ในขณะที่ซีอีโอบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายๆ แห่ง พยายามกระจายโอกาสให้ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่ก็มีงานวิจัยจาก OECD ชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของวัยรุ่นแต่ละคนนั้นก็มีผลต่อ “แนวคิด – วิธี” ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของพวกเขาด้วย
หากย้อนไปในปี 2012 ยุคที่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเริ่มขยายวงกว้าง ก็มีตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของเด็กวัยรุ่นที่มีฐานะยากจนในประเทศกลุ่มร่ำรวยเช่น กลุ่มนอร์ดิค ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ “มีอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานที่บ้าน”
ตรงกันข้ามกับประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่ำ ถึงปานกลาง เช่น ตุรกี เม็กซิโก จอร์แดน ชิลี คอสตาริกา สถานที่ที่เด็กยากจนจะมีโอกาสได้เล่นอินเทอร์เน็ตก็คือ “โรงเรียน”
แต่ทั้งหมดทั้งมวล เมื่อเด็กๆ ได้จับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต สิ่งที่พวกเขาทำกับมันนั้นก็แตกต่างกันไปตามฐานะทางสังคมด้วยเช่นกัน
โดยงานวิจัยจาก OECD พบว่า เด็กวัยรุ่นที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจดีนั้น มีแนวโน้มจะใช้อินเทอร์เน็ตในการเสิร์ชหาข้อมูล หรืออ่านข่าวต่างๆ มากกว่าใช้เพื่อการแชทหรือเล่นวิดีโอเกม
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบด้วยว่า การใช้อินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกันไปตามฐานะทางสังคมของเด็กนั้นยังสะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของเด็กๆ ด้วย
จะว่าไปแนวทางในการวัดพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านเรา ก็ยังไม่มีการแบ่งเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมกันเท่าไหร่ แม้ว่าบ้านเราจะมีปัญหาที่ประชากรยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ไม่เท่ากันค่อนข้างเยอะ
ที่มา: World Economic Forum