2 บิ๊กแบงก์ร่วมลงทุน‘Ricult’สตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีเกษตร มั่นใจช่วยเกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพ-ยกระดับคุณภาพชีวิต-ขยายโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ
Ricult Inc. (“รีคัลท์”) ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) ได้เปิดระดมเงินทุนในช่วง Pre-Series A และได้รับความสนใจจาก 2 บริษัทซึ่งเป็นธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) คือ บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ธุรกิจในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งเน้นการร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพประเภทฟินเทค โดยเงินลงทุนที่ได้รับเข้ามานี้ ทาง Ricult จะนำไปลงทุนเพื่อขยายตลาดและพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ได้หลากหลายยิ่งขึ้น
นายอุกฤษ อุณหเลขกะ Co-Founder และ CEO Ricult (Thailand) เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดระดมทุนเพื่อนำเงินมาลงทุนขยายตลาดและพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานในวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน “รีคัลท์” นับเป็นผู้บุกเบิกด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรในประเทศไทย และปากีสถาน โดยผสมผสานระหว่างความเชี่ยวชาญเชิงลึกด้านการวิเคราะห์สภาพอากาศกับเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เกษตรกรและธุรกิจด้านการเกษตรสามารถบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลตอบแทนจากการเพาะปลูก ตลอดจนเชื่อมต่อไปถึงการขายสินค้าเกษตรในตลาดออนไลน์อีกด้วย
“รีคัลท์” ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) รวมถึงใช้ AI และ Machine Learning มาช่วยประมวลผลและจัดการด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยที่มีจำนวนราว 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจการเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักของไทยที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ รวมทั้งสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายการเติบโตไปต่างประเทศได้ในอนาคต โดย “รีคัลท์” ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่ช่วยสร้างประโยชน์แก่สังคม ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและเพิ่มประสิทธิผลของการทำการเกษตรไม่น้อยกว่า 15%
“นอกเหนือจากธุรกิจ เราต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือสังคมได้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่เปรียบได้กับกระดูกสันหลังของประเทศ แต่ส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน และทำการเกษตรแบบธรรมชาติ ทำให้ไม่สามารถประเมินผลผลิตหรือปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้ แต่ด้วยการประมวลผลอย่างละเอียดและเชิงลึกของ “รีคัลท์” เกษตรกรจะสามารถประเมินความเสี่ยงต่างๆ และรับมือได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้สูงสุดถึง 9 เดือน มีการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านภาพถ่ายจากดาวเทียมแบบรายแปลง รวมทั้งแจ้งราคาผลผลิต และบริการแชทถามตอบด้านการเพาะปลูกจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ช่วยพัฒนาองค์ความรู้ในการทำเกษตรของประเทศในภาพรวมได้”
เป้าหมายสำคัญของ “รีคัลท์” คือ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้น นอกจากการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรแล้ว ยังเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมการเกษตรตลอดทั้งซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคารที่สามารถนำข้อมูลพิจารณาเพื่อให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและธุรกิจการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น กลุ่มธุรกิจประกันพืชผลหรือประกันชีวิต รวมทั้งในกลุ่มธุรกิจร้านค้าที่ขายผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ผ่านบริการด้าน Data Solutions เป็นประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันแบบองค์รวม และสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเกษตรของไทย
ปัจจุบัน “รีคัลท์” รวบรวมข้อมูลเกษตรกรชาวไทยไว้บนแพลตฟอร์มประมาณ 2 แสนราย และทั่วโลกอีกกว่า 1 แสนราย โดยคาดว่าจำนวนเกษตรกรในประเทศไทยจะเติบโตได้แตะหลักล้านราย ในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่วนทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตได้เพิ่มขึ้นรวมแล้วกว่า 4 ล้าน ราย รวมทั้งการสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายสเกลให้ไปเติบโตได้ในประเทศโดยรอบ อาทิ ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ ธุรกิจชั้นนำด้านการเกษตรหลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ด้านการเกษตร ได้ตกลงทำสัญญาใช้บริการกับ “รีคัลท์” เรียบร้อยแล้ว ซึ่งล้วนได้ผลลัพธ์เบื้องต้นไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธุรกิจลดลงได้
ความสำเร็จของ “รีคัลท์” มีส่วนสำคัญมาจากการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี (Tech Talent) ทั้งไทยและทั่วโลกมาไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างและบริหารแพลตฟอร์มที่ทันสมัยและอาศัยการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนได้ ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย
“รีคัลท์” ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 โดยผู้ประกอบการ 4 คนซึ่งจบการศึกษาจาก MIT โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ (Seed Round) จากนักลงทุนอิสระ (Angel Investor) และธุรกิจเงินร่วมลงทุนหลายราย รวมถึงได้รับเงินทุนจากมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ (Bill and Melinda Gates Foundation) ปัจจุบัน Ricult เป็นสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตและขยายตลาด (อยู่ในช่วง Pre-Series A) และคาดว่าจะระดมทุนเพิ่มเติมอีกใน ในปี 2564 (Series A)
นายกฤษณ์ พันธ์รัตนมาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มรู้จัก “รีคัลท์” ในปี 2562 ที่งาน Techsauce ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพชั้นนำที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ทั้งยังได้รับรางวัลด้านการพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้บริษัทมีความมั่นใจว่า “รีคัลท์” จะสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับสังคมไทย ไม่เพียงแต่ในด้านการเกษตรเท่านั้น แต่จะสามารถขยายไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมประกันภัย อุตสาหกรรมการเงิน เป็นต้น
นอกจากนี้การลงทุนใน “รีคัลท์” ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิตของอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศไทย และประเทศปากีสถาน แต่ยังนำไปสู่การลดช่องว่างการเข้าถึงสินเชื่อของเกษตรรายย่อยซึ่งเป็นฐานหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจ ในอนาคตฐานข้อมูล Big Data ที่ “รีคัลท์” เก็บสามารถนำไปต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆได้อีกมาก ซึ่งจะช่วยให้การทำการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีการเกษตร หรือ AgriTech กำลังมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าของภาคการเกษตรในประเทศไทยสู่การเป็นเกษตรวิถีใหม่ สร้างความเติบโตและรักษาตำแหน่งผู้นำภาคเกษตรกรรมของไทยในเวทีโลก จากการที่เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีในการคำนวณผลผลิตอย่างแม่นยำ มีระบบฐานข้อมูลที่ดีที่ช่วยคาดการณ์ผลผลิตและสภาพดินฟ้าอากาศอันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และเป็นโอกาสที่ช่วยสร้างความเติบโตให้กับเกษตรไทยทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ซึ่ง“รีคัลท์” มีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้
ขณะเดียวกัน “รีคัลท์” มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายชัดเจนในการยกระดับและพัฒนาบริการไปยังธุรกิจสินเชื่อ การสนับสนุนซัพพลายเชน และการประกันภัยพืชผล ด้วยเทคโนโลยี AI/ Machine Learning และ อัลกอริทึม อันเป็นจุดแข็งของ “รีคัลท์” จะสามารถช่วยในเรื่องการจัดทำข้อมูลเครดิต และการทำ Credit Scoring ในภาคการเกษตรของไทยในอนาคต ซึ่งนำมาสู่การเชื่อมโยงให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงระบบการเงินและแหล่งเงินทุนต่างๆ เป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การธนาคารอย่างยั่งยืนของกรุงศรี ดังนั้นการลงทุนในครั้งนี้จึงเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ผสานกันอย่างลงตัวระหว่างกรุงศรี และ “รีคัลท์” นอกจากนี้ กรุงศรียังมุ่งสนับสนุนในเรื่องของการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา ผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของ MUFG โดยหากพิจารณาในมุมของการบริหารจัดการภายในองค์กร “รีคัลท์” มีทีมที่แข็งแกร่งและมีความศักยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคเอเชีย