Site icon Thumbsup

รีวิวหนังสือ ร็อก-ฐ-ศาสตร์ ถอดรหัสลับเพลงร็อกพันล้าน โดย @NickGenie #rock_ta_sart

rock_ta_sart

วันนี้ขอนอกเรื่องดิจิทัลสักนิดนะครับ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หากใครเมียงมองไปบนแผงหนังสือ จะพบหนังสือปกดำ ชื่อ “ร็อก-ฐ-ศาสตร์” ถอดรหัสลับเพลงร็อกพันล้าน 20 กลยุทธ์การตลาดสุดมัน(ส์) ที่มหา’ลัยไม่กล้าสอน ของ “นิค – วิเชียร​ ฤกษ์ไพศาล” ผู้บริหารรุ่นใหญ่แห่งค่ายเพลง Genie Records ของแกรมมี่ หนังสือบอกเล่าประสบการณ์การทำงานวงการเพลงที่กลั่นจากประสบการณ์การทำงานจริงมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของวงการเพลงไทยสากล มาจนถึงยุคดนตรีดิจิทัล หนังสือเล่มนี้น่าอ่านแค่ไหน อย่างไร เชิญไล่เรียงสายตา…

ผมเขียนรีวิวหนังสือเล่มด้วยความชอบดนตรีส่วนตัว ใครที่จะชอบหนังสือเล่มนี้คือคนที่สนใจวงการเพลง และคนที่ต้องการแรงบันดาลใจในแวดวงธุรกิจบันเทิงครับ

เมื่อเอ่ยถึงค่ายเพลงในบ้านเรา “แกรมมี่” ถือว่าเป็นค่ายที่อยู่ยั้งยืนยงที่สุดค่ายหนึ่ง เพราะมีผลงานเพลงออกมาให้แฟนเพลงได้ฟังกันมากมาย ตั้งแต่ยุค “เทป” “ซีดี 150 บาท” จนมาถึงยุค “ดาวน์โหลด” ทั้งหมดทั้งมวลนี้ผ่านฝีมือการประชาสัมพันธ์ การทำมิวสิควิดีโอ และการบริหารของ “นิค – วิเชียร ฤกษ์ไพศาล” นี่ล่ะครับ

“ร็อก-ฐ-ศาสตร์” เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ”นิค” นับตั้งแต่วันแรกๆ ที่ทำงานกับกลุ่มละครเร่ “มะขามป้อม” ในฐานะอาสาสมัครเพื่อสังคม จนวันหนึ่งเขาเริ่มพบว่างาน NGO ที่ตัวเองทำมันไม่ผิด ผิดแต่ที่ตัวเขาเองยังไม่รวย ในเมื่อมันไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ จึงหันมาทำงานกับแกรมมี่อย่างขยันขันแข็ง

วันเวลาผ่านไป “นิค” เติบโตขึ้นเป็นผู้บริหาร จนวันหนึ่งได้รับโจทย์จากผู้บริหารแกรมมี่ว่า ให้ออกมาตั้งค่ายย่อยของแกรมมี่ ภายใต้ชื่อว่า “Genie Records” โดยมีโจทย์ใหญ่ประกาศิตจาก “อากู๋” สั่งมาว่า “ห้ามเจ๊ง”

แรกๆ Genie ของ “นิค” ก็เปิดตัวได้ไม่เลวครับ มีศิลปินอย่าง “สุเมธแอนด์เดอะปั๋ง” “ไท ธนาวุฒิ” “พลพล” แต่ก็มีขายไม่ดีบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ก็ประคับประคองกันเรื่อยมา จนท้ายสุดก็มาประสบความสำเร็จกับเพลงร็อกที่คนไทยทุกคนรู้จักอย่าง Bodyslam, Big Ass, ป้าง นครินทร์ กิ่งศักดิ์, Paradox, พลพล, กะลา, Klear และอีกมากมายหลายวง

ถามว่า “ร็อก-ฐ-ศาสตร์” มันดีอย่างไร ผมว่าน่าสนใจก็ตรงเบื้องหลังความสำเร็จนี่ล่ะครับ เพราะ “นิค” นำมาเล่าหมดเปลือกแบบไม่มีกั๊ก อ่านแล้วเหมือนฟังพี่สอนน้อง เอาประสบการณ์ชีวิตมันส์ๆ มาเล่าให้ฟังแบบอ่านง่ายๆ เขียนด้วยภาษาพูดของตัวเอง แต่ผมไม่อยากจะเอามาใส่ตรงนี้เท่าไหร่ เดี๋ยวจะหาว่าสปอยล์ 🙂

ส่วนที่ผมชอบมากที่สุดของหนังสือตอนหนึ่งคือ บทที่ 9 “ทฤษฎีสามเหลี่ยม” ทฤษฎีว่าด้วยการบริหารธุรกิจเพลงในแบบของเขา แนวคิดของเขาก็คือ ธุรกิจดนตรีจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีคน 3 ฝ่าย เหมือน 3 เส้นตรงที่มาประกอบกันเป็นสามเหลี่ยม นั่นคือ “วง” “แฟนเพลง” “Hot Wave” วงดนตรีที่เขายกตัวอย่างในที่นี้ก็คือวง “กะลา”

“วง” ต้องออกแรงตระเวนเล่น Campus Tour ให้เพลงเป็นที่รู้จัก
“แฟนเพลง” ต้องออกแรงโทรขอเพลงทางวิทยุ
“Hot Wave” ต้องเปิดเพลงตามคำขอ และแรงเชียร์หน้าไมค์ที่บริสุทธิ์

ส่งผลให้ “กะลา” ขายดี แต่ปรากฏว่าขายที่ภาคใต้ไม่ได้ “นิค” จึงสลับปรับเปลี่ยนสามเหลี่ยมของเขามาเป็น

“วง” ยังคงเล่นโปรโมทเพลง แต่เปลี่ยนจาก Campus Tour ไปเป็น “ผับ”
“ผับ” ต้องรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ อำนวยความสะดวกเรื่องที่พัก อาหาร ค่าเดินทาง และต้องลงโฆษณาเล็กน้อยในวิทยุที่ “นิค” มอบหมาย
“คลื่นวิทยุ” ต้องเป็นตัวกลางประสานติดต่อประสานงานกับ “ผับ” งานหลักคือต้องเปิดเพลงให้ดัง ชวนคนไปฟังศิลปินเล่นใน “ผับ”

สุดท้าย (ณ ยุคนั้น) ทั้งสามฝ่ายแฮปปี้ ได้ตังค์ถ้วนหน้า

แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น… เพราะต่อมาผู้บริโภคเริ่มไม่ฟังวิทยุมากเหมือนก่อน Hot Wave ก็ไม่อาจยืนระยะกับคนไทยอีกต่อไป แฟนเพลงเริ่มไม่ซื้อเพลงฟังทางวิทยุ สิ่งที่ “นิค” ทำคือคิดใหม่ทำใหม่ เริ่มศึกษาว่าคนรุ่นใหม่เสพเพลงอย่างไร เขาพบว่า เพลงดังคุณภาพดีมีให้โหลดอยู่เต็มเว็บ เขาจำต้องเริ่มบอกแกมบังคับให้ศิลปินต้องใช้ Social Media ในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง  เข้าหาโลกออนไลน์มากขึ้น ปล่อยเพลงทีละซิงเกิ้ลเพื่อเรียกกระแสเป็นระยะเพื่อปูทางไปสู่การขายคอนเสิร์ต ขายเพลงออนไลน์ และ DVD

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนเสี้ยวของความสนุกใน “ร็อก-ฐ-ศาสตร์” แนะนำให้ลองหามาอ่านกันดูนะครับ จะได้ข้อคิดดีๆ หลายอย่างกลับไปอย่างไม่รู้ตัว 🙂