นักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี แต่รายได้และการใช้จ่ายส่วนใหญ่จะบริหารจัดการโดยธุรกิจของจีนด้วยกันเอง เช่น การใช้จ่ายบนมือถือก็จะเป็น Alipay, Wechatpay ถ้าจองทัวร์หรือหาข้อมูลการท่องเที่ยวก็จะเป็น Ctrip หรือ Alitrip และรายได้เหล่านั้นก็ไหลออกนอกประเทศ แม้จะมีการใช้จ่ายภายในประเทศไทยก็ตาม แต่ด้วยการจ่ายแบบ Mobile Payment เม็ดเงินเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้าประเทศไทยอย่างแท้จริง
ชาญวิทย์ วิทยฐานกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจนโทเชีย จำกัด ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจท่องเที่ยวในไทยยังโตต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาแบบ F.I.T (Free Individual Traveler หมายถึง นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพักตามลำพัง) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนเหล่านี้ใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูลเป็นหลัก แต่กลับไม่มีธุรกิจใดในไทยสามารถดึงลูกค้าจีนมาใช้งานได้อย่างแท้จริง
รวมทั้งการกระตุ้นกิจกรรมของกระทรวงการท่องเที่ยวหนักมากก็จริง แต่ไม่มีการใช้จ่ายไหนที่เข้ากระเป๋าประเทศไทยได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าสามารถสร้าง Gateway ที่รองรับความต้องการได้ภายในแพลตฟอร์มเดียว น่าจะช่วยให้เกิดการตัดสินใจใช้จ่ายได้เร็วขึ้นรวมทั้งสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างแท้จริง
จุดเด่นของไทย นอกจากเรื่องของที่กินที่เที่ยว ก็คือเรื่องของสุขภาพ สปา ยารักษาโรคและสินค้าโอท็อป ซึ่ง RubikTrips จะดึงบริการเชิงเทคนิคการแพทย์เหล่านี้มาไว้ในระบบเพื่อเอื้อประโยชน์ด้วย แบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ Medical services, Wellness hub, Academics hub , Product hub/ products champion- Herb หากดึงธุรกิจการแพทย์มาไว้อย่างถูกต้องได้ก็น่าจะสร้าง Ecosystem ที่ชาวจีนต้องการได้อย่างครบถ้วน
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ชาวจีนชอบมาซื้อ Herb ในไทยมากทั้งยาดม ยาลม ยาหม่อง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ สินค้าทางการแพทย์หลายอย่างของไทยที่ถูกซื้อไปใช้งานและถอดสูตรไปขึ้นทะเบียนโดยชาวจีนแล้ว หากเราไม่นำสินค้าเหล่านี้มาพัฒนาและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็จะเสียโอกาสไปมหาศาล
ธีรพล อัศวธิตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเสริมว่า ระบบของ Rubiktrips จะเป็นแบบ Responsive Web รองรับ 3 ภาษา คือ จีนกลาง จีนไต้หวัน และอังกฤษ เพื่อให้สะดวกในการใช้งานและยังไม่มีแผนจะพัฒนาแอป เพราะเห็นหลายบริการทำแอปแล้วไม่เวิร์ค และตั้งใจจะเน้นการแชทมากกว่า
เพราะบริการของเราจะรองรับความต้องการที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้หวังว่าจะเป็นเบอร์ 1 ขอแค่มีการใช้จ่ายผ่านระบบของเราเพียง 1% จากมูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมดที่มี 3.6 แสนล้านบาทก็พอ
สิ่งที่น่าสนใจคือ RubikTrips มองว่า ประเทศไทยไม่ได้รับเม็ดเงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในการมาเที่ยวของคนจีน เพราะช่องทางการใช้จ่ายของคนจีนที่มารองรับลูกค้าชาวจีน ก็เป็นการเก็บเงินเข้าประเทศทำให้กลายเป็นการผูกขาด ซึ่งต้องยอมรับว่า ผู้ให้บริการในไทยเอง คงไม่สามารถสู้เม็ดเงินในการทำตลาดเท่าจีนได้
ดังนั้น การทำตลาดของ Rubiktrips ก็คือการเจาะเข้าไปในระบบแชทที่ชาวจีนคุ้นเคยอย่าง Wechat Marketing และส่งข้อมูลให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาไทยสามารถสอบถามได้แบบ Realtime จาก Learning ที่เจอคือนักท่องเที่ยวสอบถามความต้องการไปในระบบแชท และบริษัทจะส่งใบ quatation มาเป็น special request ไปให้ และเอาทริปไปรวบในเว็บ ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวแบบ F.I.T
“ส่วนใหญ่สิ่งที่นักท่องเที่ยวถามผ่านระบบของ Rubiktrips คือ มีส่วนลดที่เที่ยวไหนบ้าง เดินทางอย่างไร เปลี่ยนแผนได้ไหมและราคาเท่าไหร่”
นอกจากนี้ อีกจุดอ่อนหนึ่งที่บริการจากประเทศไทยไม่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีนคือเรื่องของภาษา ซึ่งไม่ใช่ว่าลูกค้าทุกคนจะสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ การสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นของเขาเองจะช่วยเพิ่มโอกาสใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งร้านค้าในไทยเองก็ต้องปรับตัว เช่น อาจจะมีป้ายภาษาจีนแจ้งให้ทราบ หรือมีคนที่สามารถสื่อสารได้ คอยอธิบายข้อมูลในจุดต่างๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว แน่นอนว่าผู้ให้บริการเองก็ต้องทำคู่มือเป็นภาษาท้องถิ่นตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ด้วย
ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีคนจีนมาเที่ยวเยอะขึ้นทุกปี ทำให้สินค้าและบริการเองควรเร่งปรับตัวสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะการใช้จ่ายแบบมือเติบของพวกเขาสร้างรายได้อย่างมาก แต่ปัญหาคือพวกเขามักไม่ค่อยพกเงินสดเพราะคุ้นเคยกับการใช้จ่ายแบบ Cashless Society แต่จะให้พวกเขามานั่งเปิดบัญชีเพื่อใช้งาน Wallet แบบคนไทยก็เป็นเรื่องยาก (พอๆ กับคนไทยไปเปิดบัญชี Alipay หรือ Wechat pay)
โดยภาคธุรกิจจะคิดปรับด้วยการนำเครื่องมือใช้จ่ายของคนจีนมาใช้ หรือหาช่องทางที่จะรองรับการให้บริการที่สะดวกขึ้น ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ให้บริการไม่ควรมองข้าม