เคยไหมนอนหลับเต็มอิ่ม แต่ตื่นขึ้นมาก็ยังรู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิด หรือยังต้องเติมกาแฟทั้งเช้าทั้งบ่ายเพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้
แน่นอนว่าเป็นเรื่องธรรมชาติเมื่อเราเหนื่อยจากทำงานมาทั้งวันหรือออกกำลังกาย แต่การเหนื่อยล้านั่นต่างออกไป ไม่ว่าเราจะพักผ่อนแค่ไหนก็ไม่รู้สึกว่ามีพลังงานเพียงพอไปจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้ แล้วอาการเหนื่อยล้าเป็นยังไง การบริหารพลังงานต้องทำแบบไหน วันนี้ Thumbsup พาไปหาคำตอบกันครับ
อาการเหนื่อยล้า เป็นสาเหตุหลักของการหมดไฟและลาออกของคนทำงานในยุคปัจจุบันหากเกิดสัญญาณบางอย่างเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าเรากำลังมีปัญหากับบริหารพลังงานแล้ว
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน – ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ ทำอย่างนึงอยู่แล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน
- อารมณ์แปรปรวน – เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อะไรผิดหูผิดตาก็หงุดหงิดได้ง่าย
- ป่วยบ่อย – ปวดหัว ปวดหลัง ปวดตัว ปวดตา นอนหลับยาก เป็นไข้บ่อย
- รู้สึกผิดกับความไม่สำเร็จมากขึ้น – เริ่มทำงานไม่เสร็จทันเวลา ผลงานไม่ดีเหมือนก่อน ใส่ความพยายามเท่าเดิมแต่กลับแย่ลง รู้สึกผิดและโทษตัวเองมากขึ้น
เวลาเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด พลังงานก็เช่นกัน ซึ่งตามหลักแล้วพลังงานของเรามาจาก ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และจุดมุ่งหมาย การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลทางบวกทั้งทัศนคติ ความสามารถ และความยั่งยืนในการทำงาน บทความนี้จึงขอมุ่งเน้นไปที่การบริหารพลังงานในแต่ละส่วน ดังนี้
ร่างกาย: พลังงานทางกายภาย
การนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ การออกกำลังกายเป็นประจำ และการดูแลโภชนาการเป็นพื้นฐานของการดูแลร่างกายให้สามารถรับมือกับการเผาผลาญพลังงานในแต่ละวัน
การพักระหว่างวันเป็นการรักษาพลังงานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการลุกไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน การเดินเล่นรอบๆ ออฟฟิศ ไม่เพียงแต่ทำให้ได้พักสมองและอารมณ์ แต่ยังเป็นเวลาที่ผู้คนมักได้ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดด้วย
อารมณ์: คุณภาพของพลังงาน
เราจะทำงานได้ดีเมื่อรู้สึกมีพลังบวก แต่เมื่อเผชิญกับปัญหาและความท้าทายตลอดทั้งวันทำให้เข้าสู่อารมณ์ด้านลบ หงุดหงิด ร้อนใจ และวิตกกังวัล
การทำงานทุกอย่างย่อมเจอปัญหาอยู่แล้ว ดังนั้นทางออกจึงไม่ใช่หนีปัญหา แต่เป็นการเปลี่ยนมุมมองของปัญหา เช่น ‘หากผ่านปัญหานี้ไปแล้วเราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อมองย้อนกลับมา’ ‘ไม่ว่าผลลัพธ์ของปัญหานี้จะเป็นยังไง เราย่อมเติบโตและเรียนรู้จากมัน’ การเปลี่ยนมุมมองช่วยปรับอารมณ์ไปในด้านบวกและเห็นทางออกของปัญหาได้ง่ายขึ้น
จิตใจ: จุดโฟกัสของพลังงาน
การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Nultitasking) เป็นเรื่องปกติธรรมดาในหลายบริษัทหลายตำแหน่ง แต่มันเป็นสิ่งที่บั่นทอนประสิทธิภาพการทำงาน และมีต้นทุนสูงมากกว่าที่คิด การเปลี่ยนความสนใจจากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่งเพิ่มระยะเวลาการทำงานถึง 25%
การจัดลำดับความสำคัญของจึงเป็นวิธีบริหารพลังงานในส่วนของจิตใจได้เป็นอย่างดี โดยเราขอหยิบยกวิธีจัดการงานด้วยวิธีที่เรียกว่า Eisenhower Box โดยการแบ่งงานออกเป็น 4 ประเภท
- งานสำคัญและด่วน เป็นงานที่ต้องทำทันที
- งานสำคัญแต่ไม่ด่วน เป็นงานที่สำคัญก็จริง แต่เก็บไว้ทำทีหลังได้
- งานไม่สำคัญแต่ด่วน เป็นงานที่ให้คนอื่นทำแทนก็ได้ หรือไม่ต้องรีบทำก็ได้
- งานไม่สำคัญและไม่ด่วน เป็นงานที่ควรทำในเวลาที่เสร็จสิ้นจากทุกอย่างแล้ว
จิตวิญญาณ: เป้าหมายในการใช้ชีวิต
งานที่ดี คือ งานที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมาย หรืออย่างน้อยเราก็รู้ว่ากำลังทำงานนี้ เพื่อให้เราเติบโตไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ แต่ถ้าหากงานไม่ใช่ตัวเรา และตัวตนของเราไม่ได้มีแค่เรื่องงาน ก็ยังมีวิธีอื่นที่ช่วยรักษาจิตวิญญาณได้
ค้นหาสิ่งที่คุณทำได้ดีที่สุดและสิ่งที่คุณชอบมากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกัน เราอาจได้รับคำชมมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่ทำได้ดีแต่ไม่เราได้ชอบขนาดนั้น ในทางกลับกัน เราสามารถรักการทำบางสิ่งบางอย่าง แต่ไม่มีผลตอบแทนหรือรางวัล
ผลลัพธ์ของการหาสองสิ่งนี้เจอคือสามารถทำงานได้โดยไม่หมดไฟ และยังสามารถมีความหมาย/เป้าหมายในการใช้ชีวิตได้นั่นเอง
ที่มา