วยกันหาข้อมูล รวมถึงทีมเราเองก็จะสืบหาข่าวได้เองในหลายๆกรณี
เรามองว่าข่าวโซเชียลไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นปัญหาสังคมในหลายๆกรณี ที่บางครั้งการตั้งคำถามในโลกโซเชียล มันต้องการคำตอบและการแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้สังคมเดินหน้าต่อได้ ‘สายตรวจโซเชียล’ จึงจะเป็นคำตอบสุดท้ายให้กับคนในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความสับสนของข้อมูล
จริงๆ มันเหมือนองค์กรยุคใหม่ในตอนนี้ เขาทำงานเหมือนกับว่าไม่ได้มีการแยกทีม?
คุณระวี – ใช่ครับ อย่างแต่ก่อนถ้าทำงานแบบแยกกัน หากทำอย่างนั้นมันจะช้ามาก ทีมเราต้องเข้าไปนั่งกับเขาเลย เราเห็นอะไร เขาเห็นอะไร เห็นพร้อมๆ กัน มันจะทำงานได้เร็วกว่า และด้วยนโยบายของไทยรัฐเป็น Convergence เป็น Social First ตามด้วย เว็บไซต์, ทีวี และปิดท้ายด้วยหนังสือพิมพ์ จะใช้ลูปแบบนี้
LINE ตั้งแต่ไทยรัฐเริ่มทำมา Feedback ดีไหมครับ
คุณระวี – จริงๆ ต้องบอกว่า ไทยรัฐคือเจ้าแรกในไทย และเจ้าที่2ในโลกด้วยมั้ง (เขาว่าอย่างนั้น รองจากญี่ปุ่น) ที่เราเอา LINE มาขึ้นจอ เราทำมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา (2558) ทาง LINE ให้ Exclusive กับเรา พอปีใหม่มาเขาจะเปิดโอกาสให้ช่องอื่น แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครใช้นะ ส่วน Feedback ดีไหม ต้องบอกว่าเราได้ในเชิงของนวัตกรรมมากกว่า รายได้ดีไหม เราก็ต้องตอบว่า แบรนด์ยังไม่ค่อยเห็นมากกว่า จริงๆ ช่องทางที่เราหารายได้คือเราต้องการขายสติกเกอร์ ลูกค้าเจ้านึงอาจจะบอกว่าอยากจะลงโฆษณากับเราโดยสามารถส่งสติกเกอร์ขึ้นมาได้ เราก็จะทำการโปรโมทว่า ผู้ชมสามารถส่งสติกเกอร์แบรนด์นี้ขึ้นมาบนหน้าจอไทยรัฐได้ ซึ่งจริงๆ เรามีการทดลองไปแล้วปรากฎว่าคนดูไม่รู้ว่าส่งสติกเกอร์ได้ ส่งมาแต่ข้อความอย่างเดียว มันก็ดูยังไม่แน่นอนเท่าไหร่นัก
ถ้าเทียบ LINE กับ SMS ดูแล้วมันมากหรือน้อยกว่า
คุณระวี – เราเคยทำ SMS เราเห็นว่า LINE มีจำนวนข้อความที่ส่งมามากกว่า วันนึงมีมากกว่าหมื่นข้อความ เพราะเขาส่งฟรี ส่งเท่าไหร่ก็ได้ แต่ถ้าเป็นเชิงตัวเลขรายได้ มันได้น้อยกว่า น้อยกว่าเยอะ เพราะตัวเลขของ SMS เขาได้รายได้ตลอดเวลา
แปลว่าที่ไทยรัฐทำกับ LINE อยู่ Position ของไทยรัฐเองจะเน้นว่าเราเป็นรายแรกของสื่อที่ทำ Business Connect ใช่ไหม?
คุณระวี – ใช่ครับ อย่างแรกคือ Business Connect รายแรกที่เชื่อมได้ สองคือปีนี้เราเริ่มทำข่าวส่งขึ้นทาง LINE เพิ่งจะเริ่มเมื่อต้นกุมภาพันธ์นี้เอง แต่ในช่วงนี้เป็นช่วงค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ปรับกันไป โดยเป้าหมายคือพยายามสร้าง Engagement ให้กลับมาที่เว็บหรือมาที่ทีวี จะไม่แค่ส่งข้อความเหมือน SMS แล้วทิ้งไป ซึ่งต้องบอกว่าทำ LINE ยากนะเพราะเราไม่มีสติกเกอร์ แต่เราก็โตแบบ Organic มาได้ 800,000 กว่าราย สิ่งที่เราทำก็คือเราพยายามจะโปรโมทว่าเราจะส่งข่าวแบบตรงๆ คนที่เข้ามา Add เราก็จะได้ประโยชน์จากเราตรงๆ มากกว่าจะให้สติกเกอร์แล้วให้เขา Block ซึ่งเท่าที่เรารู้มาของไทยรัฐทีวีเองมียอด Block น้อยมาก
แล้วส่วนของ Facebook อย่าง Facebook Article ที่กำลังถูกพูดถึงในตอนนี้ได้รับการตอบรับอย่างไรบ้าง?
เราได้ลองมาประมาณ 2 เดือน แต่ตัว Analytics สำหรับตัวนี้เพิ่งจะทำเสร็จ ก็เลยจะต้องรออีกพักว่าหลังจากที่ทำไปแล้วและผ่านการวิเคราะห์ มันจะดีขึ้นมากน้อยขนาดไหน
ถ้าถามความรู้สึกว่าหลังจากใช้ Instant Article แล้วมันดีขึ้นหรือแย่ลง?
คุณระวี – ไม่รู้สึกนะ ทั้งไม่ดีขึ้นแต่ก็ไม่แย่ลง Pageview ต่างๆ ก็ไม่ต่ำและไม่ได้ดีขึ้น ค่อยข้างคงที่ จริงๆ ก็อาจจะเป็นเพราะทางเราเปิดแค่หมวดสองหมวด มันเลยมีผลไม่มากหรือแทบไม่รู้สึก หากเปิดทั้ง Page อาจจะเห็นชัดกว่านี้ แต่เราก็มีแผนที่จะเพิ่มหมวดในการเปิด Instant Article อีกประมาณ 5 หมวด ตีเป็นครึ่งหนึ่งของ Site ข่าว ซึ่งเราอาจจะไม่ให้หมด เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการตกลงกับทางพันธมิตรต่างๆ ที่เราทำมาก่อนหน้านี้
ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกว่า ข่าวนี้จะไปขึ้นที่ Instant Article?
คุณระวี – หลักเกณฑ์ตอนนี้เราเลือกที่ข่าวรายวันนะครับ เฟสแรกคือ Lifestyle เฟสที่สองจะเป็นข่าวโซเชียล, ข่าวที่คน Engage เยอะๆ และเป็นข่าวที่ไม่ Exclusive ซึ่งเราจะเป็นคนเลือกได้ว่าจะให้เป็น Instant Article ไหมผ่านการเลือกจากทีมเราเอง
คิดว่าการมาของ Instant Article มันส่งผลกับทางทีมไทยรัฐทีวี หรือส่งผลกับคนอ่านบ้าง
คุณระวี – ถ้าเป็นผู้ใช้งานทั่วไป เขา happy อยู่แล้วเพราะเขาได้อ่านข่าวเร็ว กดแปปเดียวขึ้นมาเลย แถมยังมีหน้าตาที่ดูดีด้วย ถ้ามุมคนผลิต อาจจะต้องสร้างสรรค์งานให้มากกว่านี้ ต้องทำให้สวยขึ้น ต้องเลือกชิ้นงานให้มากกว่าเดิม และฟังก์ชันที่มีลูกเล่นมากกว่า เช่น หากใส่วิดีโอ, ภาพนิ่งที่มีเสียงได้ คือการออกแบบเนื้อหาหรือตัว Content ต้องคิดให้มากกว่าเดิม ซึ่งมันจะให้คนอ่านรู้สึกว่ามันต่างจากการอ่านบนหน้าเว็บไซต์ปกติ
ปัญหาที่ได้รับมาจาก Feedback มีอะไรบ้าง?
คุณระวี – อ่านยากครับ จะมีปัญหาในเรื่องของฟอนต์ภาษาไทยที่ขยายขนาดแล้วมันโดด ขยายทีละนิดไม่ได้ ซึ่งภาษาอังกฤษไม่มีปัญหา แล้วก็มีสิ่งที่หนึ่งผมอยากจะปรับคือ เราจะสร้าง Content เพื่อ Instant Article เพราะพฤติกรรมของคนไทย ธรรมชาติคือถ้ายาว จะไม่อ่าน แล้วยิ่งพอไปอยู่ใน Instant Article ปุ๊บ ยิ่งยาวเข้าไปใหญ่ ดูไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าสร้าง Content เช่น มี 3 รูปแล้ว Content จั่วขึ้นมาเท่านี้พอแล้ว ซึ่งอาจจะต้องมีอีกทีมเพื่อมาปรับ Content สำหรับที่นี่โดยเฉพาะ
คุณระวีมองการมาของ Facebook Live ว่าจะส่งผลอย่างไรกับสื่อไทยบ้าง?
คุณระวี – ผมมองเป็นมันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจอย่างมาก แต่มันต้องเป็น Content ที่เหมาะสมและถูกเวลา คือถ้าคุณ Live ไปด้วย Content ที่คนไม่สนใจหรืออยากจะขายจนเกินไป เช่น บางคนอยากขาย Event นี้เลยจะถ่ายทอดสด แต่คนที่มากด Like Page คุณไม่ได้อยากจะดูสิ่งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เขาต้องรู้ คุณอาจจะถูก unlike Page ไปเลยทันที เพราะมันส่งเป็น notification ไปทุกอัน แต่ถ้าเป็น Content ที่จะมีประโยชน์และส่งผลกระทบกับเขาจริงๆ ผมว่ามันจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ Facebook โตได้เร็วขึ้นทันที แต่ปัญหาก็คือความที่มันไม่จำเป็นต้องมี Production เพราะมันถ่ายผ่านโทรศัพท์ได้เลย แต่สิ่งที่ตามมาก็คือสัญญาณโทรศัพท์บ้านเรา ก็อย่างที่รู้กันอยู่ว่าเป็นอย่างไร เกิดวันดีคืนนี้เรา Live อยู่แล้วร่วงขึ้นมา หรืออย่างที่เราดูคนอื่นลองใช้ก็เจอปัญหาว่า เสียงไม่มาบ้าง กระตุกบ้าง ภาพสั่นบ้าง ถ้าเราจะทำแล้ว เราขอคุณภาพที่ดีๆ ไปเลยดีกว่า เลยไปเน้นที่ YouTube เป็นหลักเพราะเราควบคุมทุกอย่างได้
ปีนี้จะมีอะไรเพิ่มเติมที่ไทยรัฐทีวีจะทำออกมาบ้างในแง่ของออนไลน์?
คุณระวี – มีหลายอย่างครับ อย่างแรกเลยคือเรากำลังจะหยิบ feature นึงของ LINE ที่เป็นพื้นฐานมากๆ คือการสร้างระบบตอบกลับบน Chat ตามคำที่ผู้ใช้กรอก สิ่งที่เราจะทำคือเราสร้างเป็นข้อความขึ้นมาพื้นฐาน กำหนดคำ keyword จากนั้นเมื่อผู้ใช้พิมพ์กลับมา เช่น อยากจะดูข่าวรายวัน เราก็ส่งชุดข้อความที่เป็นข่าวรายวันไปให้ ซึ่งจริงๆ มันเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานอยากจะรู้ในสิ่งที่เขาต้องการ เราก็สามารถบอกในสิ่งที่เขาต้องการได้ อีกอย่างก็คือ เรากำลังจะทำ LINE TV ในแง่ของข่าว เรากำลังสร้างสรรค์เรื่อง Production อยู่อีกสักพัก และก็วิดีโอ 360 ซึ่งเราได้ทดลองไปแล้วตอนถ่ายฟุตบอลไทย แต่คุณภาพยังไม่ค่อยน่าพอใจนัก กำลังมองหากล้องใหม่ๆ อยู่ตอนนี้ โดยจะใช้บน YouTube เป็นหลัก
แล้วอย่าง Instagram เราทำอะไรบ้าง?
คุณระวี – Instagram ตอนนี้ Follower เราสูงสุดในสื่อทั้งหมด เราใช้ทีม Content สร้าง Content ขึ้นมาใหม่โดยขายภาพเป็นหลัก และการเล่าเรื่องด้วยวีดีโอ เราพยายามทำให้คล้ายๆ กับ BBC ที่เป็น Video Report อยู่เรื่อยๆ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่แปลกใหม่ไปกว่านี้
วิดีโอที่มาแรง คุณระวีและไทยรัฐทีวีเลือกใช้อะไรอย่างไร?
คุณระวี – ปีนี้เราจะเน้นการทำ Video Content และจากเดิมที่เราอัปวิดีโอขึ้น Facebook เราจะพยายามกลับมา YouTube ถ้า Facebook ยังไม่มีการยืนยันว่าจะได้รายได้จากไหนอย่างไร โดยจะมีการทำ Production ใหม่ อย่างปกติเราจะเห็นบนทีวีว่าฉายอะไร ย้อนหลังก็จะออกอย่างนั้น แต่เราจะทำการตกแต่งใหม่ก่อนขึ้นออนไลน์เพื่อดูย้อนหลัง โดยจะปล่อย Teaser บน Facebook แล้วมาดูเนื้อหาหรือฟังก์ชันพิเศษบน YouTube ซึ่งก็จะเป็นการดึงคนให้เข้ามาอยู่บน YouTube ของเราด้วย โดยเราจะทำให้มันเกิด Engagement บนช่องทางของเราทุกช่อง
VR ปีนี้ก็น่าจับตามองเพราะแบรนด์เองก็หันมาดันเรื่องนี้ ไทยรัฐมองเรื่อง VR อย่างไรบ้าง
คุณระวี – จริงๆ เราอยากทำมานานแล้ว แต่มันไม่มีอุปกรณ์ที่จะทำ แต่ถ้าถามแนวทางในการทำข่าวของไทยรัฐทีวี อย่างปีที่ผ่านมาเรามีภาระกิจพิเศษ เราไปบุกค้นยาเสพติดแล้วถ่ายทอดสดผ่าน YouTube ซึ่งถ้าวันใดวันหนึ่ง VR มันเข้ามาในบ้านเราแล้วสามารถทำได้จริง ผมไม่รู้ว่าเทคโนโลยี VR มันทำได้ถึงขั้นการถ่ายทอดสดหรือเปล่า หรือเอามาจับกับงานข่าวได้จริงขนาดไหนเราก็จะลองทำดู อย่างของปีนี้เรามีโครงการนึง ที่อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่มีตึกถล่ม เราก็จะเอากล้องตัวนึงมาจำลองตึกถล่มทั้งหมด โดยเป็น Immersive ที่แสดงอยู่บนทีวี แต่เราจะย้ายมาบนวิดีโอ ให้เราสามารถเดินดูรอบๆ สถานที่ได้ด้วยตัวเอง โดยอยู่บนเว็บไซต์หรือบนข่องทางของเรา ซึ่งมันจะเป็น Content บน Second Screen
มาพูดถึงเรื่องแอป My Thairath บ้าง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
คุณระวี – ตอนนี้ประมาณ 887,000 ดาวน์โหลด แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังใช้แอปเก่าอยู่ยังไม่ยอมเปลี่ยนมา ส่วน Feedback ดีไหม ต้องบอกว่าคนใช้งานในช่วงที่เราปล่อยให้มีการทำ Second Screen เยอะพอสมควร เรามี 2 ช่วงคือ ช่วงข่าวเช้า เราเน้นสำหรับคนแชร์ข่าว คนที่ไม่มีเวลาดูข่าว สามารถเก็บข่าวไว้ในแอปแล้วแชร์แปะบนหน้า Wall ของตัวเอง ส่วนกลางคืนเราเน้นเป็น More Information คือหากคุณชมรายการของไทยรัฐอยู่ ในรายการจะบอกว่าเราสามารถดูเวอร์ชันเต็มๆ จากสิ่งที่เรานำเสนอบางส่วนได้ที่แอปของเรา มีคน Engage เยอะพอสมควรแต่เขาจะไม่แชร์นะ ซึ่งส่วนใหญ่จะ Engage สูงๆ เมื่อมีของแจก
วันนึงไทยรัฐโพสต์ Facebook กี่ครั้ง?
คุณระวี – ให้ทาย… (ทีม thumbsup เดา 40 ครั้ง) วันนึงเราโพสต์ 200 กว่าครั้งครับ โพสต์แทบจะทุกเวลา ประมาณ 10 นาทีโพสต์ ซึ่งตอนแรกเราคิดว่าทาง Facebook จะบล็อค แต่เขาก็จะให้ Reach น้อย แต่ด้วยโพสต์แต่ละอันมันมีความแตกต่างกันอย่างข่าวแต่ละฝ่าย มันก็จะเจาะกลุ่มที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งจะไม่เหมือนแบรนด์ที่จะนำเสนอเรื่องเพียงด้านเดียว ส่วนโดยวิธีโพสต์เราจะไม่ใช่แค่เห็นข่าวนี้แล้วโพสต์ แต่เขาจะต้องอ่านข่าวให้เข้าใจและถอดใจความจนสามารถแก้พาดหัวใหม่ได้
กลับมาที่ 200 กว่าโพสต์นี่ เท่าที่ดูของสื่อหัวอื่นๆ เขาก็โพสต์ประมาณเราเหมือนกันนะครับ มีอยู่ประมาณ 4 เจ้าในตอนนี้
ถามเรื่องรายได้ ปกติแล้ว Revenue บนหนังสือพิมพ์ก็เป็นเรื่องการลงโฆษณา แล้วอย่างบนโซเชียลมีเดียมี Revenue แบบไหน?
คุณระวี – ก็มีลูกค้าซื้อโพสต์ครับ ทั้ง Facebook, Instagram ซึ่งเราเจาะกลุ่ม Target ให้โดยตรงตามที่ต้องการ ทุกคนจะไม่เห็น เราจะไม่หว่าน เพราะถ้าทำมันจะเป็นการสร้างความรำคาญให้กับคนที่ไม่ได้สนใจ ซึ่งต่อมาก็อาจจะ unfollow ก็เป็นได้ แต่ถ้าหว่านจริงก็ต้องเป็น Content ที่แมส เช่น วิดีโอไวรัล เป็นต้น
แล้ว Twitter ยังให้ความสำคัญอยู่ไหม?
คุณระวี – โดยปกติเราจะใช้ Auto Tweet สำหรับทุกข่าวที่ขึ้นบนหน้าเว็บไซต์ แต่ถ้ามีข่าวไหนสำคัญๆ หรือเหตุการณ์สำคัญ เราจะลงมาทวีตข้อความเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าช่วงนี้ Twitter เป็นช่วงขาลงแล้ว
มองอนาคตของข่าวและสื่อจะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อมีการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย
คุณระวี – ผมว่าคนทำสื่อจะต้องหันมาให้ความสนใจกับนิวมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เรามีโทรทัศน์ที่มันคงที่ แต่โทรทัศน์มันมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันมีรายการที่ต้องแข่งขันกัน ผมไม่คิดถึงจำนวนช่องแล้วนะ เพราะถ้าหั่นดูรายการแล้วมันมีเยอะมาก รายการจะต้องแข่งกันเอง ไม่ใช่แข่งที่ช่อง สิ่งที่จะทำให้คนมาดูโทรทัศน์ได้มันจะไม่ใช่การโปรโมทบนหน้าจอสี่เหลี่ยมแล้ว มันต้องใช้แพล็ตฟอร์มอื่นๆ ในการเรียกคนเข้าไปหา ซึ่งถ้าคนทำ Content หรือทำโทรทัศน์เข้าใจแพล็ตฟอร์มอื่นๆ แบบนี้ ผมว่ามันจะช่วยผยุงเรตติ้งโทรทัศน์มากกว่านี้
ความเข้าใจผมหมายถึงว่า คนผลิตรายการโทรทัศน์ วันที่เขาเริ่มคิด Production เขาต้องคิดถึงว่าเขาจะไปปล่อยของบน Facebook ได้อย่างไร เขาต้องทำวิดีโอแบบ uncut เอาไปไว้บนโซเชียลอย่างไร
ถ้าเขาคิดรายการเสร็จแล้วให้ไปเลือกดูเอาเองหรือเอารายการไปขึ้นย้อนหลังเฉยๆ ตอนนี้ตายแน่ๆ และอีก 3 ปีคุณจะตายหนักขึ้น ผมว่ามันต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการคิด แม้แต่คนที่ลงพื้นที่ไปทำข่าว ไม่ใช่แค่ถือกล้องกับถือไมค์ไป คุณต้องถือสมาร์ทโฟนไปด้วย บางเหตุการณ์กล้องจับไม่ทัน จะมีสมาร์ทโฟนนี่แหละที่สามารถช่วยจับสิ่งที่มันไม่อยู่ในการคาดการณ์ไว้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่จะได้คลิปเด็ดๆ ทั้งหลาย มักจะมาจากโทรศัพท์แทบทั้งนั้น แล้วดูอย่างตอนนี้ทุกอย่างมัน Live ได้ Facebook, Twitter, YouTube
“ถ้าสื่อหรือคนทำสื่อไม่ทันไม่ปรับตัว ประชาชนเขาจะเก่งกว่าเรา”
ซึ่งวันนี้ไทยรัฐเองปรับตัว ตั้งแต่เริ่มประชุมข่าว ว่าวันนี้จะทำข่าวชิ้นนึง คิดอะไรไว้เผื่อโซเชียล คิดอะไรไว้เผื่อ second screen คิดตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ไปอัดเก็บเอาหน้างาน อย่างอาทิตย์ก่อนมีเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอล เราประชุมเตรียมงานตั้งแต่แรก การวางไลน์กล้อง คิดถึงขั้นว่า ที่ถ่ายทอดบนโทรทัศน์ครึ่งชั่วโมง แล้วหลังจากครึ่งชั่วโมงเขาไปตรงไหนบ้าง ไลน์กล้องจะไปอย่างไรต่อ ซึ่งมันมีการถ่าย Live บน YouTube อีก 3 ชั่วโมง แถมมีคนพากษ์ด้วย และต้องคอยสร้าง Engagement จาก Comment ด้านข้างอีก ทุกอย่างถูกพูดถึงในการประชุมตั้งแต่แรกแล้ววางแผนไปทำงาน
ข้อดีคือมันเห็น Feedback อย่างโทรทัศน์ทำออกไปแต่เราไม่รู้ว่าคนดูเท่าไหร่ แต่บนออนไลน์มันเห็นเลยว่าคนดูหลักหมื่นหลักแสนหลักล้าน เห็น Feedback คนด่า คนชม ซึ่งในอีก 3-5 ปีข้างหน้าหรืออาจจะสิ้นปีนี้อาจจะเห็นทุกอย่างที่ผมบอกมามากกว่านี้
หลังจากที่ได้พูดคุย เราเห็นความเคลื่อนไหวและแนวคิดในการทำงานว่า การทำอย่างทีมเดียวโดดๆ คงไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์งานได้อย่างรวดเร็ว และทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานบนความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลา คนทำงานต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมคนในยุคนี้เป็นอย่างไร และต้องการอะไร เพื่อให้คนดูเข้าใจและชอบมากที่สุดนั่นเอง