Site icon Thumbsup

วิธีคิด Realtime Content สำหรับฝั่งแบรนด์โดยเฉพาะ

Realtime Content เป็นจุดเด่นที่ทำให้หลายแบรนด์ดังเป็นพลุแตก หรือเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะกระแสคือสิ่งที่สังคมไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษ ยิ่งในปีนี้ ถึงแม้ว่า Realtime Content จะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่กลับได้รับ spotlight จากโซเชียลมากขึ้น

ถ้าเป็นเพจแนว Community ไม่ใช่เรื่องยากที่จะคิดเนื้อหาเท่าไหร่ แต่หากเป็นฝั่งแบรนด์จะเล่นให้ดูสนุกสนานผสมผสานกับความเป็น DNA แบรนด์ ถือเป็นความท้าทายของทีม Creative Content อย่างมาก วันนี้ทีมงาน thumbsup เลยอยากแนะนำเทคนิควิธีคิด Content Realtime มาเป็นไอเดียกันค่ะ

แตกประเด็นกระแส

Realtime Content ก็คือการที่เอาประเด็นของแบรนด์มาจับกับกระแสนี่แหละค่ะ แต่ว่าคงไม่ใช่ทุกกระแสที่เราจะเล่นได้ ฉะนั้นต้องเลือกด้วยนะคะ อย่าเล่นหมดทุกกระแส ไม่งั้นจะเป็นคอนเทนต์ที่ดูฝืนเกินไปค่ะ

โดยการแตกประเด็นกระแสคือ การแยกแนวคิดของกระแสนั้นๆ ออกมา เช่น สมมติเราทำแบรนด์ขนมเค้กอยู่ แล้วมีกระแสของ MasterChef เข้ามา ซึ่งคนที่ดูคอนเทนต์กลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงที่ลูกค้าของเราเองก็จะรับชมเช่นกัน ฉะนั้นเป็นเรื่องดีที่จะจุดกระแสจากเรื่องเหล่านี้

แต่ขอบอกไว้ก่อนนะคะว่า Realtime Content มีทั้งกระแสที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว กับกระแสที่วางแผนไว้แล้ว และเลือกช่วงเวลามาอัพเดทในช่วงเวลานั้นพอดี โดยอย่างแรกให้มองว่า MasterChef มีอะไรที่เกียวข้องบ้าง เช่น ผู้เข้าแข่งขัน ภาษาหรือเทคนิคในการทำอาหาร เครื่องครัวที่ใช้งานและคำพูดของกรรมการ 

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถนำมาทำ Realtime Content ได้หมดเลย

 

หาจุดเชื่อมโยงกับแบรนด์

เมื่อเราได้ประเด็นที่คิดว่าจะเล่นแล้ว ขั้นตอนถัดมาคือ การหาจุดเชื่อมโยง อย่างร้านของเราเป็นร้านเค้ก จังหวะดีที่สุดคือลงช่วงของการทำขนมเค้ก ถ้าเรานำเสนอคอนเทนต์เป็นเทคนิคการทำเค้ก พยายามใช้คำหรืออธิบายเทคนิคแบบเดียวกับที่มีในรายการ เพราะตอนดูรายการคนจะเกิดคำถามว่าเทคนิคนั้นๆ คืออะไร

ซึ่งคอนเทนต์ของเราจะเข้ามาอธิบายเทคนิคการทำอาหารนั้น ทำยังไงบ้าง คนที่กำลังอยากได้คำตอบก็จะสนใจคอนเทนต์ของเรา เป็นการจับคู่ที่ลงตัวพอดี เรียกว่าเป็นการจับกระแสที่มีคุณภาพและมีโอกาสได้ลูกค้าเพิ่ม ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจอยู่แล้วในการรีเทิร์นคนติดตามกลับมาเป็นยอด Awareness

 

พลิกมุมคิด อย่าเล่นซ้ำ 

อีกเทคนิคหนึ่งที่สำคัญมากที่ทำให้คอนเทนต์ได้รับกระแสที่ดียิ่งขึ้นไปคือ การเล่นในมุมที่ไม่มีใครเล่นหรือไม่มีใครรู้มาก่อน แต่ต้องเชื่อมโยงกับแบรนด์เราเสมอนะคะ

ที่สำคัญคือการจะเล่น Realtime Content คือต้องติดตามกระแสตลอดเวลา เพื่อหาช่องทางในการเล่น อีกอย่างที่สำคัญคือเราต้องลงให้เร็วที่สุด ต่อให้คอนเทนต์แบบเราใครๆ ก็คิดได้ แต่ก็ต้องกำหนดจังหวะการลงคอนเทนต์ให้เร็วเพื่อเก็บกระแสในช่วงนั้นได้

จริงๆ แล้วมีอีกหลายเทคนิคมากมาย แต่ว่าสินค้าแต่ละแบรนด์ก็จะเล่นได้แตกต่างกันออกไป Content Realtime จึงต้องใช้ประสบการณ์ในการทำลองผิดลองถูก ลับคมความคิด

แบรนด์ไหนที่เริ่มสนใจที่จะนำ Realtime Content มาใช้กับแบรนด์ อย่าลืมเรื่อง DNA ของแบรนด์เด็ดขาด ว่าจุดขายของคุณคืออะไร และห้ามลืมขายของไม่อย่างนั้น จะเป็นแค่คอนเทนต์ธรรมดาปกติทั่วไป