85% ของห้างค้าปลีกขาดความสามารถ เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญ ในการใช้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าเพื่อสร้างรายได้และผลักดันให้เกิดประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า ส่วน 91% ของห้างค้าปลีกไทยมองว่าการสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ๆ เป็นเป้าหมายที่สำคัญในปี 2563
ดันน์ฮัมบี้ เผยแพร่กรณีศึกษาหัวข้อ อนาคตของรายได้ธุรกิจห้างค้าปลีกต้องพึ่งพาข้อมูลเป็นตัวนำทาง ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่ว่าจ้างให้ Forrester Consulting ดำเนินการและสรุปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2019
โดยผลการศึกษาพบว่า 85% ของห้างค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกขาดความสามารถ เทคโนโลยี บุคลากร และกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการนำข้อมูลเชิงลึกของลูกค้ามาใช้เพื่อสร้างรายได้และเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า ซึ่งมูลค่าตลาดรวมทั่วโลกของธุรกิจนี้มีมูลค่าสูงถึง 5.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับประเทศไทยตัวเลขนี้พุ่งสูงถึง 91% แม้จะมีอุปสรรคต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัด แต่ห้างค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกส่วนใหญ่ (85%) ต่างมองว่าการสร้างรายรับที่เพิ่มขึ้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในปี 2563 และวางแผนที่เพิ่มรายรับด้วยการปรับปรุงการใช้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าที่ตัวเองมีอยู่เพื่อพัฒนากลยุทธ์ด้านลูกค้า (84%) และเพื่อใช้ในการตัดสินใจสำคัญด้านธุรกิจ (82%)
เดวิด เคลเมนท์ส์ ผู้อำนวยการฝ่ายค้าปลีกทั่วโลกของดันน์ฮัมบี้ กล่าวว่า “ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกต่างฝ่าฟันเพื่อความอยู่รอดกับการแข่งขันที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งจากร้านค้าที่เน้นขายของราคาถูก ธุรกิจที่เน้นสินค้าและบริการเฉพาะอย่าง และคู่แข่งรูปแบบใหม่อื่น ๆ ในขณะที่ต้นทุนในการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นยิ่งบีบให้กำไรที่น้อยมากอยู่แล้วถูกลดทอนให้น้อยลงไปอีก”
จากรายงานผลการศึกษาของ Forrester How Customer Experience Drives Business Growth ปี 2018 ผู้ค้าปลีกทั่วโลกพลาดโอกาสในการสร้างรายได้มหาศาล คิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐโดยเฉลี่ย เพียงเพราะล้มเหลวในการปรับปรุงประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า
สรุปผลวิจัยที่น่าสนใจ
- มีเพียง 15% ของห้างค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกเท่านั้นที่อยู่ในระดับผู้นำ โดยสร้างความแตกต่างด้วยกลยุทธ์การใช้ประโยชน์จากข้อมูลลูกค้าเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับซัพพลายเออร์ ในขณะที่ห้างค้าปลีกส่วนใหญ่ยังล้าหลังและไล่ไม่ทัน
Forrester เปิดเผยว่าความพร้อมสมบูรณ์ของห้างค้าปลึกแบ่งออกเป็นสามระดับ ได้แก่ ระดับผู้นำ (15%) ระดับกลาง (55%) และระดับเริ่มต้น (30%) ระดับผู้นำแยกตัวเองออกจากกลุ่มอื่นด้วยการผสานความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ที่ผลิตและขายสินค้าภายใต้แบรนด์ต่างๆ (CPG) โดยร่วมมือกันในด้าน
1) การแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า
2) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและการวัดผลเพื่อสนับสนุนการวางแผนด้านสื่อ
3) การเจรจาต่อรองแผนการวางสื่อโฆษณากับห้างค้าปลึกโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทางการค้าประจำปี
ทั้งนี้ในระดับภูมิภาค ห้างค้าปลีกต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา บราซิล อิตาลี สหราชอาณาจักร และประเทศไทยมีความโดดเด่นในฐานะกลุ่มประเทศต้นๆ ที่ถูกจัดอยู่ใน “ระดับผู้นำ” ซึ่งสามารถพัฒนากลยุทธ์การประยุกต์ใช้ข้อมูลลูกค้ามาขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้
- ทว่า 96% ของห้างค้าปลึกประสบกับปัญหาท้าทายในการพยายามใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนากลยุทธ์ลูกค้าเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ
ผู้ค้าปลีกต่างๆ กำลังเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ รวมถึงการไร้ประสิทธิภาพในการผสานรวมข้อมูลจากช่องทางต่างๆ และนำมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (36%) การไร้ความสามารถในการพัฒนามุมมองลูกค้าแบบองค์รวม (31%) และการขาดเทคโนโลยีและทักษะต่างๆ ที่จำเป็น (31%)
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ละเลยการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ในการสร้างรายได้จากข้อมูลลูกค้าและช่องทางสื่อโฆษณาภายในห้างร้าน/ระบบออนไลน์
ในขณะที่ 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้ข้อมูลลูกค้า อาทิจากโปรแกรมสมาชิก เพื่อจัดทำแคมเปญสำหรับลูกค้า แต่ทว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนไม่ถึงครึ่งใช้แหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ (49%) ระบบขายหน้าร้าน (49%) แอพพลิเคชันบนมือถือ (46%) ข้อมูลการส่งเสริมการขาย (46%) บริเวณที่ลูกค้าอยู่ (43%) และข้อมูลการวัดผลและจำนวนคลิกบนเว็บ (43%)
- ผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่พลาดโอกาสที่จะคว้ารายได้ที่ควรได้จากการไม่ใช้สินทรัพย์ด้านสื่อให้เกิดประโยชน์
มีเพียง 42% เท่านั้นที่เปิดพื้นที่การขายสื่อโฆษณาให้เจ้าของสินค้าในการสร้างแบรนด์บนเว็บไซต์ของห้างร้านตัวเอง และมีเพียง 37% เท่านั้นที่นำเสนอการขายสื่อโฆษณาภายในพื้นที่ห้างร้านและในสื่อสิ่งพิมพ์ของตัวเอง นอกจากนั้นมีแค่ 31% ที่ขายพื้นที่สื่อโฆษณาในการสร้างแบรนด์บนแอพพลิเคชั่นมือถือ ทั้งนี้ไม่รวม บราซิล (49%) จีน (47%) และสเปน (38%) ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้แอพพลิเคชั่นมากกว่าที่อื่นๆ
- 96% ของผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคที่เปิดพื้นที่ขายสื่อให้แก่ซัพพลายเออร์ CPG บนแอพพลิเคชั่นของตัวเองมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
โดย 40% สร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% นอกจากนี้มีบริษัท 92% ที่เสนอขายโฆษณาและโอกาสในการสร้างแบรนด์สินค้าบนเว็บไซต์ของตัวเองก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากช่องทางนี้เช่นกัน
- ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับตลาดประเทศไทยเมื่อพูดถึงเรื่องการนำข้อมูลมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์การบริหารลูกค้าคือ:-
-
- อุปสรรคทางด้านวัฒนธรรมในการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ
- การขาดประสิทธิภาพในการผสานรวมข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร
- การขาดประสิทธิภาพในการดึงข้อมูลจากทุกช่องทางมาวิเคราะห์เชิงลึก (อาทิ ออนไลน์, ห้างร้าน)
- การขาดวิทยาการข้อมูลภายในองค์กร รวมถึงทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแปลงสารให้เป็นแนวทางในการสร้างแผนธุรกิจต่อไป
เคลเมนท์ส์ กล่าวเสริมว่า “เวลาเป็นหัวใจสำคัญสำหรับผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในการเปิดใช้งานข้อมูลที่พวกเขามีอยู่แล้วเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าและสร้างช่องทางหารายได้ใหม่ๆ ที่สนับสนุนธุรกิจต่างๆ ของพวกเขาได้ในอนาคต นอกจากนี้ มีรายได้ที่ยังไม่ได้ก่อเกิดในธุรกิจห้างค้าปลีกจำนวนมาก ผู้ที่สามารถปลดล็อคศักยภาพของสินทรัพย์ข้อมูลและสื่อของตัวเอง และสร้างความร่วมมือที่ดีขึ้นกับซัพพลายเออร์จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ส่วนผู้ค้าปลีกที่ล้มเหลวในการปรับตัวจะไล่ตามไม่ทันในตลาดที่นับวันการแข่งขันก็จะยิ่งสูงขึ้น”
สามารถดาวน์โหลดกรณีศึกษาฉบับเต็มได้แล้วที่:https://www.dunnhumby.com/resources/reports/forrester-future-retail-revenues-must-be-data-led