เมื่อปลายเดือนก่อนมีโอกาสไปร่วมงาน Thailand Online Expo ที่ thumbsup มีส่วนร่วมอยู่เล็กๆ ต้องบอกว่าค่อนข้างแปลกใจกับจำนวนคนมากมายมหาศาลที่มาร่วมงาน เพราะปกติงานแนว Technology นี้ถ้านำมาจัดเป็นรูปแบบการเปิดบูธในเมืองไทยผมเห็นเจ๊งกันมาหลายรายแล้ว แต่งานนี้ประสบความสำเร็จในแง่ผู้เยี่ยมชม ก็ต้องปรบมือให้กับผู้จัดครับ… เกริ่นมาเสียยาว เรื่องที่ผมจะมาพูดคุยในวันนี้ไม่ใช่เรื่องงาน Expo หรอกครับ แต่เป็นเรื่องผลงานของผู้ที่มาเปิดบูธในงาน นั่นก็คือ NECTEC หรือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ที่เขามีผลงาน Social Sensing ที่ชื่อว่า S-Sense (อ่าน เอส-เซ้น)
S-Sense เป็นระบบวิเคราะห์ความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปหรือกลุ่มลูกค้าบน Social Media ว่าผู้บริโภครู้สึกอย่างไรต่อผลิตภัณฑ์ บริการ และยี่ห้อสินค้า โดยระบบจะรวบรวมข้อความที่ผู้บริโภคพูดคุยกันในเว็บบอร์ดอย่าง Pantip, Facebook, Twitter, YouTube ฯลฯ แล้วนำมาประมวลผลทางภาษาเพื่อแยกแยะ วิเคราะห์และแสดงผลด้วยรูปแบบกราฟที่เข้าใจได้ไม่ยาก
ส่วนตัวผมมีโอกาสได้คุยกับหัวหน้าทีมวิจัยของ S-Sense คือ ดร.อลิสา คงทน เธอบอกว่า ข้อความส่วนใหญ่บนอินเทอร์เน็ตมักจะเป็นภาษาพูด รวมทั้งมีโครงสร้างประโยคที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ภาษาไทยสักเท่าไหร่ (จุงเบย, บ่องตง, จุบุ๊ จุบุ๊, มากกกกกกก, เกรียน ฯลฯ) จึงทำให้ยากต่อการวิเคราะห์ ซึ่งนักการตลาดดิจิตอลในเมืองไทยที่ทำ Social Media Marketing หลายๆ คนคงทราบแล้วว่า tool แนวนี้มีฝรั่งเอาเข้ามาขายเมืองไทยจำนวนมาก แต่มักจะไม่เวิร์คเพราะไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทย นี่จึงเป็นโอกาสของนักพัฒนาไทยที่จะทำเครื่องมือแบบนี้ขึ้นมาแข่งขัน และวันนี้ S-Sense ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจ เพราะมันโดดเด่นกว่าเครื่องมืออื่นๆ ในเมืองไทยตอนนี้ ด้วยเหตุผล 2 ข้อ
1. วัดผล Positive-Negative ในภาษาไทยเก่งกว่าใคร S-Sense สามารถทำให้นักการตลาดดิจิตอลสามารถวัดผลด้วย Sentiment analysis ในภาษาไทยได้ ในขณะที่เครื่องมือต่างชาติ หรือของคนไทยอื่นๆ ยังทำไม่ได้ (หรือที่ทำได้ก็ยังไม่ดีเท่า S-Sense)
2. ทีมงานวิจัยเข้าใจภาษาไทยจริง S-Sense ถูกสร้างขึ้นมาด้วยทีมงานเดิมที่ทำ Search Engine ภาษาไทยอย่าง “สรรสาร” และ “อับดุล” มีประสบการณ์มากว่า 15 ปี ซึ่งเสียดายว่าตอนที่สร้างผลงานพวกนั้นออกมาไม่มีภาคเอกชนเข้าไปผลักดันให้ออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริงๆ มันเลยตายไปในที่สุด แต่คราวนี้ S-Sense มีแนวโน้มที่จะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์จริงๆ ได้ ในการกลับมาของ NECTEC คราวนี้ ดร.อลิสาบอกว่าวิธีการทำงานของทีมวิจัยก็คือ นำเอาเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) และ การทำเหมืองข้อความ (Text Mining) และการวิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึกจากข้อความ (Sentiment Analysis) มาใช้
ภาพด้านล่างนี่คือตัวอย่างของการแสดงผลคร่าวๆ
ผมคงไม่ลงรายละเอียดอะไรในเชิงคุณสมบัติของมัน แต่อยากจะทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่า S-Sense เป็นเครื่องมือที่ภาครัฐทำได้น่าสนใจ และมีโอกาสนำไปใช้ทางธุรกิจได้จริงค่อนข้างมาก แต่ยังขาดพันธมิตรที่เป็นแนวดิจิตอลเอเยนซี่เข้าไปนำเครื่องมือตัวนี้ไปนำเสนอให้นักการตลาดเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ลองใช้ดู
thumbsupers คนไหนที่สนใจก็ลองไปดูใน http://ssense.in.th/ ได้นะครับ ถ้านึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ลองเล่น http://pop.ssense.in.th/ ดูก็ได้ครับ หรือดูวิดีโอด้านล่างนี้ได้เช่นกัน