Site icon Thumbsup

Influencer ไทยมาแรง Revu แนะวิธีการทำตลาดให้แบรนด์ด้วยเทรนด์ไมโครอินฟลูเอนเซอร์

คนรุ่นใหม่นิยมจะทำอาชีพรีวิวกันมากขึ้น โดย REVU แพลตฟอร์มสำหรับอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ ที่ใช้งานได้ฟรี แม้จะไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็สามารถหัดประกอบอาชีพด้านนี้ได้สร้างโอกาสมีชื่อเสียงสำหรับอนาคต โดยอินฟลูเอนเซอร์หลายคนมีชื่อเสียงจากช่องทางนี้

คุณอนุพงศ์ จันทร ผู้บริหาร Revu แพลตฟอร์มด้านการรีวิวสินค้าและบริการอันดับหนึ่งของประเทศไทยในเครือบริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด เผยว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสินค้ากว่า 500 แบรนด์ ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตในระดับเลข 2 หลักมาโดยตลอด และคาดว่าในปีนี้จะเติบโตจากปี 2018 ถึง 26% ด้วย

ที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม Revu สามารถสร้างรีวิวสินค้าและบริการต่าง ๆ บนโลกดิจิทัลไปแล้วกว่า 18,000 ชิ้น ซึ่งรีวิวเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่นิยมเสิร์ชหาประสบการณ์จากผู้ใช้จริง ส่งผลให้รีวิวของไมโครอินฟลูเอนเซอร์จาก Revu สามารถตอบโจทย์คอนซูเมอร์และนำไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้

สถิติที่น่าสนใจ

“ปัจจุบัน มีนักรีวิวให้ความสนใจสมัครเป็นสมาชิกบนแพลตฟอร์ม Revu แล้วมากกว่า 11,000 คน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีนักรีวิวอยู่บนแพลตฟอร์มทะลุ 15,000 คน ปัจจัยที่ทำให้นักรีวิวให้ความสนใจแพลตฟอร์มของ Revu เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการจับมือกับแพลตฟอร์ม sellzabuy.com ของวายดีเอ็มเพื่อช่วยนักรีวิวในการนำเสนอสินค้าหรือบริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น”

นอกจากนั้นทาง Revu ยังมีการจัดเวิร์กชอปเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับนักรีวิวของแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักรีวิวสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาชิ้นงานของตนเองให้น่าสนใจมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของแบรนด์ รวมถึงคอนซูเมอร์ได้ดียิ่งขึ้นด้วย

แม้ว่าแบรนด์ส่วนใหญ่จะนิยมใช้งานพรีเซนเตอร์ แต่ในช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงปีนี้ พบว่า จำนวนของไมโครอินฟลูเอนเซอร์เติบโตขึ้นเร็วมาก เพราะคนยุคนี้จะใช้การค้นหาผ่าน Google และอ่านข้อความรีวิวจำนวนมาก เมื่อเชื่อในการรีวิวที่สมจริงแล้วก็จะตัดสินใจซื้อ ทำให้ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอินฟลูเอนเซอร์ไทยเพิ่มขึ้นถึง 60% ซึ่งส่วนใหญ่จะรีวิวผ่าน Facebook ทั้งสิ้น

ด้านมูลค่าตลาดของสินค้าที่คนซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ยังคงเป็นสินค้ากลุ่มแฟชั่นและความงาม โดย Revo เอง มีแบรนด์สินค้าความงามกว่า 400 แบรนด์ ส่วนสินค้าที่กำลังต้องการอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากคือกลุ่มแม่และเด็ก รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้ชาย

ทางด้านของแพลตฟอร์มที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในแต่ละประเทศนิยมใช้งาน สำหรับประเทศไทยยังคงเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่าง Facebook Blog และ Instargram ซึ่งความนิยมในแพลตฟอร์มของแต่ละประเทศจะคล้ายคลึงกันคือเน้นโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แต่หากต้องการให้ค้นหาเจอ คือควรทำบล็อก เพราะการค้นหาผ่าน Google นั้น ยังต้องผ่าน Keyword และ SEO หากคนที่อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์จึงควรทำบล็อกและโซเชียลมีเดียควบคู่กันไป

ส่วนเพศและอายุของคนเป็นอินฟลูเอนเซอร์บนระบบของ Revu นั้น ยังคงเป็นเพศหญิงมากถึง 77% และช่วงอายุที่ 25-34 ปีเป็นช่วงอายุที่นิยมประกอบอาชีพนี้มากที่สุด และจำนวนของอินฟลูเอนเซอร์ก็เติบโตเร็วขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าสิ้นปีนี้จะแตะ 15,000 คนได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ เด็กรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 18 ปีก็เข้ามาเป็นอินฟลูเอนเซอร์กันมากขึ้น โดยไม่ได้มองเรื่องตัวเงิน แต่มองเรื่องของการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์และได้ใช้งานก่อนผู้อื่น เพื่อฝึกฝนและต่อยอดในการประกอบอาชีพสายรีวิวเวอร์ บล็อกเกอร์หรือยูทูปเบอร์ในอนาคต

เดินหน้าสู่ SEA

อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดไมโครอินฟลูเอนเซอร์ออกสู่ระดับภูมิภาคช่วยให้แบรนด์ทำการตลาดได้ลึกซึ้ง และเหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้นๆ มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยจะเน้นการรีวิวผ่านบล็อกเป็นหลัก แต่ในเวียดนามนิยมรีวิวผ่านเฟซบุ๊ก หรือไต้หวันที่นิยมรีวิวผ่านอินสตาแกรม เป็นต้น การที่แบรนด์สามารถเข้าถึงไมโครอินฟลูเอนเซอร์ของแต่ละประเทศ ทำให้ข้อมูลของสินค้าหรือบริการได้รับการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่บนช่องทางที่ถูกต้องนั่นเอง

“การแข่งขันในโลกการตลาดดิจิทัลเป็นการแข่งขันที่ต้องอาศัยกลยุทธ์ เห็นได้จากการทำงานร่วมกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ที่ต้องมีการวางกลยุทธ์ให้ชัดเจนว่าจะให้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนทำหน้าที่อะไร ซึ่งทั้งหมดนี้คือการทำเพื่อตอบโจทย์คอนซูเมอร์ที่ต้องการรีวิวจากผู้ใช้จริงสำหรับประกอบการตัดสินใจ” คุณอนุพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย