เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมิณตลาดฟู้ดเดลิเวอรีปี 2567 ไว้ว่า มีเทรนด์การใช้งานที่ลดลง อยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 1% จากปี 2566 การที่ตลาดนิ่งนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้คนออกมาใช้ชีวิตกันมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตกลับมาเข้ารูปเข้ารอยผู้คนก็ลดการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรีลง แต่ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งที่ติดพฤติกรรมสั่งอาหารมากินที่บ้านหรือที่ทำงาน แทนการเดินออกไปกินที่ร้าน
คุณมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เผยว่า ตั้งแต่ SCBX ประกาศปิดให้บริการโรบินฮู้ด ทำให้มีร้านค้าออกจากระบบไปบ้างและลูกค้าก็ลดการใช้งานลง แต่หลังจากเราเข้ามารับช่วงต่อ ต้องยอมรับว่ายังคงมีลูกค้าที่ติดใจและใช้บริการของโรบินฮู้ดอยู่ ทำให้เรายังสามารถเดินหน้าธุรกิจได้แบบทันที แม้ยอดผู้ใช้จะลดลง แต่โดยรวมในฝ่ายงานต่างๆ ยังทำตามปกติไม่มีการไปรบกวนหรือแทรกแซงกระบวนการทำงานอะไร
แม้ว่าการเริ่มต้นโรบินฮู้ดของทาง SCBX จะเป็นรูปแบบ CSR แต่พอมาอยู่ในบ้านของยิบอินซอย เราก็ต้องมีเรื่องของคอมเมอร์เชียลเข้ามาช่วยสร้างโอกาสและการเติบโตมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีการ subsidise เยอะมาก แต่พอเราเก็บค่า GP (Gross Profit เป็นค่าบริการระบบที่ร้านอาหารจ่ายให้กับแพลตฟอร์ม Delivery ในจำนวนหรืออัตราที่แตกต่างกันไป) ก็จะช่วยให้เรานำเงินส่วนนี้มาเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการแพลตฟอร์มให้อยู่รอด เพราะเราต้องการให้โรบินฮู้ดยังคงรักษาความเป็นแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของไทยอยู่ ซึ่งเราก็ไม่ได้เอากำไรเยอะมาก อยู่ที่ 28% ซึ่งรวมในส่วนของงบทำมาร์เก็ตติ้งแล้ว
“ก็ค่อนข้างที่จะอธิบายยากกับร้านค้านิดนึง จากแพลตฟอร์มที่ไม่เก็บค่า GP เลย แต่เราก็พยายามอธิบายให้ร้านค้าเข้าใจว่าที่ต้องเก็บเพราะเราก็อยากรักษาแพลตฟอร์มของคนไทยไว้ แต่เราก็เก็บน้อยกว่าค่ายอื่นๆ เพราะเราต้องมีทุนมาใช้ในการพยุงธุรกิจลูกให้ไปต่อได้ด้วย จะได้เกิดกลยุทธ์และแนวทางใหม่ๆ ในอนาคตได้”
นอกจากนี้ เราเพิ่งเข้ามารับช่วงต่อการจะเป็นไม้ซีกไปงัดไม้ซุงที่อยู่มานานก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้น เราจึงจับมือกับพาร์ตเนอร์หลายราย เข้ามาช่วยเสริมทัพให้แข็งแรงและทำให้ธุรกิจเดินไปได้
“การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ไม่ว่าจะเป็น Paypoint บางจาก แอร์เอเชีย อิมแพค เคทีซี ถือว่าเป็นการรวมพลังเพื่อสร้างทางรอดให้บริษัท แต่เดิมยิบอินซอยทำธุรกิจแบบบีทูบีมาตลอด การได้โรบินฮู้ดมาไว้ในมือ แม้ว่าลูกของเราจะเซ็กซี่ แต่ยังไม่ได้มีเงินหล่อเลี้ยงได้มากนัก แม่อย่างเราก็เลยต้องให้พาร์ตเนอร์ที่มีอยู่เดิมมาช่วยพยุงธุรกิจให้ไปต่อได้ก่อน เช่น แอร์เอเชียมีลูกค้าในมือ หากต้องการทำสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้าก็อาจนำส่วนลดของโรบินฮู้ดไปแจกให้แก่ลูกค้าหรือเอาคะแนนมาแลกส่วนลดในการสั่งอาหารก็ได้”
ส่วนทีมงานตอนนี้มีอยู่ 50 คนไม่รวม outsource ซึ่งยังเปิดรับคนใหม่ๆ เข้ามาช่วยขยายบริการอยู่เรื่อยๆ ส่วนบริการขั้นต่อไปของโรบินฮู้ดจากเดิมที่มี 6 ส่วน ในปีหน้าก็อาจจะมีเรื่องของ Ride เข้ามา ตอนนี้ก็มีการคุยกับพาร์ทเนอร์รถอีวีอยู่ แต่คาดว่าจะได้เห็นในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ยิบอินซอยมองว่าการรับไม้ต่อของโรบินฮูดนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่จะส่งต่อธุรกิจของคนไทยให้คนรุ่นหลัง ที่จะสามารถยืนหยัดต่อไปในอนาคตได้