ถ้าพูดถึงสมาคมสะมาริตันส์ (Samaritans) อาจจะฟังดูไม่คุ้นหูสำหรับหลายๆ คน แต่หลักๆ แล้วสมาคมนี้จะทำหน้าที่รับโทรศัพท์จากคนที่กำลังรู้สึกท้อแท้จนอยากฆ่าตัวตาย และพยายามปลอบประโลมเกลี้ยกล่อมให้พวกเขาเปลี่ยนใจ
ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเล่าก็เพราะว่า 2-3 วันก่อนสมาคมได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “Radar” โดยร่วมมือกับ Twitter เพื่อที่จะคอยมอนิเตอร์และตรวจจับคีย์เวิร์ด เช่น “รู้สึกเกลียดตัวเอง” “อยากหายไปจากโลกนี้” “ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว” หรืออะไรประมาณนี้ในไทม์ไลน์ เผื่อว่ามีใครสักคนอาจจะกำลังคิดสั้นแล้วมาระบายในทวิตเตอร์ เป้าหมายของแอปพลิเคชั่นนี้ก็เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงคนเหล่านั้น และทวิตข้อความไปให้กำลังใจได้
เพียงเปิดตัวได้ไม่นาน ผู้คนก็ชื่นชมในความตั้งใจดีของผู้พัฒนาแอปนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย กลุ่มคนที่คัดค้านให้เหตุผลว่ามันเป็นการยุ่งกับเรื่องส่วนตัวของคนอื่นเกินขอบเขต
Radar จะทำให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์หลายๆ แอคเคาท์และหลายๆ ข้อความถูกจับตาดูโดยไม่ได้รับอนุญาต ทวิตของพวกเขาอาจจะถูกส่งไปให้กับคนอื่นๆ ถึงแม้ว่าตัวเขาเองไม่ต้องการจะสื่อสารกับคนเหล่านั้น ฟังดูคล้ายๆ กับการถูกแอบส่องทวิตเตอร์ในกรณีปกติทั่วไป แต่พอทำในนามองค์กรแล้วก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรับไม่ได้
ขอเพิ่มมุมมองของทางสมาคมเข้าไปนิดนึง โดยปกติแล้วสมาคมจะรอรับสายจากคนคิดสั้นแค่ทางเดียว ถือว่าเป็นการทำงานแบบตั้งรับ เอาเข้าจริงๆ แล้วคนอยากฆ่าตัวตายจะอยากกดเบอร์โทรไปหาสมาคมหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย ทางสมาคมก็คงคิดว่าน่าจะลองหาวิธีรับมือปัญหาในเชิงรุกดู เพราะคนสมัยนี้ชอบระบายออกทางโซเชียลมีเดีย อันนี้เป็นการคาดเดานะคะ
ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวนี้ ทำให้ผู้ใช้งานคนหนึ่งชื่อ Adrian Short เข้าไปโพสต์ใน Change.org เพื่อล่ารายชื่อรณรงค์ให้ทวิตเตอร์หยุดสนับสนุนแอปพลิเคชั่นจากองค์กรการกุศลนี้ ขณะนี้มีผู้ร่วมสนับสนุนการคัดค้านของ Adrian กว่า 1,000 คน ยังต้องการอีกประมาณ 300 รายชื่อ ณ เวลา 22.00 ของวันที่ 7 พ.ย.
สำหรับการรับมือกับกระแสตีกลับในครั้งนี้ สมาคมสะมาริตันส์ได้ออกมาชี้แจงว่าผู้ใช้งานสามารถไปลงทะเบียนเพื่อไม่ให้ทวิตเตอร์ของตัวเองถูกจับตามองได้ ซึ่งนั่นก็แปลว่าคนที่มาลงทะเบียนจะต้องมาให้ข้อมูลส่วนตัวกับองค์กรนี้อยู่ดี และคงไม่มีใครพอใจที่จะทำแบบนั้น
ขณะนี้แอปพลิเคชั่น Radar ยังคงมีให้ใช้งานอยู่ ส่วนที่แย่ที่สุดของกระแสตีกลับในครั้งนี้ก็คือมันอาจจะทำให้คนทั่วๆ ไปเกิดความคลางแคลงใจต่อองค์กรการกุศลแบบเหมารวม (ถึงแม้ว่าแอปพลิเคชั่นนี้อาจจะเกิดจากความประสงค์ดีก็เถอะ)
ถ้าตอนนี้ผู้อ่านว่างๆ อยู่ก็ลองค้นหาแฮชแท็ก #samaritansradar ในทวิตเตอร์ดูก็ได้ค่ะ จะพบว่าฝรั่งค่อนข้างจะจริงจังกับประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวกันมาก ฟีดแบ็กที่มีต่อแอปนี้กลายเป็นว่าแทนที่จะอยากทำให้คนคิดสั้นอยากเข้าหาสมาคม แต่ดันทำให้ทั้งคนคิดสั้นและไม่คิดสั้นพยายามจะหนีให้ห่าง
ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ของสมาคมสะมาริตันส์ก็คงจะเป็นการยกเลิกแอปพลิเคชั่นนี้จากทวิตเตอร์และหาทางอื่นต่อไป