หากมองดูเผินๆ ย่าน Shaji อาจจะเป็นสังคมที่ไม่แตกต่างจากชนบทย่านอื่นๆ ของจีนที่เน้นไปที่เกษตรกรรม แต่หากใครมีโอกาสได้เข้ามาสัมผัสใกล้ๆ จะพบว่าในย่านที่ประกอบไปด้วย 17 หมู่บ้านและประชากรกว่า 60,000 คนนี้มีความทันสมัยและความล้ำยุคฝังอยู่อย่างลงตัว
เกษตรกรท่านนี้กำลังป้อนข้อมูลเกี่ยวกับไข่จากฟาร์มส่วนตัวในจังหวัด Shandong เข้าสู่ระบบออนไลน์ ซึ่งข้อมูลประกอบไปด้วยสารอาหารในไข่ เช่น ไอโอดีน, วิตามินบีและดี ซึ่งระบบ e-commerce สำหรับจำหน่ายสินค้าเกษตรกรรมกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในย่านชนบทของจีน
ปัจจัยที่ทำให้ฝั่งตะวันออกของจีนเป็นที่จับตามองในเรื่องของรายได้ประชาชนที่เพิ่มขึ้นก็คือ จำนวนนักธุรกิจประเภท “Netpreneurs” หรือ “ผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างรายได้” ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง โดยปรากฏการณ์นี้จะเห็นได้จากจำนวนของชาวบ้านผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นจากไม่กี่คนเมื่อ 5 ปีก่อนจนกลายเป็นจำนวนกว่า 1,000 คนในปัจจุบัน
ในปี 2006 มีชาวบ้านน้อยคนที่รู้จักอินเทอร์เน็ต แต่ในขณะนั้น Sun Han ผู้ที่ริเริ่มค้าขายบนโลกออนไลน์ได้ขยับขยายการขายของบนอินเทอร์เน็ตของเขาให้กลายเป็นธุรกิจเต็มตัวไปเรียบร้อยแล้วบน taobao.com หรือ ebay ของจีนนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อจำนวนสินค้าและรายได้ของ Sun Han เพิ่มขึ้น เพื่อนบ้านใกล้เคียงก็ไม่รอช้า และหันมาเลียนแบบความสำเร็จของเขาบ้าง
“ตอนนี้หลายๆ คนที่เรียนรู้จากผมกลับแซงผมไปเรียบร้อยแล้ว” Sun Han ผู้ที่ลาออกจากงานประจำในสาขาของ China Mobile กล่าว ซึ่งตัวของ Sun Han เองได้เริ่มธุรกิจของเขาจากการจำหน่ายสินค้าของใช้ในบ้านและสร้างรายได้ให้ตัวเองราว 2,000 หยวน (9,200 บาท) ต่อเดือน แต่หลังจากที่เขาเองได้บินไปเยี่ยมร้าน IKEA ในสวีเดน เขาก็ค้นพบว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในรูปแบบธุรกิจของตัวเอง
“สินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้มีตลาดที่ใหญ่มาก ซึ่งถ้าเราสามารถที่จะผลิตมันได้ในหมู่บ้าน เราจะสามารถสร้างกำไรได้อย่างงดงาม” นั่นคือความคิดของเขา และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มมองหาช่างไม้เพื่อทดลองรูปแบบธุรกิจใหม่ ซึ่งรายได้ของเขาในเดือนแรกหลังการปรับเปลี่ยนถือว่าดีขึ้นกว่าเดือนก่อนๆ เล็กน้อย แต่เมื่อเขาหันมาลงทุนกับการทำการตลาดมากขึ้น เขาค้นพบว่าธุรกิจมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อผ่านไปได้ 1 ปี เขาได้ลงทุน 100,000 หยวน (ราว 460,000 บาท) เพื่อสร้างโรงงานไม้ของตัวเองเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในทุกวันนี้จะมีรถบรรทุกมาจอดที่หน้าบ้านเขาทุกเช้าเพื่อรับสินค้าไปส่งให้กับลูกค้า
Pan Xinfu นักธุรกิจในเมือง Suqian วัย 20 เศษๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เลียนแบบความสำเร็จของ Sun Han กล่าวว่า “พวกเราต่างตื่นเต้นที่ได้ทำธุรกิจโดยแค่นั่งอยู่ที่บ้านและใช้อินเทอร์เน็ต มันดีกว่าการออกจากบ้านไปทำงานในเมืองแน่ๆ” ในปัจจุบันมีร้านค้าบน taobao ที่มาจากย่าน Seqian กว่า 300 ร้าน และหนึ่งในสามจำหน่ายสินค้าประเภทงานไม้ ส่วนใน Shaji เองก็คล้ายกัน โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มาจากไม้, โลหะ, กระดาษรีไซเคิล รวมไปถึงบริการจัดส่งสินค้าและบริการออนไลน์อื่นๆ
ในปัจจุบันเฉพาะเมือง Shaji มีโรงงานเฟอร์นิเจอร์ถึงกว่า 180 แห่งและมีบริษัทขนส่งอีกกว่า 16 แห่ง โดยมียอดขายออนไลน์ถึง 100 ล้านหยวน (460 ล้านบาท) ในปี 2009 ก่อนที่จะขึ้นไปถึง 300 ล้านหยวน (1,380 บาท) ในปี 2010 ที่ผ่านมา
เมื่อธุรกิจเริ่มไปด้วยดี ทุกคนต่างหันมามองว่าจะทำอย่างไรให้ดีได้อย่างต่อเนื่อง Sun Han จึงได้เริ่มจ้างนักออกแบบเข้ามาร่วมงานและหันจากการลอกแบบสินค้าของ IKEA มาพัฒนารูปแบบสินค้าของตัวเองอย่างจริงจัง โดยในปีที่ผ่านมาเข้าได้ลงทุนกว่า 1 ล้านหยวน (4,600,000 บาท) ในการสร้างโรงงานใหม่ที่จะรองรับการผลิตหลากหลายผลิตภัณฑ์ได้ โดยในบางวัน ร้านออนไลน์ของเขาสามารถทำยอดขายได้ถึง 30,000 หยวน หรือราว 138,000 บาท
ถึงกระนั้น การออกแบบก็เป็นเพียงหนึ่งในความท้าทายสำหรับ Sun Han และชาว netpreneur รายอื่นๆ ซึ่งความท้าทายอื่นๆ ยังรออยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการโดนผู้ผลิตรายอื่นๆ ลอกเลียนแบบสินค้าหรือการหั่นราคาแข่ง ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน
สำหรับในชนบทย่านอื่นๆ e-commerce ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำหน่ายสินค้าที่มีการผลิตอยู่แล้วให้ถึงผู้ซื้อง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ในหมู่บ้าน Donggaozhuang มีกว่า 300 จาก 400 ครอบครัวขายผ้าแคชเมียร์ออนไลน์ และมีกว่า 20 ครอบครัวสามารถสร้างรายได้ต่อปีได้ถึง 1 ล้านหยวน (4,600,000 ล้านบาท) ในขณะที่รายใหญ่ที่สุดสามารถทำได้ถึง 10 ล้านหยวน (46 ล้านบาท) ต่อปี
นี่ถ้าพี่น้องชาวไทยในชนบทของเราหันมาทดลองดูบ้าง เราน่าจะเห็นเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นได้ไม่น้อยเช่นกันนะครับ อย่าลืมว่าเรามีภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์ฝีมือคุณภาพดีๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว… thumbsup ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยหันมาใช้โลกไอทีให้เกิดประโยชน์ครับ 🙂
ที่มา:?China Daily