สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพของประชาชน แต่การร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในขณะนี้ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้ปัญหาทุกด้านที่ส่งผลกระทบเข้ามาพร้อมกันควรเร่งที่จะจัดการและพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับมาควบคุมได้ดีกว่านี้
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานกลุ่มการค้าปลีกและบริการ และหัวหน้าทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ของหอการค้าไทย เผยว่า กลุ่มการค้าปลีกและบริการ ดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่นที่จะจัดหาพื้นที่ฉีดวัคซีน เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดและช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมากและ มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยมีผลการดำเนินงาน 30 วันแรกภายใต้ 3 ภารกิจ
ทั้งนี้ การยื่นข้อเสนอความช่วยเหลือทั้ง 3 ด้านจะเป็นมาตรการที่คาดว่าทำได้อย่างรวดเร็วและประชาชนน่าจะเข้าถึงได้มากกว่าการไปกระจุกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลของรัฐเพียงอย่างเดียว
- จัดหาพื้นที่เพื่อกระจายวัคซีนให้รวดเร็วและทั่วถึง
กลุ่มการค้าปลีกและบริการได้นำเสนอพื้นที่ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ 302 แห่ง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครจำนวน 66 แห่ง และจังหวัดที่เหลือทั่วประเทศจำนวน 236 แห่ง และดำเนินการลงสำรวจพื้นที่สถานที่จริงเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 และได้รับอนุมัติจากกรุงเทพมหานครแล้วจำนวน 14 แห่งเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 และสามารถฉีดวัคซีนได้ 25,000 -30,000 คนต่อวัน
พร้อมทั้งสนับสนุนระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อาทิ คอมพิวเตอร์ เครื่องอ่านบัตรประชาชน ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่มสำหรับบุคคลากรและประชาชนทั่วไป หากมีปริมาณวัคซีนเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม มีความเป็นไปได้ที่จะมีการขยายจุดฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ดังนั้น กลุ่มการค้าปลีกและบริการจึงได้ประสานความร่วมมืออย่างทันทีไปยังเครือข่ายภาคีของหอการค้าไทยและนำเสนอพื้นที่ทั่วประเทศเพิ่มอีก 70 แห่ง ไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ทำให้ในขณะนี้ มีพื้นที่เสนอรวมทั้งหมดจำนวน 372 แห่ง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร จำนวน 82 แห่ง และจังหวัดที่เหลือจำนวน 290 แห่ง
อย่างไรก็ตาม พื้นที่แต่ละจุดในกรุงเทพฯ จะเป็น “ต้นแบบ” ของพื้นที่ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และครบวงจร (Total Solutions) ถือเป็นแชนด์บอกซ์นำร่อง ที่สามารถต่อยอดขยายจุดฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ที่ได้รับเลือกจากผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเราได้เริ่มทำให้เกิดขึ้นจริงโดยทันที และดำเนินการฉีดวัคซีนแล้วในพื้นที่ศูนย์การค้า คือ ศูนย์การค้า เซ็นทรัล สมุย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 และศูนย์การค้า เซ็นทรัล ระยอง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ภายใน 69 วันที่เหลือ ยังมีแผนดำเนินการในเรื่องของการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงมากขึ้น ด้วยการเป็นจุดเชื่อมโยงในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังบริษัทและโรงงานใหญ่ๆ ที่มีพนักงานจำนวนมาก เพื่อให้วัคซีนวิ่งหาประชาชน และ ลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน ภายในเฟสต่อไป รวมทั้งสนับสนุนให้จุดฉีดวัคซีนของภาคเอกชนเข้าไปอยู่ในระบบการจองฉีดวัคซีนของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเลือกเป็นจุดที่รับการฉีดวัคซีนได้
- เป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ กลุ่มการค้าปลีกและบริการ ยังเสนอเข้ามาเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นให้กับสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการอนุมัติสินเชื่อให้เร็วขึ้น โดยมีบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทลและธนาคารกสิกรไทย ที่จะจัดทำโครงการต้นแบบแซนด์บอกซ์นำร่องในเฟสแรก เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มียอดวงเงินกู้ต่ำกว่า 5 ล้านบาท
โดยล่าสุดได้นำเสนอรายชื่อและข้อมูลให้ธนาคารอนุมัติกว่า 6,000 รายเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการ SME จำนวนกว่า 1,000 ราย จะได้รับอนุมัติสินเชื่อเป็นกลุ่มแรก ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 และกว่า 70% ของทั้ง 6,000 รายนี้ ยังไม่เคยเข้าถึง Soft Loan มาก่อน
จากนั้นจะนำต้นแบบแซนด์บอกซ์ขยายความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ SME ที่มียอดวงเงินกู้ต่ำกว่า และหรือสูงกว่า 5 ล้านบาท ในเครือข่ายของหอการค้าไทย โดยจะทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาชิกของสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME รายเล็ก และคาดว่าจะกระจายต้นแบบการขอสินเชื่อ Soft Loan ไปยัง SME มากกว่า 100,000 ราย ทั่วประเทศ ภายในเดือนธันวาคม 2564 เพื่อเสริมสภาพคล่องและเป็นแต้มต่อในการทำธุรกิจต่อไป
นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งด้านที่สำคัญ กลุ่มการค้าปลีกและบริการ จึงนำเสนอแผนงานโครงการที่ชื่อว่า “ฮักไทย” กิน เที่ยว ใช้ (ช้อป) ของไทย เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายและมีอัตราการจ้างงานกลับคืนมาโดยได้มีการศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพื่อจัดทำแผนงานของโครงการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ โครงการ “ฮักไทย” มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อุดหนุนการกิน เที่ยว ใช้ของไทยพร้อมส่งเสริมให้ส่วนงานราชการและบริษัทต่างๆ จัดงานสัมมนาและประชุมในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่าแสนล้านบาท และมีอัตราการจ้างงานกลับคืนมา 25-30% ของการจ้างงานภาคการค้าปลีกและบริการ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างเร็ว และยั่งยืน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนมิถุนายน 2564