Site icon Thumbsup

“กลยุทธ์อินฟลูเอนเซอร์” ทำอย่างไรให้เกิด ลองฟังแนวคิดที่น่าสนใจจาก Revu

คนรุ่นใหม่เริ่มมีความฝันอยากเป็น influencer กันมากขึ้น อาจเพราะเป็นงานที่ได้ทำตามความพอใจและทดลองใช้สินค้าก่อนคนอื่น ทำให้ความนิยมในการรีวิวสินค้าและบริการเรียกว่าบูมมาก จนไปถึงความใฝ่ฝันที่อยากประกอบอาชีพด้านนี้กันเลย ทาง thumbsup จึงได้ชักชวนทีม Revu Thailand มาให้ความรู้ด้านการเป็นอินฟลูเอนเซอร์กันค่ะ โดยทางเราได้พูดคุยกับ คุณอนุพงศ์ จันทร กรรมการผู้จัดการ แพลตฟอร์ม “เรวู” บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด และคุณนันทกาญจน์ แสงสว่าง Senior Marketing & Operation Manager บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด

อนุพงศ์ จันทร กรรมการผู้จัดการ แพลตฟอร์ม “เรวู” บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด

หากมองย้อนกลับไปในเรื่องของการเริ่มต้นกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทยนั้น คุณอนุพงศ์ เล่าว่า มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เบื่อโฆษณานะครับ ขนาดเราเป็นนักโฆษณายังเบื่อเลย ถ้าย้อนกลับไปเมื่อก่อนก็จะเป็นเพจดังๆ เกิดขึ้นกันเยอะมาก แต่พอมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก จำกัดการเข้าถึงหรือ Algorithm ทำให้ความดังของคนเหล่านี้ลดลง คนก็เลยหันมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์กันเองมากขึ้น จนมีนักรีวิว และ youtuber ก็เริ่มเกิด คนก็เลือกเชื่อคนพวกนี้แทนโฆษณาและเพจดังต่างๆ 

 

ความน่าเชื่อถือของอินฟลูเอนเซอร์ หรือ เซเลบลิตี้ ต่างกันอย่างไร

คุณอนุพงศ์ : ก็เป็นเรื่องของยุคสมัยนะครับ จากประสบการณ์เมื่อก่อนคนดูโฆษณาจะมีดาราเป็นพรีเซนเตอร์ รักใครชอบใครก็จะซื้อตามเค้า แต่พอยุคดิจิทัลเนี่ย พอมี consideration stage ปุ๊บ คนก็เริ่มหาข้อมูล แล้วจะหาข้อมูลจากไหนล่ะ ก็มีแต่บล็อกเกอร์มาช่วยรีวิวให้ คนก็จะเชื่อการให้ข้อมูลของบล็อกเกอร์มากกว่าดารา แต่ถ้าถามว่ายังชอบดาราอยู่ไหม ก็ยังชอบอยู่นะ แต่อาจจะหาข้อมูลเชิงลึกได้มากกว่า

ทำไมคนอ่านถึงนิยมเชื่อกลุ่ม blogger และ influencer มากกว่า

คุณนันทกาญจน์ : ถ้าเป็นในส่วนของบล็อกเกอร์อาจเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ จะมีการให้ข้อมูลเชิงลึกที่มากกว่านะคะ ทั้งในแง่ของ Ingredients ประกอบกับเวลาที่รีวิวจะมีผลจากการทดลองใช้งานทั้งก่อนและหลัง พอมีผลข้อมูลเชิงลึกประกอบกับผลหลังการใช้งานมาประกอบกัน ทำให้การรีวิวสินค้าและบริการในแต่ละครั้งมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ผู้บริโภคจะรู้ได้ยังไงอินฟลูเอนเซอร์คนไหนไม่หลอก

คุณอนุพงศ์ : มันแน่นอนอยู่แล้วว่า คนที่จะเปลี่ยนครีมทุกวันมันเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นว่าคนนั้นใช้ต่อเนื่องและยี่ห้อเดิมตลอด ก็ย่อมที่จะน่าเชื่อถือมากกว่า หรือว่าเค้าถ่ายคลิปนี้เห็นตั้งแต่ทายังไง ทาเสร็จเรียบร้อย รอ 5 นาทีแล้วออกมาดีขึ้นจริงๆ มันเป็น proven efficacy อย่างนั้นจริงๆ คนก็จะเชื่อครับ มันหมดยุคของการที่มาบอกว่า ถ่ายรูปแค่ Before-After ละ แต่ต้องผ่านกระบวนการเอามาลองใช้จริงมากกว่า คนก็จะเชื่อคนที่เอามาใช้จริงๆ มากกว่าครับ

 

อยากเริ่มต้นเป็นอินฟลูเอนเซอร์ควรทำอย่างไร

รีวิวผ่าน Platform ชื่อดัง ควรเริ่มต้นอย่างไร

คุณอนุพงศ์ : ต้องทำความรู้จักแต่ละแพลตฟอร์มกันก่อนนะครับ ว่าแต่ละแพลตฟอร์มมีความโดดเด่นอย่างไรบ้าง เช่น Twitter เป็น Short Description การจะทำ twitter ให้สำเร็จ ควรจะทำกระแสด้วย Hashtag มากกว่า 

ส่วน Facebook เดี๋ยวนี้ก็ถ้าเป็นคนดังยัง Effective เพราะคนตามเยอะเนอะ คนก็จะเห็นคอนเทนต์เยอะ แต่ถ้าเป็นพวกเรากันเองเนี่ย ไม่เห็นคอนเทนต์เลย แป๊บเดียว feed ก็หายไปหมดแล้ว ดังนั้นจึงเหมาะกับการทำ Short review สมมุติไปกินอาหารอะไรมาแล้วแชร์ให้เพื่อนฟัง ส่วน Instagram จะเป็นรูปแบบของ Photo review ถ้ารูปสวยคนจะอ่านและดู description ซึ่งอาจจะต้องน้อยมากๆ เพราะคนดูรูปซะส่วนมาก หรือ Youtube เอง ก็จะเหมาะกับคอนเทนต์แนว

คุณนันทกาญจน์ : คนที่รับชม youtuber นั้น ย่อมต้องการความ entertain ดังนั้นเนื้อหาต้องให้ความสนุกสนาน พอสนุกสนานหรือตรงจริตกับคนที่รับชมเขาก็จะติดตามดูเรื่อยๆ จนจบ

คุณอนุพงศ์ : อย่างแพลตฟอร์มที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จคือการรีวิวผ่านบล็อก สำหรับ Revu จะเป็นแพลตฟอร์มตรงกลางที่เชื่อมต่อระหว่างแบรนด์กับอินฟลูเอนเซอร์ โดยเราจะให้แบรนด์ที่ต้องการหาอินฟลูเอนเซอร์มารีวิวสินค้าส่งข้อมูลและความต้องการของเขามา จากนั้นก็จะให้อินฟลูเอนเซอร์ที่สนใจสินค้าประเภทไหนก็ส่งประวัติและข้อมูลของตนเองเข้ามาในระบบ Revu จะเชื่อมข้อมูลสองส่วนนี้ไว้ด้วยกัน

นอกจากนี้ revu จะแนะนำให้อินฟลูเอนเซอร์ทุกคนรีวิวผ่านบล็อกนะครับ แม้จะมีคนมาถามว่า blog ยังมีคนใช้อยู่เหรอ ถ้าดูตามข้อมูลอ้างอิงหลายๆ แห่งจะเห็นว่า blog ถือว่าเป็นเว็บไซต์อันดับ 8 ในประเทศไทยนะครับ ที่ยังได้รับความนิยมอยู่ 

หากถามว่าทำไม blog ถึงดีละ เพราะมันถูกค้นหาเจอบน Google นะครับ ยิ่งคนนิยมค้นหาผ่าน google เนี่ย ยังไงก็ต้องหาเจอ แต่ถ้าเราไปใช้แพลตฟอร์มอื่น อย่าง Facebook, twitter หรือ instagram เนี่ย Search ยังไงก็ยากเนอะที่จะเจอ เพราะฉะนั้นเนี่ยก็เป็นอีกหนึ่ง another chanel ที่เราจะเขียนรีวิวบนบล็อกนะครับ

 

อยากประกอบอาชีพ Influencer ควรเริ่มต้นอย่างไร

คุณอนุพงศ์ : อยากให้ลองเริ่มเลยนะครับ อาจจะเริ่มจาก Facebook ของตัวเองก่อนก็ได้ ถ้าเขียนแล้วมีคนชอบ คน Like เยอะก็อาจจะเติบโตไปได้ อันนี้ basic เนอะ แต่ถ้าอยากฝึกพัฒนาขึ้นไปอีก ก็ลองไปซื้อสินค้ามา จากนั้นลองเขียนรีวิวบน Blog ดู 

คุณนันทกาญจน์ : ส่วนวิธีการเขียนให้คนอ่านไม่รู้สึกว่าขายของมากเกินไปนั้น ก็จะอยู่ที่สไตล์การเขียนของแต่ละคนนะคะ อาจจะเริ่มจากการยกปัญหาที่เรามีอยู่และเขียนให้ relate กับสินค้าที่เรามีและอยากจะรีวิวก่อน ซึ่งภาษาเขียนต้องอ่านแล้วเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนมาก แต่ก็ต้องไม่ทิ้งความเป็นตัวของตัวเองนะคะ

ตามมาก็คือ เรื่องของรูปภาพ เรียกว่ามีส่วนสำคัญมาก ที่จะดึงให้คนมาอ่านรีวิวของเรา การถ่ายรูปจึงต้องโฟกัสให้เห็นโปรดักส์หรือองค์ประกอบที่ชัดเจน ภาพต้องไม่เบลอ หรือดูยาก

จากนั้น การทดลองใช้งาน Before-After จะต้องให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนว่าก่อนใช้เป็นอย่างไร หลังใช้งานแล้วเป็นอย่างไร อันนี้ก็จะช่วยให้คอนเทนต์ดู real มากขึ้นและคนเชื่อถือมากขึ้นค่ะ

คุณอนุพงศ์ : ผู้บริโภคมองหาคอนเทนต์ที่จริงใจหรือออกมาจริง ดังนั้นมันสำคัญมาก ถ้าเข้าไปในกระทู้บางแห่งจะเห็นว่ามีคนเข้าไปจับม้ากันว่ากระทู้นี้จ้างโฆษณาหรือเปล่า เพราะตอนนี้คนมองหาความจริงกันซะมาก ดังนั้นจึงควรเป็นคนใช้จริง ทดลองใช้งานสินค้านั้นจริงๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปและบอกว่ามันดี

 

ดราม่าบน pantip ส่งผลต่อแบรนด์อย่างไร?

คุณนันทกาญจน์ : หากต้องการทำรีวิวบน pantip นะคะ ให้บอกไปชัดเจนเลยว่าเป็น SR-Sponsored Review หรือ CR-Consumer Review ค่ะ (อ้างอิงข้อมูลจาก : pantip ) ถ้าเราได้สินค้ามาจากทางแบรนด์โดยตรงกรงชัดเจนไปเลยว่ามีคนสนับสนุนสินค้ามา คนอ่านก็จะเลือกอ่านหรือปิดไปเลยแล้วแต่ความพึงพอใจ ในขณะเดียวกันทางแบรนด์เองก็ต้องเปิดกว้างในการรับเนื้อหารีวิวทุกประเภทได้นะคะ หากบางคนใช้แล้วอาจจะไม่ได้ดีมาก เพราะสภาพร่างกายและผลการทดลองใช้ของแต่ละคนจะต่างกัน

แต่ถ้าเรารู้ว่าได้รับสินค้ามาจากแบรนด์ แต่ไม่บอกคนอ่านหรือผลจากการรีวิวไม่เป็นความจริง คนอ่านก็จะรู้ทันทีและเขาก็จะแอนตี้บัญชีผู้ใช้งานนี้ทันทีเช่นกัน

โดนจับโป๊ะควรแก้ไขอย่างไร

นักสืบพันทิพเรียกว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ธรรมดาเลย เพราะสามารถสืบค้นหาแบคกราวน์ได้เลย หากใครทำพลาดสักครั้งจะโดนเหยียบซ้ำจนลุกขึ้นยาก ดังนั้นการ move on ที่ดีคือการขอโทษ เพราะยังไงคนไทยก็พร้อมจะให้อภัยคนที่ทำพลาด

คุณอนุพงศ์ : แม้นักสืบพันทิพจะโหด แต่พวกเขาแค่ต้องการความจริงนะครับ ดังนั้น ถ้าเราทำผิดจริงก็ควรบอกไปเลยว่าขอโทษ และแสดงความจริงใจเหมือนเดิม  แต่ถ้าเป็นในส่วนของแบรนด์เองเน่าจะยากกว่าอินฟลูเอนเซอร์นะ เพราะเค้าให้อินฟลูเอนเซอร์เป็น spoke person แทนเค้าอยู่ละ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นมุมแบรนด์คงไม่ออกมาแก้ตัวอะไรดีกว่า  นอกจากว่าถ้าเป็นเคสหนักๆ ก็ต้องขอโทษอย่างจริงใจครับ หากเรายิ่งไปงัดข้อมูลมาสู้ แม้เราจะมีความจริง แต่ถ้าไม่ถูกใจคนฟังสักครั้งแล้ว แก้ตัวอย่างไรก็ยังไม่ดีขึ้นมาอยู่ดีครับ ฉะนั้น จบเรื่องให้ไวน่าจะดีกว่า

นันทกาญจน์ แสงสว่าง Senior Marketing & Operation Manager บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด

 

หลักในการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ของแบรนด์

การเลือกอินฟลูเอนเซอร์ของแบรนด์นั้น จะต้องมีการวางแผนระยะยาวที่ชัดเจนและมองภาพรวมที่ครอบคลุมทั้งปีไม่ใช่แค่ by campaign เพราะการดูผลระยะสั้นยอดขายก็จะมีแค่ระยะสั้น แต่ถ้ามองภาพรวมทั้งปีจะกำหนดการโปรโมทและเว้นช่วงเวลาได้เหมาะสม ทำให้มียอดขายต่อเนื่อง

คุณอนุพงศ์ : อันดับแรกสิ่งที่แบรนด์อยากใช้กลยุทธ์นี้ต้องคิดก่อนเลยว่า วัตถุประสงค์ของการสื่อสารคืออะไร อันนี้สำคัญมาก จากนั้นค่อยเลือก level ของอินฟลูเอนเซอร์ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของตัวเอง วางแผนตั้งแต่แคมเปญนี้ต้องการสร้างอะไร เช่นสร้าง Awareness ไหม หรืออยากให้คน Consider สินค้าของเราไหม หรืออยากให้คนไปบอกต่อ จะเอา level ไหนล่ะครับ เพราะการวางแผนระยะยาวแปลว่าคุณได้ทำคอนเทนต์บ้างหรือยัง ส่วนใหญ่ลูกค้ามาบอกผมว่าต้องการแค่ “ยอดขาย” แน่นอนทุกคน หวังยอดขายหมด 

“แต่ถามว่าอินฟลูทำให้เกิดยอดขายได้ไหม บอกเลยว่าได้ แต่คุณต้องวางแผนและกลยุทธ์ดีๆ นะ เลือกให้เหมาะสมนะ และ Timing ที่ถูกต้องด้วย มีลูกค้าเจ้าหนึ่งเคยใช้อินฟลูเอนเซอร์ level 10,000-50,000 พร้อมกัน 12 คน ยอดขายมาทีเดียวและก็หายไปเลย นั่นคือการไม่ได้วางแผน เพราะการทำอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งที่ดีนั้น ต้องวางแผนและวางกลยุทธ์ด้วย ไม่ใช่แค่บอกว่าอยากจะใช้ใครนะ”

นอกจากนี้ ถ้าเจาะจงจะเลือกใช้ใครนั้น ต้องดูจากไลฟ์สไตล์ของเค้าก่อนว่าเค้าใช้สินค้าประเภทนั้นอยู่แล้วหรือเปล่า ถ้าเค้าใช้สินค้าประเภทนั้นอยู่แล้วก็ให้รีวิวไปเลย จะถนัดและทำออกมาได้ดี 

คุณนันทกาญจน์ : ระยะนี้แบรนด์จะนิยมการใช้อินฟลูเอนเซอร์แบบ Cross Catagories กันเยอะขึ้น อย่างเช่น สินค้าประเภท Gadget หากเราเลือกอินฟลูเอนเซอร์สายนี้โดยตรงภาษาที่เค้าใช้เนี่ย  ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอาจจะไม่เข้าใจกับสิ่งที่สื่อออกไป ทำให้ช่วงหลังมีการข้าม Catagories หรือแค่บอกว่าใช้แล้วดีถ่ายรูปแล้วสวยก็พอ เช่น การใช้บิวตี้บล็อกเกอร์มารีวิวกล้องถ่ายรูปบอกว่ากล้องนี้ถ่ายดียังไง ฟีเจอร์ไหนคือสวย ดังนั้น ต้องชัดเจนก่อนว่ากลยุทธ์ของคุณคืออะไร

เพราะการวางแผนที่ดี จะทำให้มีความหลากหลายในแง่คอนเทนต์ ซึ่งการใช้กลยุทธ์แบบนี้จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ควรเลือกคอนเทนต์ที่ใช้ควบคู่กันไป

อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องลงทุน

ของฟรีไม่มีในโลก หากอยากลงมือทำอะไรจริงจังก็ต้องลงทุน เช่นเดียวกันหากอยากลองฝึกมือเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องเริ่มต้นจากการซื้อสินค้าหรือบริการมาทดลองใช้งานและแสดงความจริงใจว่าของสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ยิ่งเป็นสินค้าใหม่ที่คนยังไม่เคยลอง คนยิ่งชอบ

คุณอนุพงศ์ : ถ้าเราจะเริ่มเป็นนักรีวิวก็ต้องยอม Spend อะไรบางอย่างก่อน ทีนี้ถ้าเราอยากดังและในอนาคตอาจจะได้ค่าคอมจากการเขียนดี จากการรีวิวที่มีคนติดตามเราเยอะ การสร้างตัวตนจากวันแรกให้ดังต้องใจเย็นๆ นะ อย่าเพิ่งรีบหาเงิน เขียนให้ดี ทำคอนเทนต์ให้ดีคนตามเราเยอะๆ ก่อน เดี๋ยวแบรนด์ให้เราเองแหละ

การบูสต์โพสต์จำเป็นหรือไม่

คุณอนุพงศ์ : ต้องถามก่อนว่าเราเลือกรีวิวบนแพลตฟอร์มไหน ถ้าเป็น facebook ตอนนี้ก็ห้ามเอาไปบูสต์ของแบรนด์ต้องทำคอนเทนต์ขึ้นมาเอง แต่ถ้าเรารีวิวบนบล็อกและไปแชร์ใน facebook ของแบรนด์และแบรนด์บูสต์โพสต์ ซึ่งที่แบรนด์ได้คือ awareness จากการแชร์รีวิวนั้นออกไป แต่สิ่งท่ีบล็อกเกอร์ได้คือทราฟิกที่กลับเข้ามาที่บล็อก ก็จะช่วยดัน SEO นิดๆหน่อยๆ

ดังนั้น ยอมเสียเงินเถอะครับ เพราะว่าต้องย้อนกลับไปที่กลยุทธ์แหละครับ ว่าต้องการอะไร ถ้าเราต้องการสร้าง awareness ต้องใช้คนดังอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องบูสต์โพสต์หรอก แต่ถ้าเราต้องการคอนเทนต์ที่เรียล และให้อิมแพคก็ต้องใช้จากคอนเทนต์จากคนจริงๆ คนจริงมีคนตามเท่าไหร่ล่ะ พันกว่าสองพัน ตอนนี้เห็นกี่คน แต่หลักสิบกว่าคนก็ต้องบูสต์โพสต์อยู่ดี เพื่อให้คอนเทนต์เข้าถึงผู้บริโภคอยู่ดี