Site icon Thumbsup

รีวิวหนังสือ : Makoto Marketing เมื่อปรัชญาญี่ปุ่นสามารถนำมาปรับใช้แบบไทยๆ ได้

ใครที่ชอบอ่านหนังสือธุรกิจการตลาด น่าจะคุ้นเคยกับชื่อของ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือ เกตุวดี Marumura กันอยู่แล้วนะครับ (ต่อไปนี้เพื่อความกระชับผมขอเรียก ‘อาจารย์เกตุ’ นะ) ผลงานที่ผ่านมาของอาจารย์เกตุ มีเยอะแยะหลากหลายเลยครับ ถ้าย้อน timeline ก็จะมี…

ผลงานทั้งหมดที่กล่าวมานี้ต้องบอกว่ามันดีเลยล่ะ หลายๆ คนก็ชมว่ามันทำให้เราอ่านสนุกเพลิดเพลินได้เรียนรู้สังคมญี่ปุ่นในมุมที่น่าสนใจ แต่เล่มที่เริ่มโดนใจผมจริงๆ ในฐานะคนทำธุรกิจ ก็คือ ‘ริเน็น’ ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยแนวคิดการบริหารธุรกิจแบบยั่งยืน โดยในเล่มนั้นอาจารย์เกตุได้เปรียบเปรยธุรกิจไว้กับต้นไม้ 2 แบบ คือ ต้นไผ่ และต้นสน

ต้นไผ่ – เป็นต้นไม้ที่เติบโตเร็วและขยายพันธุ์เร็ว ต้นไผ่อาจสูงเกือบหนึ่งเมตรได้เพียงชั่วข้ามคืน และมีอายุเฉลี่ยประมาณ 10-15 ปี เปรียบได้กับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นเป็นลำดับแรก รองลงไปคือ ลูกค้า และสังคม และสุดท้ายก็คือ พนักงาน คู่ค้าทางธุรกิจ

ต้นสน – ต้นไม้ที่ฝักรากลึกลงในดิน และเติบโตอย่างช้าๆ  แต่แม้ผ่านอากาศร้อนจัด หรือหิมะตกหนักเพียงใด ใบสนก็ยังเป็นสีเขียวเข้มเสมอ ที่สำคัญมันยังเป็นพืชที่มีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่า 2,500 ปี ส่วนในแง่การดำเนินงาน บริษัทต้นสนจะให้ความสำคัญกับพนักงานก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเชื่อว่า ถ้าพนักงานมีความสุข พนักงานก็จะสร้างคุณค่าที่ดีให้กับลูกค้าได้นั่นเอง

แน่นอนว่าในริเน็น อาจารย์เกตุได้ชี้ให้เรามองแบบต้นสน พร้อมชวนให้เราประกอบกิจการด้วยจิตวิญญาณ (คำว่าจิตวิญญาณนี่ผมไม่ได้คิดเองนะ @imenn คิด และรีวิวเอาไว้น่าสนใจเช่นกัน)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องบอกตามตรงว่าใครที่ได้อ่านริเน็น เราก็จะรู้กันว่า อาจจะมีคนเถียงในใจกันว่า

“นั่นมันเรื่องของสังคมญี่ปุ่นนะ แล้วเอามาทำจริงกับเมืองไทยมันจะได้เหรอ?”

หรือไม่ก็

“ทำจริงไม่ได้หรอก แค่อ่านแล้วรู้สึกดีเฉยๆ”

และเอาจริงๆ ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยคิดแบบนั้นเหมือนกันนะครับ รู้สึกว่าแนวคิดมันดี ลึกซึ้ง แต่ไม่แน่ใจว่าจะไปทำจริงยังไงดี แต่แทนที่ผมจะปล่อยหนังสือไว้บนหิ้งเฉยๆ ผมยังไม่หยุด แต่พยายามหาคำตอบต่อ

จากนั้นไม่นาน ขณะที่ความสงสัยหมุนวนอยู่ในหัว ผมก็มีโอกาสไปร่วมชั้นเรียนริเน็นของอาจารย์เกตุ จึงได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นหลายๆ คน และตกผลึกได้ว่า ริเน็นนั้นเป็นความคิดระดับ ‘ปรัชญา’ การบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนที่เป็นไปได้กับเมืองไทย หากผู้ก่อตั้งธุรกิจนั้นจะต้องมีพลังปณิธานที่ชัดเจน และมุ่งมั่นมากเพียงพอ เราแค่ต้องขบปรัชญาให้แตกต่อมาถึงระดับกลยุทธ์ให้ได้

และในขณะที่พยายามจะแตกกลยุทธ์… อาจารย์เกตุก็ออกหนังสือ Makoto Marketing หลักสูตรการตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุ่นออกมา

เอาจริง ผมไม่รู้หรอกว่าเธอจะสื่ออะไรต่อ ในฐานะแฟนหนังสือ ผมก็รีบหามาอ่านอย่างละเอียด และก็พบกับสิ่งที่ตามหามานาน นั่นคือขั้นตอนวิธีคิดที่เราเคยอยากได้ตอนอ่านริเน็นจบ

ตัวหนังสือแบ่งออกเป็นทั้งหมด 20 บท แต่ละบทจะเริ่มต้นด้วยปมปัญหาแบบธุรกิจไทยๆ จากนั้นอาจารย์เกตุจะพาคุณดำดิ่งเข้าไปสู่กรณีศึกษา จากนั้นเธอจะดึงคุณกลับมาที่บริบทของปัญหาธุรกิจไทยที่เกริ่นไว้ตอนต้น โดยตบท้ายด้วยแบบฝึกหัด หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านตัวอักษรกับคุณ และปิดจบท้ายหนังสือด้วยการชวนคุณสอบไฟนอลด้วยการตอบคำถาม 13 ข้อกับตัวคุณเองให้ได้ว่า ถ้าคุณจะดำเนินธุรกิจ และทำการตลาดให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนคุณจะต้องทำอย่างไรบ้าง

สรุปจบนะครับ ถ้าหาก ‘ริเน็น’ คือปรัชญา ‘Makoto Marketing’ คือหนังสือที่อธิบายกลยุทธ์พร้อมกรณีศึกษา ที่ทำให้คุณเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ถ้าคุณจะทำธุรกิจที่ดี และยั่งยืน จะต้องทำอย่างไรบ้าง 

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำธุรกิจ แล้วรู้สึกว่าตอนเช้าไม่อยากลุกออกจากเตียงไปทำงานเลย หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่จะชาร์จพลังให้คุณในเช้าวันนั้นเท่านั้น แต่มันยังชี้แนวทางให้คุณรักในสิ่งที่คุณทำต่อไปเรื่อยๆ ด้วย

ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงครับ 10/10