ภาพประกอบจาก Amazon
ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้รู้จัก Ann Handley มาก่อน จนกระทั่งวันที่ทีม thumbsup เรามีประชุมทีม และพี่ปอง @jakrapong ได้เล่าเรื่องของ Ann Handley ให้ทีมฟัง ผมจึงเข้าไปค้นหาข้อมูลและพบว่า Ann Handley เป็นหญิงเก่งที่มากประสบการณ์และเก่งในการเล่าเรื่องโดยเฉพาะในสายของสังคมออนไลน์ ผมจึงไม่ลังเลที่จะสั่งซื้อหนังสือเล่มใหม่ของเธอและได้มีโอกาสอ่านบน Kindle ก่อนที่จะวางขายในรูปเล่มวันที่ 15 กันยายนนี้
Everyone Writes มีเนื้อหาที่ตรงกับชื่อหนังสือเป๊ะแบบไม่ต้องมีการตีความใดๆ Ann Handley เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลในและแนะนำทุกๆ คนที่สนใจอยากเล่าเรื่องราวได้ดี โดยเฉพาะคนที่เป็นตัวแทนของแบรนด์ที่ต้องพัฒนาทักษะในการสื่อสาร โดยเฉพาะในยุคสังคมออนไลน์ที่ดูเหมือนว่าความพิถีพิถันอาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเธอได้แย้งว่าในความเป็นจริงแล้วมันสำคัญขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
Ann ได้เปิดประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่าจริงๆ แล้วการเขียนไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ แต่การเขียนให้ดีนั้นเป็นเรื่องของนิสัย, ความเข้าใจในกฎพื้นฐาน และความเอาใจใส่ (ที่เธอตั้งใจใช้คำว่า giving a damn) ซึ่งทุกๆ คนสามารถเขียนให้ดีได้ และการเขียนก็เหมือนกับการออกกำลังกายที่ต้องพัฒนากล้ามเนื้อที่จำเป็นให้ทำงานได้ดี
หัวใจสำคัญหนึ่งก็คือ ประเด็นที่เธอบอกว่า content ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือที่อยู่บนเว็บไซต์, blog หรือบน newsletter แต่จริงๆ แล้วมันรวมถึงทุกๆ อย่างที่ลูกค้าสัมผัสและมีปฎิสัมพันธ์ด้วยได้ มันคือประสบการณ์ที่ครบทุกมุม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ Everything is Content คำพูดต่างๆ จึงเป็นตัวแทนหรือ ambassador ของแบรนด์ ดังนั้นการเขียนที่ดีจึงควรมาจากพื้นฐานของคอนเทนต์ที่ดี, เป็นกระจกสะท้อนความคิดที่ดีและชัดเจน และเป็นกุญแจสำคัญไปสู่มุมมองที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นคำพูดต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ (words matter) และการเลือกคำพูดและสไตล์ในการเล่าเรื่องจึงเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด
หนังสือ Everyone Writes ถูกวางโครงสร้างเป็นส่วนๆ ดังนี้
- Part 1 ที่เน้นไปที่กฎที่แนะนำวิธีการเขียนให้ดีขึ้น เช่น การเลือกวางคำพูดที่สำคัญที่สุดต้นประโยค, การจัดวางโครงสร้างของเรื่อง, การเปรียบเทียบที่ผู้อ่านคุ้นเคย เป็นต้น
- Part 2 ขยับมาเป็นเรื่องที่เป็นทางการมากขึ้น เช่น การใช้แกรมมาร์ หรือการไม่ใช้คำผสมที่ดูเท่ เช่น listicle (list-article) chillaxing (chill-relaxing) เพราะคำจะถูกปรุงแต่งเกินความจำเป็น รวมไปถึงเรื่องที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วอย่าง passive และ active voice
- Part 3 เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง ซึ่ง Ann ได้มีเทคนิคเท่ๆ ในการเล่าเรื่องเช่น คิดวิธีการเล่าเรื่องประหนึ่งคุณจะเป็นคนเปลี่ยนแปลงโลกนี้ หรือ ประหนึ่งเรื่องนี้มีแค่คุณคนเดียวที่เล่าได้ เป็นต้น
- Part 4 ครอบคลุมเรื่องของการนำเสนอหรือการตีพิมพ์ เช่น การเล่าความจริง การวางเนื้อหาให้สมดุล การคำนึงถึงลิขสิทธิ์
- Part 5 เกี่ยวกับการที่แบรนด์เป็นผู้เล่าเรื่อง เช่น การเขียนสำหรับช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น Twitter, Facebook, การใช้ ้hashtags, การเขียนหัวข้อของเรื่องที่ต้องการเล่า
- Part 6 เป็นเรื่องของเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเขียน
ภาพประกอบจาก Amazon
หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนให้อ่านง่ายด้วยการใช้ภาษาที่คนทั่วไปคุ้นเคย ไม่ใช้ศัพท์ยาก นอกจากนั้นการเล่าเรื่องไม่ได้ออกมาในแนววิชาการ แต่เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง มีการแทรกมุกตลกอยู่อย่างต่อเนื่องทำให้อ่านเพลิน สามารถอ่านจบได้ภายใน 1-2 วัน
ถ้าถามว่าคนที่ไม่มีพื้นฐานในการเขียนเลยจะอ่านรู้เรื่องหรือเปล่า ผมตอบได้เลยว่า ได้แน่นอน ไม่มากก็น้อย แต่ที่แน่ๆ คุณผู้อ่านจะได้แนวคิดและตัวอย่างที่ดีที่สามารถนำไปลองประยุกต์ใช้ได้ทันที โดยเฉพาะในการเขียนบนโลกออนไลน์ ที่ Ann ให้คำแนะนำไว้ชัดเจนมาก เช่น การเขียน blog ควรใช้คำไม่เกิน 1,500 คำ, ความยาวของคลิปบน YouTube ไม่ควรเกิน 3 – 3.5 นาที, แต่ละย่อหน้าไม่ควรยาวเกิน 4 บรรทัด เป็นต้น
ส่วนตัวแล้วผมชอบหนังสือเล่มนี้ทันทีตั้งแต่ก่อนเข้าบทแรก และอ่านเพลินมาเรื่อยๆ จนจบ ได้แนวคิดที่ดีและสามารถกลับมาดูรายละเอียดซ้ำได้เมื่อจำเป็น ดังนั้นหากใครกำลังมองหาหนังสือดีๆ ไว้เพิ่มความรู้สักเล่ม อยากให้ลองหามาอ่านกันดูครับ